เกษตรกรศรีสะเกษ แนะเทคนิคปลูกถั่วเขียว บำรุงดินหลังทำนา วิธีแสนง่าย มากประโยชน์

คุณไพฑูรย์ ฝางคำ เกษตรกรต้นแบบ กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ และเจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำนา ทำการเกษตรผสมผสานโดยได้น้อมนำเอาแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในไร่นาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้แนวคิดปลูกถั่วเขียวอินทรีย์หลังทำนา เพื่อปรับสภาพหน้าดินให้มีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง

คุณไพฑูรย์ คำฝาง

จุดเริ่มต้น คุณไพฑูรย์ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีสภาพพื้นดินของจังหวัดศรีสะเกษนั้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจากข้าว ชาวบ้านจะปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ทางกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จึงมีความคิดที่จะทำให้พื้นที่ดินดังกล่าวของชาวบ้านนั้นให้เกิดประโยชน์ รวมถึงปรับปรุงและบำรุงดินให้มีแร่ธาตุอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงลงมือปลูกถั่วเขียวแบบอินทรีย์ โดยใช้การปลูกแบบหมุนเวียน เพื่อพักและฟื้นฟูหน้าดินหลังการทำนาปี

แปลงถั่วเขียว

“ตอนที่รวมกลุ่มเกษตรกรแรกเริ่มก็มีจำนวนไม่เยอะครับ แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้ามาร่วมกลุ่มกับทางเราเพิ่มมากขึ้น มีสมาชิกทั้งหมด 106 ราย พื้นที่รวมกันก็ประมาณ 1,900 กว่าไร่ โดยสภาพพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ เดิมหลังจากที่ชาวบ้านทำนาแล้ว เขาก็จะไม่ได้ทำอะไรครับ ก็ปล่อยพื้นที่ว่างไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ทางกลุ่มเกษตรกรของเราจึงมีแนวความคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลังการทำนาที่ว่างอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรครับ รวมถึงเน้นในเรื่องปรับปรุง บำรุงดิน เพราะเราทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว เราจึงหาวิธีการในการที่จะปรับปรุง บำรุงดิน เพื่อที่จะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินครับ ซึ่งการปลูกของเราจะเริ่มหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว เพราะทางจังหวัดศรีสะเกษ ใน 1 ปี เราจะปลูกข้าว 1 ครั้ง เป็นข้าวนาปี เราก็จะเริ่มปลูกถั่วเขียวกันครับ นอกจากนั้น เราก็ส่งเสริมปลูกพืชหลายตัวครับ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ปอเทือง กระเจี๊ยบแดง และอีกหลายชนิดครับผม”

ภรรยาคุณไพฑูรย์

การปลูกถั่วเขียวหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากข้าว มีประโยชน์ ดังนี้

  1. ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ว่างเปล่า หลังการทำนา
  2. ไถกลบตอซังข้าว เพื่อปลูกถั่วเขียวบำรุงดิน

เมื่อสอบถามถึงขั้นตอนการปลูกถั่วเขียว คุณไพฑูรย์ เล่าว่า การปลูกถั่วเขียวไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องรีบปลูกหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางนาเสร็จ เพราะดินยังมีความชื้นอยู่มาก เหมาะแก่การเจริญเติบโตของถั่วเขียวได้เป็นอย่างดี

ต้นโต สวย เขียวขจี

ซึ่งการปลูกถั่วเขียวของที่นี่ จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การปลูกแบบหว่านปกติ จะใช้เมล็ดถั่วเขียวอยู่ที่ 7 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ถัดมาคือการปลูกแบบการใช้เครื่องหยอดข้าว ซึ่งวิธีนี้จะสามารถประหยัดเมล็ดถั่วเขียวกว่าการหว่านปกติได้ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ และจะได้ผลลัพธ์ทางด้านการเจริญเติบโตของถั่วเขียวได้ดีกว่าการหว่านแบบปกติ

ร่องปลูกถั่วเขียวในแปลงปลูก

“การปลูกถั่วเขียวไม่ยากครับ เพียงแต่เราต้องเริ่มปลูกในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวใหม่ๆ เพราะดินยังมีความชื้นอยู่ จากนั้นไถกลบฟางเพื่อหว่านถั่ว และใช้โรตารีเพื่อปั่นกลบเมล็ดถั่วเขียวครับ ซึ่งของเราจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี แบบแรกคือแบบหว่าน จะใช้อยู่ที่ 7 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ต่อมาอีกแบบหนึ่งเราใช้เป็นเครื่องหยอดข้าวของเราที่เรามีอยู่แล้วครับ ก็นำมาประยุกต์ ดัดแปลงเป็นเครื่องหยอดเมล็ดถั่วเขียว ซึ่งการหยอดจะมีความสม่ำเสมอในการปลูกก็จะได้ผลดี การฝังเมล็ดลงดินมีความลึกตามที่เราต้องการ การงอกก็จะดี และสามารถประหยัดเมล็ดถั่วเขียวได้ครับ ก็จะอยู่ 5-7 กิโลกรัมครับ ซึ่งจะประหยัดกว่าการหว่านปกติครับ”

ด้านวิธีการดูแลบำรุงต้นถั่วเขียวในแปลงปลูก จะใช้การปลูกแบบอินทรีย์ธรรมชาติ ไม่มีการใส่ปุ๋ยบำรุงแบบพิเศษ อาศัยเพียงความชื้นจากดินและน้ำค้างเพียงเท่านั้นในการเจริญเติบโต รวมถึงมีการฉีดพ่นน้ำหมักและสารชีวภาพทางใบเท่านั้น เพื่อให้ต้นถั่วเขียวเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง

“ปกติของเราเอง ถ้าเป็นการปลูกพืชหลังนา จะไม่มีการใส่ปุ๋ยเลยครับ เพราะว่ามันจะไม่มีน้ำ อาศัยความชื้นจากในดินและความชื้นจากน้ำค้างเท่านั้น มีการฉีดพ่นน้ำหมัก สารอาหารพืช ให้เฉพาะทางใบครับ ก็จะเป็นน้ำหมักที่เราหมักจากพวก พด.2 อย่างนี้ครับ เราก็จะใช้วัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้มาหมัก จะเป็นจำพวกผักสีเขียว ผลไม้ เพราะว่าทางกลุ่มของเราเน้นเรื่องการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เราจึงไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีครับ”

ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวจะอยู่ที่ 65-70 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปขายสู่ท้องตลาดได้นั่นเอง

คุณไพฑูรย์ เล่าว่า จากประสบการณ์การปลูกถั่วเขียว ส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่ค่อยพบโรคและแมลงรบกวน หากมีการปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“จากประสบการณที่ปลูกมาโรคแมลงจะไม่เจอปัญหาครับ ส่วนหนึ่งพอเราทำไป เราก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราปลูกถูกช่วงเวลาที่เหมาะสมของการปลูก ก็จะไม่มีโรคแมลง แต่ถ้าเราปลูกผิดช่วงเวลาก็จะเจอปัญหาเรื่องโรคแมลงครับ”

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถติดต่อสอบถาม คุณไพฑูรย์ คำฝาง เกษตรกรต้นแบบ กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 081-579-3108