‘เนื้อหมูคุณภาพ’ …ทุกขั้นตอนการผลิตต้องได้มาตรฐาน

เนื้อหมู…เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน รวมทั้งสารอาหารต่างๆ ทั้งไขมัน วิตามิน เกลือแร่ โดยปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างเร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อหมู เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคการผลิตหมูสมัยใหม่มุ่งเน้นวงจรการผลิตเนื้อหมูคุณภาพ เอาใจใส่ทุกขั้นตอน เริ่มจากการเลี้ยง การดูแลสุขภาพสัตว์ การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของปริมาณการบริโภคเนื้อหมูของคนไทยปัจจุบัน โดยเฉลี่ยยังน้อยกว่า 20 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งน่าจะเพิ่มปริมาณการบริโภคเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูได้อีกเท่าตัว ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตสุกา เกษตรกร และผู้ประกอบการ ยังสามารถขยายปริมาณการผลิตได้อีกมาก

การผลิตเนื้อหมูคุณภาพ มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกันหลายส่วนในห่วงโซ่การผลิต อันดับแรก คือ การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เลือกลักษณะที่ดีนำมาผลิตหมูลูกผสม 3 สายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดี อัตราการแลกเนื้อที่ดี คุณภาพเนื้อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และผู้บริโภคซึ่งต้องการเนื้อหมูที่มีรสชาติดี

องค์ประกอบอื่น อาทิ อาหารสัตว์ คิดเป็นต้นทุนมากถึง ร้อยละ 70 ในการผลิตหมู การใช้อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการขับถ่ายของเสีย ผู้ผลิตอาหารสัตว์ นักโภชนศาสตร์สัตว์ นำสารเสริมที่จำเป็นในการเจริญเติบโต เอนไซม์ช่วยย่อยโภชนาการของวัตถุดิบในอาหาร รวมทั้งสารเสริมกรดอะมิโน แร่ธาตุปลีกย่อยที่จำเป็นสำหรับหมูในทุกช่วงอายุที่แตกต่างกันเต็มศักยภาพของตัวหมู การจัดการเลี้ยงดู คอก โรงเรือนเลี้ยง การป้องกันสิ่งรบกวน และการอยู่อาศัยที่เหมาะสม สัตวบาล-สัตวแพทย์ ก็มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูและจัดการสุขภาพตลอดกระบวนการผลิตทั้งระบบ

เมื่อเลี้ยงขุนหมูจนอายุประมาณ 6 เดือน จะได้น้ำหนักตลาด ประมาณ 100-120 กิโลกรัม พร้อมขนส่งหมูเพื่อชำแหละและนำเนื้อหมูมาบริโภค ซึ่งโรงชำแหละแปรรูปหมูที่ได้มาตรฐานมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และกระจายอยู่ทั่วทุกภาค ก็นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญด้วยเช่นกัน

การขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทเอกชนที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี นำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ประกอบด้วย ระบบชำแหละ ตัดแต่ง และมีกำลังการผลิตสูง มีการนำระบบประกันคุณภาพควบคุมการผลิต ส่งผลให้เนื้อหมูคงคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รวมไปถึงการปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายและความปลอดภัย โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายในการใช้เลี้ยงสุกร

นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐ กรมปศุสัตว์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมทุกมิติทั้งระบบ เริ่มจากฟาร์มผลิตจนเนื้อหมูถึงผู้บริโภค การควบคุมส่วนผู้ผลิตและสินค้าให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้เช่นกัน

สำหรับผู้บริโภคแล้ว มีคำแนะนำง่ายๆ ในการเลือกเนื้อหมูเพื่อนำมาประกอบอาหาร จากการประเมินด้วยตา สีเนื้อหมูปกติจะมีสีชมพูอมเทา ผิวสัมผัสเนื้อมีความชุ่มชื้น สังเกตตราสินค้า รายละเอียดฉลาก อายุสินค้า สถานที่จำหน่าย รวมทั้งการเก็บเนื้อหมูในที่ควบคุมอุณหภูมิ ป้องกันการเสื่อมเสียของเนื้อหมูจากจุลินทรีย์ได้

นอกจากนี้ การแช่เย็นเนื้อหมู เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญในการรักษาคุณภาพเนื้อหมูให้ปลอดภัย ยกระดับมาตรฐานคุณภาพในการบริโภคของคนไทย โดยมีผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตเนื้อหมูปลอดภัยใส่ใจทุกขั้นตอนเพื่อส่งเนื้อหมูคุณภาพถึงมือผู้บริโภค

 

ขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์ประหยัด ทิราวงศ์

ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

www.cpfworlkwide.com