“อบต.พิมาน” ปลื้มผลวิจัย น้ำมันยางนา แทน “ดีเซล” ลดต้นทุนการเกษตร 100%

ในอดีตพื้นที่ ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ถือเป็นพื้นที่สีแดง เคยมีการสู้รบของอดีตกลุ่มสหาย พรรคคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เกิดความร่มเย็นสงบสุขมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานแห่งความสงบภูพานน้อย เป็นสิ่งเตือนใจให้คนไทยรู้รักสามัคคี นอกจากนี้ชาว ตำบลพิมาน ได้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิต สร้างความเข้มแข็งชุมชน โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พิมาน เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักสวนครัว ทำการเกษตร เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำไร่ ทำนา รวมถึงศึกษาทดลองเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้แบบพอเพียง

ล่าสุด บัญชา ศรีชาหลวง นายก อบต.พิมาน พร้อมคณะผู้บริหาร นำเยาวชน นักเรียน นักศึกษาตัวแทนเกษตรกร รวมถึงสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลพิมาน เพื่อศึกษาความสำเร็จเกี่ยวกับ โครงการทดลองวิจัยนำน้ำมันยางนามาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ทดแทนน้ำมันดีเซล ใช้งานสำหรับเครื่องจักรทำการเกษตร เพื่อเป็นการต่อยอดนำภูมิปัญญาชาวบ้าน บวกกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และเป็นการส่งเสริม ช่วยเหลือเกษตรกรให้ลดต้นทุนมากขึ้น

“บัญชา” บอกว่า เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทาง อบต.พิมาน ร่วมกับชุมชน ตำบลพิมาน รวม 11 หมู่บ้าน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลพิมาน ทดลองวิจัยเกี่ยวกับการนำน้ำมันยางนามาใช้เป็นพลังงานทดแทนผลิตไบโอดีเซลลดต้นทุนในการเกษตร โดยใช้พื้นที่สาธารณะและป่าชุมชน ที่ชาวบ้านเรียกว่าป่าดอนย่านาง เนื้อที่กว่า 36 ไร่ มีต้นยางนากว่า 300 ต้น ปลูกมาแต่อดีต บางต้นอายุมากกว่า 200-300 ปี มีขนาดใหญ่ความสูงกว่า 50 เมตร เป็นต้นทุนสำคัญในการทดลอง ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 ปี นำเจ้าหน้าที่มาศึกษาวิจัย ค้นคว้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับภูมิปัญญาชาวบ้านจนประสบความสำเร็จ สามารถนำน้ำมันยางนามาเป็นพลังงานทดแทนกับเครื่องจักรกลการเกษตร รถไถนาเดินตามได้จริง

“ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถศึกษานำไปทำเองได้เลย เป็นการลดต้นทุนได้เท่าตัว เริ่มจากการนำน้ำมันยางนามาผสมในอัตราส่วน 50% กับน้ำมันดีเซล เพื่อทำการทดลองใช้งานจริง และมีการลดปริมาณน้ำมันดีเซลลงตามอัตราส่วน จนกระทั่งสามารถใช้น้ำมันยางนาทดแทนน้ำมันได้ 100% ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกร พร้อมได้นำร่องทำแปลงนาต้นแบบ เพื่อนำเครื่องจักรรถไถนาเดินตาม ใช้น้ำมันยางนา ลดต้นทุนทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้มาศึกษาเรียนรู้ นำไปขยายผล ใช้ในการลดต้นทุน เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต”

นายก อบต.พิมาน บอกด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการวางแผนขยายพันธุ์เพาะต้นกล้ายางนา ไปแจกจ่ายให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพื่อใช้เป็นต้นทุนการผลิตพลังงานทดแทนในระยะยาว สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า ชดเชยการถูกทำลาย สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ธรรมชาติอีกด้วย

ด้าน ไพโรจน์ วงศ์หนายโกฏ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านพิมาน ในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลพิมาน เสริมว่า จากการร่วมศึกษาและวิจัยค้นคว้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าต้นยางนาสามารถเริ่มเจาะน้ำมันได้ เมื่อต้นยางนามีอายุ 15-20 ปี ส่วนวิธีการถือว่าไม่ยุ่งยาก เพราะผ่านการทดลองมาแล้ว เริ่มจากการนำสว่านไฟฟ้า ใช้ดอกสว่านประมาณ 5 หุน เจาะลงไปในเนื้อต้นยางนา ห่างจากพื้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ความลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร จากนั้นใช้ขวดพลาสติกที่ต่อเป็นจุกสายยางประดิษฐ์ขึ้นเอง นำสายยางไปเสียบเข้ากับรูที่เจาะในต้นยางนา แล้วนำดินน้ำมันปิดกันรั่ว ให้น้ำมันยางนาไหลลงขวด ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะได้น้ำมันยางนาเต็มขวด ปริมาณ 500-600 มิลลิลิตร แล้วแต่ต้นหรือจุดที่เจาะว่ามีน้ำมันมากน้อย สามารถเจาะได้หลายจุด เมื่อได้นำมันยางนาแล้วสามารถย้ายไปเจาะจุดอื่นได้ ส่วนจุดเดิมจะนำกิ่งยางนามาตอกเข้าไป เพื่อสมานแผลจะคืนสภาพเป็นเนื้อไม้โดยธรรมชาติ ไม่เป็นการทำลายต้นยางนาด้วย

“ไพโรจน์” ระบุว่า หลังได้น้ำมันจะสังเกตว่ามีบางส่วนลอยขึ้นเป็นน้ำมันยางนา 100% สีคล้ายน้ำมันดีเซล สามารถนำไปเติมเครื่องจักรกล รถไถนาเดินตามได้เลย สามารถผสมอัตราส่วนได้แบบ 50 ต่อ 50 กับน้ำมันดีเซล หรือสามารถเติมน้ำมันยางนาได้ 100% เลย แต่ต้องเริ่มสตาร์ตด้วยน้ำมันดีเซล อีกส่วนจะตกตะกอนสีขาวก้นขวด สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ต้องผสมกับน้ำมันดีเซลแล้วนำไปเติม ที่ผ่านมากว่า 2 ปี มีการทดลองใช้งานจริงกับเครื่องจักรกลรถไถนาเดินตามรอบเบา ไม่มีปัญหา กำลังไม่ตก ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนได้ดีมาก จากปกติน้ำมันดีเซล ปริมาณ 1 ลิตร สามารถทำงานได้ 1 ชั่วโมง แต่เมื่อเติมพลังงานทดแทนน้ำมันยางนาปริมาณเท่ากัน แต่ทำงานได้ 3 ชั่วโมง ลดต้นทุนการผลิตได้ดีมาก ปัจจุบันกำลังต่อยอดให้เกษตรกรนำไปใช้กับรถไถนาเดินตามเครื่องสูบน้ำ

“ในอนาคตจะมีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการเร่งขยายพันธุ์ วางแผนขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระยะยาว โดยสิ่งที่ได้ไม่เพียงพลังงานทดแทน แต่จะได้ธรรมชาติป่าไม้กลับคืนมา เกิดความอุดมสมบูรณ์ควบคู่กัน ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก สามารถนำไปทดลองผลิตใช้ได้เลย”

สำหรับเกษตรกรผู้สนใจสามารถศึกษาเยี่ยมชมได้ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และศูนย์วิจัยน้ำมันยางนา อบต.พิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม โทร. (081) 729-4334

 

ขอบคุณข้อมูลจาก พัฒนพงษ์ ศรีเพียชัย

ภาพจาก : http://www.77jowo.com