“เรืองชัย วัจนสาร” ต้นแบบ เกษตรผสมผสาน-พัฒนาชุมชน

คุณเรืองชัย วัจนสาร อายุ 69 ปี ข้าราชการวัยเกษียณ ดำเนินชีวิตบนแนวคิด “เป็นครูตลอดชีวิต-จิตอาสา” โดยใช้ที่ดินทำกิน 15 ไร่ของตัวเอง เปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ในชื่อ “เกษตรผสมผสานบ้านห้วยทรายทอง” เปิดโอกาสให้มีเกษตรกร ประชาชนที่สนใจ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเยี่ยมชมงานได้ตลอดทั้งปี

แหล่งเรียนรู้ “เกษตรผสมผสานบ้านห้วยทรายทอง” 

จับมือภาคีเครือข่าย ทำงานเพื่อสังคม

ที่ผ่านมา ครูเรืองชัยจับมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช กศน.ตำบลทุ่งใส กศน.อำเภอสิชล สำนักงาน กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กับร่วมจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้และร่วมจัดการเรียนการสอน แนะแนว บริการข่าวสาร ระบบฐานข้อมูลด้านแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ มีความพร้อมในการเผยแพร่ความรู้ด้านการทำการเกษตร การเลี้ยงโคขุน การเลี้ยงปลาน้ำจืด การปลูกปาล์มน้ำมัน การปลูกหญ้าเนเปียร์ และการทำพืชหมักอาหารสัตว์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจมาเรียนรู้ศึกษาดูงาน

ครูเรืองชัย วัจนสาร

ครูเรืองชัยชักชวนกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนที่ว่างงานเข้ามาทำงานในแหล่งเรียนรู้ โดยรับจ้างเก็บผัก รับจ้างกั้นอวนล้อมรอบบ่อปลาเพื่อป้องกันสัตว์ที่จะมากินปลาในบ่อที่เลี้ยงไว้ โดยครูเรืองชัยอบรมให้ความรู้และสอนวิถีความเป็นอยู่ตามบริบทของสภาพแวดล้อมในชุมชน และสอนให้เห็นความสำคัญถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การทำการเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ทำให้กลุ่มวัยรุ่นมีความรู้ มีรายได้ให้กับครอบครัว ไม่มั่วสุมกับยาเสพติด ส่งผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนา เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนใกล้เคียง และประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้

ผู้บริหารมูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ เยี่ยมชมกิจการโคเนื้อ 

จุดเรียนรู้ “บ้านห้วยทรายทอง”

ภายในแหล่งเรียนรู้ “เกษตรผสมผสานบ้านห้วยทรายทอง” ประกอบด้วย

การปลูกผักสวนครัว บริเวณรอบบ้านปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษมากมาย ทั้งพริกขี้หนู โหระพา มะเขือ มะละกอ ถั่วพู ปลูกดอกดาวเรืองบริเวณแปลงผักเพื่อไล่แมลงศัตรูพืช พืชผักเหล่านี้ มีแม่ค้ารับซื้อผลผลิตทุกวัน

Advertisement

การเลี้ยงโคขุน มีการเลี้ยงโคโดยปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่องบริเวณรอบๆ พื้นที่ เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงโค ครูเรืองชัยเป็นแกนนำวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์ผู้เลี้ยงโคตำบลทุ่งใส และเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่แพะและโคเนื้อ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การดูแลของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอสิชล

จุดเรียนรู้ทำปุ๋ยหมัก

การปลูกดูแลสวนปาล์มน้ำมัน ครูเรืองชัยใช้ปุ๋ยคอกจากมูลวัวในการบำรุงต้นปาล์ม เมื่อมีการเปลี่ยนน้ำในบ่อปลา น้ำที่เปลี่ยนทิ้งก็นำมารดต้นปาล์มกับผักสวนครัวบริเวณรอบบ่อปลา ทำให้ต้นปาล์มเจริญเติบโตออกผลผลิตอย่างเต็มที่

Advertisement

การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ครูเรืองชัยนำผัก ผลไม้ หรือเศษอาหารเหลือทิ้ง 1 ส่วน + กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน ผสมเข้าด้วยกันทิ้งไว้ 7 วันจนน้ำหมักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้ มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว ก็นำไปใช้งานได้ แต่หากน้ำหมักมีสีน้ำตาลอ่อนและกลิ่นบูดแสดงว่าใส่น้ำตาลไม่พอ ต้องเพิ่มปริมาณกากน้ำตาลลงไปอีก กลิ่นบูดจะค่อยๆ หายไป หมักต่อไปเรื่อยๆ ครูเรืองชัยตวงน้ำหมักใส่ขวดหรือภาชนะเก็บบริเวณที่มืดในห้อง อุณหภูมิปกติ สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี นำมาใช้ปลูกผักสวนครัวและสวนปาล์มน้ำมัน

การเลี้ยงปลาน้ำจืด ครูเรืองชัยเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม และปลาดุกในบ่อดิน โดยมีการจัดระบบน้ำอย่างดี พร้อมดูแลป้องกันการเกิดโรค ที่นี่ให้อาหารปลาแบบอาหารเม็ด ฟางหมัก และใช้เปลือกผลไม้สีเหลือง เช่น เปลือกมะละกอ เปลือกทุเรียน เป็นอาหารเลี้ยงปลา

ครูเรืองชัยแนะนำการเลี้ยงปลากินพืชแบบลดต้นทุนโดยใช้ฟางข้าวและหญ้าหมัก เป็นอาหารเลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งบ่ออนุบาลและบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ซึ่งเทคนิคนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศจีน อินเดีย ฯลฯ เพราะการทำฟางและหญ้าหมักทำให้เกิดอาหารตามธรรมชาติหลายชนิดในบ่อเลี้ยงปลา เช่น โรติเฟอร์ ไรแดง หนอนแดง และแบคทีเรีย นอกจากนี้ ฟางข้าวมีธาตุอาหารประเภทโปรตีน 3.44% ไขมัน 1.88% เยื่อใย 37.48% ปริมาณเถ้า 12.30% ฟอสฟอรัส (P2O5) 0.11% เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาจึงช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำในการเลี้ยงปลา

บ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด

ครูเรืองชัยได้เรียนรู้วิธีทำฟางและหญ้าหมัก จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครศรีธรรมราช ซึ่งวิธีการทำไม่ยุ่งยากอะไร สำหรับบ่ออนุบาลลูกปลา เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาสลิด ฯลฯ สำหรับการทำฟางหรือหญ้าหมัก เริ่มจากตากบ่อ โรยปูนขาวก่อน จึงค่อยนำฟางข้าว หญ้าสดหรือแห้งใส่ร่วมกับปุ๋ยมูลสัตว์ชนิดต่างๆ ในอัตรา 100-120 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือนของมูลสัตว์แห้ง เป็นมูลไก่หรือมูลวัวก็ได้ และฟางแห้งต่อปุ๋ยมูลสัตว์เท่ากับ 1 : 1 หากใช้หญ้าสดควรใส่ปูนขาวผสมลงไปด้วยสักเล็กน้อย หลังจากนั้น ใส่ฟางแห้งสลับกับมูลสัตว์เป็นชั้นๆ ที่มุมบ่อเลี้ยงปลาทั้ง 4 ด้านหรือเป็นกองๆ รอบบ่อเลี้ยงปลาและใส่น้ำลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 2-3 วัน เมื่อน้ำในบ่อเปลี่ยนเป็นสีชาจึงเพิ่มระดับน้ำลงไปเป็น 50-60 เซนติเมตร รอไปอีก 3-5 วัน จึงนำลูกปลามาปล่อยลงบ่อ

กรณีบ่อเลี้ยงปลาขุน ระหว่างการเลี้ยงปลาสามารถใส่ฟางหมักและปุ๋ยได้เดือนละครั้ง ในปริมาณ 100-120 กิโลกรัมต่อไร่ วิธีนี้ช่วยให้มีอาหารตามธรรมชาติ เช่น โรติเฟอร์ ไรแดง หนอนแดง ฯลฯ ให้ปลาที่เลี้ยงในบ่อมีอาหารธรรมชาติอย่างเพียงพอ กรณีเลี้ยงปลาเบญจพรรณ ประเภทปลานิล ปลาจีน ปลาตะเพียน ปลาสวาย ฯลฯ เกษตรกรควรให้อาหารปลาสำเร็จรูปหรืออาหารเสริมหรือพืชสด ร่วมกับการให้ฟางหมักแบบวันเว้นวัน ช่วยให้ปลาเติบโตดี

โปสเตอร์แสดงวิสัยทัศน์การทำงานของครูเรืองชัย

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาดูงานเกษตรผสมผสานบ้านห้วยทรายทอง ได้เห็นสภาพจริงของการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การบริหารจัดการพื้นที่และน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หากใครสนใจศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ “เกษตรผสมผสานบ้านห้วยทรายทอง” ติดต่อ ครูเรืองชัย วัจนสาร ได้ที่บ้านเลขที่ 134/3 หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เบอร์โทร. 082-288-0179

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก กศน.ตำบลทุ่งใส กศน.อำเภอสิชล มูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช