“1 ไร่ 1 แสน” เมืองนนท์ โอกาสรอดเกษตรกรยุคใหม่

ความเคยชินในอดีต คือ อุปสรรคสำคัญของเกษตรกรไทย ที่ไม่ว่าจะลงทุนทำการเกษตรเท่าไหร่ กลับมีหนี้สินรุงรังตามมาเท่านั้น รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างแรงงาน และรายจ่ายรายทางอีกมาก แล้วจะมีหนทางไหนบรรเทาทุกข์ ช่วยลดปลดหนี้ไปได้บ้าง

วันนี้หลายคนพูดถึงโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพราะเป็นโครงการหนึ่งที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วหลายราย เพราะหลักการเบื้องต้นของโครงการ คือ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มเรื่องราวของสินค้า และการสร้างความยั่งยืนโดยโครงการนี้จะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ให้ได้ประโยชน์และประสิทธิภาพมากที่สุด ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยการส่งเสริมการผลิตแบบผสมผสานลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการทำการเกษตร โดยดำเนินการผ่าน 3 วิชา ได้แก่ ด้านกสิกรรม คือ ปลูกข้าว ผักสวนครัว พืชไร่ ไม้ผล ด้านปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ด ไก่ และด้านประมง เลี้ยงปลา กบ หอย กุ้ง ปู เป็นต้น โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ คันนาปลูกพืชผักสวนครัว ร่องน้ำสำหรับทำการประมง พื้นที่ปลูกข้าว และพื้นที่เลี้ยงเป็ด

จังหวัดนนทบุรีเป็นอีกจังหวัดที่ยังมีเรือกสวนไร่นาอุดมสมบูรณ์อยู่มาก จังหวัดได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการดังกล่าว จึงร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี และหอการค้าจังหวัดนนทบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่วิถีนนท์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิต การตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนภาคการเกษตร ซึ่งปี 2560 จัดอบรมทั้งหมด 6 รุ่น รุ่นละ 100 คน โดยรุ่นที่ 1 อบรมระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2560 รุ่นที่ 2 วันที่ 22-24 มิถุนายน 2560 รุ่นที่ 3 วันที่ 26-28 มิถุนายน 2560 รุ่นที่ 4 วันที่ 29 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2560 รุ่นที่ 5 วันที่ 3-5 กรกฎาคม 2560 และรุ่นที่ 6 วันที่ 12-14 กรกฎาคม 2560 ที่โครงการ 1 ไร่ 1 แสน พื้นที่แปลงนาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

“กลินท์ สารสิน” ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งจังหวัดนนทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี และหอการค้าจังหวัดนนทบุรี โดยโครงการนี้เริ่มต้นจากโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ซึ่งริเริ่มเมื่อปี 2553 โดย “ดุสิต นนทะนาคร” อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เกษตรกรจะได้รวยขึ้น ขณะเดียวกันคนที่มาเรียนรู้สามารถนำเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นด้วย ซึ่งเป็นหน้าที่ที่หอการค้าทุกคนต้องช่วยกัน

“การเกษตรจะเป็นส่วนในการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว เมื่อปลูกพืชหลาย ๆ อย่าง คนก็อยากจะมาดู มาศึกษา ถือเป็นการท่องเที่ยวได้ด้วย ในอนาคตอาจจะสามารถทำเป็นจุดเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญทำอย่างไรให้เกษตรกรคำนึงถึงว่า เมื่อปลูกแล้วมีตลาดหรือไม่ ขายใคร ได้ราคาเท่าไหร่ ต้องดูด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หอการค้าทุกจังหวัดสามารถช่วยได้” ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยกล่าว

ด้าน “สุธี ทองแย้ม” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า หลายคนพูดว่าจังหวัดนนทบุรีเหมือนกับกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน ยังไม่นับรวมประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ ดังนั้นวิสัยทัศน์ของจังหวัดนนทบุรีจึงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเป็นที่อยู่อาศัยของคนทุกระดับ มีการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งเกษตรกรที่ทำการเกษตรหลายพันไร่ ทั้งพืชไร่ นาข้าว พืชสวน ซึ่งนับวันก็จะยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากความเจริญเข้ามา มีหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมากจังหวัดนนทบุรีจึงพยายามอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้ไว้ โดยการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมทุกแบบ เพื่อให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“เสถียร ทองสวัสดิ์” วิทยากรประจำโครงการ 1 ไร่ 1 แสน กล่าวว่า โครงการ 1 ไร่ 1 แสน จะบริหารจัดการพื้นที่เป็น 30 : 30 : 30 : 10 โดยเป็นพื้นที่กสิกรรม พื้นที่ปลูกข้าว แหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัยและแหล่งปศุสัตว์ โดยเกษตรกรที่จะมาทำต้องมีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือ 1.ต้องเป็นคนกล้าเปลี่ยน 2.ศึกษาพื้นที่ที่จะใช้ว่าเหมาะกับพืชอะไร 3.องค์ความรู้ที่จะไปบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้มีอยู่มีกิน 4.บุคคล หน่วยงาน องค์กรในการส่งเสริม ซึ่งเกษตรกรจังหวัดนนทบุรีนับว่าโชคดีที่มีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมสนับสนุน ทั้งนี้เกษตรกรเองจะมีต้นทุน 7 อย่าง ได้แก่ ทุนเวลา ทุนแรงงาน ทุนองค์ความรู้ ทุนปัญญา ทุนนวัตกรรม ทุนสังคม และทุนเงิน

“เกษตรกรจะต้องเปลี่ยนจากการปลูกพืชหรือนาข้าวด้วยการใช้ปุ๋ยเคมี ที่เมื่อใช้มาก ๆ จะทำให้ไม่สามารถปลูกชนิดอื่น ๆ ได้ มาเป็นการเกษตรโดยใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติในท้องที่ ที่เรียกว่าสรรพสิ่ง หรือการง้วนดิน รวมถึงการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก เช่น ปกติพื้นที่การเพาะปลูกข้าว จะต้องใช้พันธุ์ข้าว 25 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ในโครงการ

1 ไร่ 1 แสน จะคัดเลือกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีเท่านั้น ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในการเพาะปลูกเพียง 200 กรัมเท่านั้น การเลี้ยงปลาในร่องน้ำไว้บริโภคและจำหน่าย การเลี้ยงหอยไว้ป้องกันศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากหลายส่วน ทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้”

ขอเพียงความกล้าที่จะเปลี่ยน และศึกษาค้นคว้าให้แตกฉาน เชื่อมั่นว่าเกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน