เลี้ยงแกะปล่อยไล่ทุ่ง ช่วยประหยัดต้นทุน มีผลกำไรต่อการเลี้ยงสูง

คุณรินทร์นภัทร กนกชัชวาล หรือ คุณกานต์ เกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตรจากพื้นไร่ มาแบ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงแกะ เพราะมองว่าแกะค่อนข้างที่จะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงและกินง่าย โดยที่เธอไม่ต้องเหนื่อยจากการดูแลมากนัก เมื่อเทียบกับการทำเกษตรด้านอื่นๆ จึงทำให้การเลี้ยงแกะนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังสร้างความสุขให้กับเธอเมื่อได้เห็นความน่ารักของแกะที่เลี้ยงในทุกๆ วัน

คุณรินทร์นภัทร กนกชัชวาล หรือ คุณกานต์

คุณกานต์ เล่าถึงการทำเกษตรให้ฟังว่า เน้นการปลูกพืชไร่เป็นหลัก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้ปัญหาในเรื่องของน้ำในพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย เวลาที่ผลผลิตออกมาจึงได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย พร้อมทั้งต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขายสินค้าทางการเกษตรแต่ละครั้งแทบจะไม่เหลือกำไร หรือบางช่วงขาดทุนเลยก็มี

พื้นที่ปล่อยแทะเล็มหญ้า

“พอหลังจากที่เรามองเห็นปัญหาของการทำพืชไร่ ก็เลยคุยกันกับแฟนว่าจะทำอะไรต่อดี ที่น่าจะมีรายได้ตอบโจทย์ ด้วยความที่แฟนสนใจในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ จึงได้ทดลองซื้อแกะมาเลี้ยง สิ่งที่เห็นได้ชัดเลย แกะใช้ทุนเลี้ยงไม่เยอะ น่าจะพอทำได้ ช่วงแรกซื้อแม่พันธุ์มาประมาณ 10 ตัว เลี้ยงไปเลี้ยงมาก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้การเลี้ยงแกะก็ถือว่าดี ให้ลูกได้ถึงปีละ 2 ครั้ง จึงถือว่าน่าลงทุนและให้ผลตอบแทนไว” คุณกานต์ บอก

บริเวณคอกสำหรับแม่แกะคลอดลูก

การจัดพื้นที่ให้แกะนอน คุณกานต์ บอกว่า การทำโรงเรือนทำแบบยกพื้นสูง ส่วนภายในจะมีการแยกคอกสำหรับให้แกะที่คลอดลูกได้อยู่เป็นสัดส่วนชัดเจน หากให้อยู่ในพื้นที่รวมกันกับตัวอื่นๆ อาจเหยียบลูกแกะให้ได้รับความบาดเจ็บ

พื้นที่โรงเรือนนอน

การผสมพันธุ์แกะจะมีแกะพ่อพันธุ์อยู่ 2 ตัว เพื่อผสมกับแม่พันธุ์ทั้งหมดภายในฟาร์ม โดยจะต้องระวังในเรื่องของเลือดชิดด้วย หลังจากแม่แกะตั้งท้องได้ 5 เดือน เมื่อคลอดลูกออกมาแล้วช่วงแรกจะให้ลูกอยู่ในคอกกับแม่ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจึงปล่อยออกเดินตามทุ่งหญ้ากับฝูงได้

โรงเรือนนอนทำแบบง่ายๆ ประหยัดต้นทุน

“เวลาปล่อยให้แกะออกไปกินหญ้า ก็จะเป็นช่วง 09.00-11.00 น. หลังจากนั้นก็จะให้เข้ามานอนพักในโรงเรือน พอก่อนเย็นก็จะปล่อยไปอีกช่วงหนึ่ง เป็นช่วง 15.00-18.00 น. การเลี้ยงจะเน้นให้แกะไปเล็มหญ้าตามทุ่งของเราเอง จึงทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยจากการดูแลมาก แกะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ไม่ซน ส่วนช่วงเวลาที่เข้ามานอนในโรงเรือน เราก็จะมีตัดหญ้ามาไว้ให้เขากินบ้าง แต่หลักๆ แล้วก็จะเน้นเลี้ยงให้ออกไปหาหญ้าในทุ่งของเราเอง”

การดูแลรักษาโรคและการทำวัคซีนให้กับแกะภายในฟาร์ม คุณกานต์ บอกว่า เมื่อมีการเลี้ยงจะไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ไว้ จึงทำให้ในเรื่องของการทำวัคซีนและการดูแลป้องกันโรค จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำให้ตามแผนที่กำหนด ช่วยให้แกะทั้งหมดทุกตัวมีสุขภาพที่ดีและไม่มีอาการเจ็บป่วยจนตาย ส่วนในเรื่องความสะอาดของโรงเรือน ต้องเก็บกวาดทำความสะอาดทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของโรคภายในบริเวณที่แกะนอน

แกะกินหญ้าที่ตัดมาเสริมให้

สำหรับการทำตลาดเพื่อขายแกะนั้น ตั้งแต่ที่เธอเลี้ยงมาจะมีพ่อค้าเข้ามาติดต่อซื้ออยู่เป็นประจำ จึงทำให้เธอมั่นใจว่าตลาดยังไปได้เรื่อยๆ เพราะตั้งแต่เลี้ยงมาเข้าสู่ปีที่ 4 จำนวนแกะที่มีอยู่ภายในฟาร์มยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าเสียด้วยซ้ำ โดยการขายจะเน้นขายตัวผู้ออกจากฟาร์ม ส่วนตัวเมียจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนต่อไป

แกะตัวผู้อายุ 3-4 เดือน หลังหย่านมน้ำหนักไม่เกิน 30 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 110-120 บาท และแกะที่มีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 90-100 บาท โดยการขายแต่ละครั้งเมื่อเห็นว่าแกะมีจำนวนที่มากพอ จะโทร.ให้พ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงฟาร์ม

“การเลี้ยงแกะถือว่าดีมาก มันลงทุนครั้งเดียว เพราะในเรื่องของอาหารก็ไม่มีต้นทุนอะไรมาก เพราะเราปล่อยให้กินหญ้าจากทุ่งที่เราปลูกเอง เมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆ อาหารน่าจะต้องลงทุนเยอะกว่า แกะเลี้ยงจนตั้งท้องใช้เวลาแค่ 3-4 เดือน ก็ตั้งท้องให้ผลตอบแทนแล้ว ตอนนี้ยิ่งเลี้ยงก็ยิ่งรู้สึกหลงรัก ในความที่แกะไม่ใช่สัตว์ที่ซนหรือสร้างความเดือดร้อน จึงมองว่าเพลินดีที่ได้อยู่กับเขาในทุกๆ วัน”

ท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงแกะสร้างรายได้ คุณกานต์ แนะว่า อย่างน้อยต้องมีพื้นที่ให้แกะได้เดินเล่น ไม่ต้องมาก แต่ต้องให้ได้เดินเล่นบ้างในแต่ละวัน ส่วนพื้นที่โรงเรือนนอนต่างๆ ก็ทำแบบเรียบง่าย ไม่ต้องลงทุนเยอะก็จะช่วยให้การเลี้ยงแกะมีผลกำไร สามารถเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างแน่นอน

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณรินทร์นภัทร กนกชัชวาล หรือ คุณกานต์ ฟาร์มตั้งอยู่ เลขที่ 84 หมู่ที่ 1 บ้านโนนเมือง ตำบลโนนเมือง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา หมายเลขโทรศัพท์ 095-286-2711

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ.2566