ผีเสื้อราตรี ค่ำคืน เริงโลกีย์กับผีเสื้อราตรี แต่ต้นผีเสื้อราตรี หุบใบ

ชื่อวิทยาศาสตร์         Oxalis triangularis A.

ชื่อสามัญ                  Indian park

ชื่อวงศ์                     OXALIDACEAE

ชื่ออื่นๆ                     ปีกผีเสื้อ อ๊อกซาลิส

ในโลกธรรมชาติ ชื่อของ “ผีเสื้อ” คือสัญลักษณ์ของความสวยงามอ่อนโยน เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ แต่ในโลกยามราตรีชื่อของดิฉัน ถูกนำไปสร้างความหมาย “เชิงพิศวาส” เริงราตรี สังคมตราหน้าเป็น “ผู้หญิงกลางคืน” จึงต้อง “แกร่ง” พอที่จะอยู่กับสังคมนี้ให้ได้ ดิฉันจึงขอแทนตัวเองว่า “เดี๊ยน” นะคะ เพื่อจะได้ดูเป็นตัวเองมากขึ้น

เดี๊ยนคิดว่า มีอยู่ 3 คำที่เกี่ยวข้องกับเดี๊ยน คือคำว่า “ผีเสื้อ-นางผีเสื้อราตรี-และต้นผีเสื้อราตรี” ที่อยากจะกล่าวถึง แน่นอนว่า “ผีเสื้อ” คือสัตว์ตัวน้อยปีกบอบบาง ช่วยเติมแต่งให้ “โลกสวย” มีชีวิตบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่นั้นๆ มีวงจรชีวิตสั้น เจริญเติบโตเป็นระยะ จาก ไข่-หนอน-ดักแด้-ตัวเต็มวัย แล้วเป็นผีเสื้อที่เราเห็นอยู่นี้ ตัวเมียผสมกับตัวผู้เพียงครั้งเดียว แต่ตัวผู้ผสมกับตัวเมียได้หลายตัว เห็นมั้ยคะเรื่องนี้ก็ขัดแย้งกับความหมายลึกๆ กับคำว่า “ผีเสื้อราตรี” แล้ว เมื่อตัวเมียวางไข่บนใบไม้หรือลำต้นพืชอาหาร ภายใน 2 สัปดาห์ พัฒนาการตามระยะการเจริญเติบโต จากหนอน เป็นดักแด้ ก็จะมีผีเสื้อแสนสวยออกมาประดับโลก กล่าวกันว่าหนอนผีเสื้อที่น่าเกลียดที่สุด จะเป็นผีเสื้อสุดสวยที่สุดเช่นกัน เสียดายที่วงจรชีวิตมีเพียงวงรอบประมาณ 1 เดือน

Advertisement

เดี๊ยนภูมิใจแทนผีเสื้อทุกตัว ที่โบยบินอิสระ มีคนชื่นชม มีบทเพลงมาเปรียบความงามนั้นมากมาย อย่างเช่นบทเพลงที่ คุณชรัส เฟื่องอารมณ์ เปรียบไว้ตอนหนึ่งว่า “แสงแดดยามสายสาย งามพร่างพรายต้องสายธาร ฉาบทองเมื่อมองแสนตระการ ผีเสื้อสุขสราญนะเจ้าเอย ท้องฟ้าสีอำพัน ผีเสื้อสุขสันต์มากเหลือ เจ้าไม่คิดไม่ต้องหวังดอกไม้ยังกูลเกื้อ แสงแดดจุนเจือชีวี อยากเป็นผีเสื้อตัวน้อยบินล่องลอยเสรี สีสันดุจอัญมณี สุขใดหรือจะมีเช่นผีเสื้อ” ยังมีบทเพลงที่ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เขียนคำร้องไว้ตอนหนึ่งว่า “เหล่าผีเสื้อแสนงามยามเช้า คลอเคล้าลัดดา ลอยเล่นลมเร้าตา เริงสุขพานิยม บ้างลงไล้ต่ายตอมน้อมโน้ม สุขสมดมผกา” และบรรทัดสุดท้ายเขียนไว้ว่า “สุขแต่เช้าเช่นนี้ทุกวัน ชื่นชมสัมพันธ์ ผีเสื้อแสนงาม”

Advertisement

ได้เห็นความงามของผีเสื้อน่ารักน่าชัง มีคนขับร้องเพลงอื่นๆ อีกมากมาย ประหนึ่งว่าผีเสื้อขยับตัวสยายปีกเล่นลมแต่เช้ายันเย็น หากแต่เป็นเวลายามราตรี กลายเป็น “นางกลางคืน” ที่ถูกเรียกว่า “ผีเสื้อราตรี” มีความแตกต่างจากผีเสื้อตัวน้อยโดยสิ้นเชิง เพราะถูกนำไปใช้เรียก “ผู้หญิง” ที่มีอาชีพให้บริการเริงอารมณ์สราญในสถานบันเทิงเวลากลางคืน และแน่นอนก็ต้อง “โบยบิน” ไปกับราตรีอันยาวนาน ประดับแสงสียามทิวาลับล่วง สยายปีกกางแขนโอบล้อมพร้อมเคียงคู่กับเหล่าภมรผู้ผึ้ง เป็นสีสันให้ราตรีนั้นทอแสงพิศวาสประกายดั่งคืนเพ็ญ

สำหรับ “ผีเสื้อราตรี” อย่างเดี๊ยนที่ต้องขยับปีกด้วยใบยามต้องสายลมตอนกลางวัน กลายเป็นสงบเสงี่ยมเจียมตนตอนกลางคืน เพราะเมื่อเริ่มราตรีปีกใบผีเสื้อราตรี ก็จะ “หุบใบ” นิ่งเป็นคืนที่สงบด้วยสีแห่งม่วงคลาสสิก เจียมตนอย่างรู้ว่าตัวเองไม่มีลำต้นโผล่พ้นดิน เพราะที่เห็นนั้นเป็นก้านใบไม่เกินเซนติเมตร ชูใบสีม่วงเข้มแกมเขียว ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหากรวมตัวกันเป็นแนววงกลม โดยใบจะหันมุมเป็นเหลี่ยมมาชนกัน มีสีม่วงชมพูเข้ม เมื่อโดนแรงลมพัดก็เหมือนผีเสื้อขยับปีก

หากอยู่ในกระถางเป็นพุ่มก็เหมือนผีเสื้อหลายตัวเกาะอยู่ แต่จริงๆ คือทรงพุ่มเตี้ยๆ นั่นเอง ในช่วงของการออกดอกก็มีก้านดอกออกจากก้านลำต้นเป็นดอกเดี่ยว สีชมพู-ม่วงอ่อน มีสีขาวแซมกลาง มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นดอกประเภทสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้ 5-6 ตัว เดี๊ยนได้รับความนิยมมากในยุโรป แต่มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล ถูกจัดเป็นไม้ล้มลุกที่อยู่ได้นานเพราะเป็นประเภทมีหัว กลม ยาวเรียวสีออกน้ำตาล มีถึง 2 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์สีม่วงที่นิยมมากโดยเฉพาะประเทศไทย อีกสายพันธุ์เป็นสีเขียว ซึ่งก็จะหาดูได้ไม่มากนัก เดี๊ยนสงสัยตัวเองเช่นกัน ที่บางแห่งว่าเดี๊ยนเป็น false shamrock บ้างก็ว่าเดี๊ยนเป็น Love Plant เดี๊ยนให้ความหมายตัวเองว่าเป็นไม้แสนสวยน่ารัก จะถูกหรือผิดไม่ทราบ แล้วยังพูดว่า Spread the Love อีก? เดี๊ยนกระจายความน่ารักมากไปหรือนี่ อ้อ…! แล้วที่ว่า Purple shamrock เดี๊ยนก็ไม่เข้าใจ เพียงรู้ว่าปีกใบสีม่วงดูเหมือนผีเสื้อเวลากลางวันขยับปีก ยามราตรีเดี๊ยนก็ “หุบใบ”

ความพิเศษในตัวเดี๊ยน นอกจากจะเติมบรรยากาศสดชื่นทางสายตา มีชีวิตชีวากับบ้านเรือนแล้ว ยังมีคนนำใบไปรับประทานได้นะ ใช้เป็นผักสดหรือปรุงสุกก็ได้รสชาติเปรี้ยวแก้เลี่ยน แต่เดี๊ยนบอกไว้ก่อนว่าอย่ารับประทานมากเกิน เพราะนักวิชาการจัดเดี๊ยนเป็น Oxallis purpurea เรียกว่ามีกรดอ๊อกซาลิส (Oxalis) ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเกาต์ หรือกลุ่มโรคปวดข้อ แต่มีประโยชน์ด้านอื่น คือสิ่งที่มากับใบสีม่วงเข้ม เป็นสารแอนโทไซยานินสูง รงควัตถุในพืชชนิดนี้มีประโยชน์กับร่างกายเป็นสารต้านอนุมูลอิสระดีต่อสุขภาพที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้

ที่ยุโรปจึงนิยมนำใบเป็นส่วนประกอบของผักสลัด จะขยายพันธุ์เดี๊ยนก็เพียงแยกหน่อโดยแบ่งหัวที่เป็นแง่ง แล้วบิออกจากปล้องนำไปปลูกในกระถาง รดน้ำชุ่ม แสงรำไร 3-5 วัน ก็เห็นใบเล็กๆ แทงยอดออกมาแล้ว หากต้องการดอกเยอะก็เด็ดยอดเมื่อสูงไม่เกินคืบ เดี๊ยนมาจากบราซิลจึงชินอากาศร้อนเมืองไทย แต่อย่าร้อนจัดนักไม่ชอบให้รดน้ำแฉะเกิน ขอดินร่วนไม่ชอบดินเหนียว อ้อ…! เวลารดน้ำอย่า “สาด” ใส่ก้านใบจะหักหมด ที่สำคัญเดี๊ยนมีช่วงพัก ปีละ 2-3 ครั้ง ใบเริ่มเฉาเพราะเป็นไม้หัวหยุดรดน้ำนะ ใบเหี่ยวไม่ต้องเด็ดทิ้ง รอเวลาไม่เกินเดือนเดี๊ยนก็ฟื้นขึ้นมากระพือปีกใบเล่นลมเองจ้า

จริงๆ แล้วเดี๊ยนน่าจะได้รับสมญาว่า “ผีเสื้อกลางวัน” เพราะกลางวันได้กางใบรับลมเหมือนผีเสื้อขยับปีก เต็มพุ่มกระถางวางไว้ตามระเบียงบ้าน หน้าต่าง ซ้อนจินตนาการกับผีเสื้อตัวจริง ที่นักแต่งเพลง นักร้องจะต้องขับขานไว้มากมายเช่นลองตามหาผีเสื้อ จากบทเพลง ที่ “นรีกระจ่าง คันธมาส” ขับร้องไว้ แล้วจะได้พิสูจน์ว่า ถ้าหากจับกล้องถ่ายภาพขึ้นมามอง ก่อนกดชัตเตอร์ พิสูจน์จินตนาการระหว่าง ผีเสื้อตัวจริง กับ “ผีเสื้อราตรี” ที่กระพือปีกใบด้วยแรงลม เพื่อบันทึก “ผ่านเลนส์กล้อง” ตัดสินได้ไหมว่า จะ Love Plant หรือ Love Butterfly ภาพไหน ดีหนอ