“ซันสวีท” ผนึก “กศน.” ดีไซน์หลักสูตรปลูกข้าวโพดหวาน

ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการทำเกษตรกรรมกันค่อนข้างมาก เพียงแต่องค์ความรู้ในการทำการเกษตรอาจมีไม่เพียงพอ หรืออาจยังไม่เข้าใจรูปแบบของการทำการเกษตรแบบสมัยใหม่จึงทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดีพอ หรือไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง, ข้าวโพดหวานแช่แข็ง, ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์ KC-King of Corn จึงร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ อันเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานซันสวีท

ทั้งยังมีอาณาบริเวณเพาะปลูกข้าวโพดหวานแถบภาคเหนือตอนบนกว่า 20,000 ไร่ จึงทำให้ “ดร.องอาจ กิตติคุณชัย” ประธานบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด มองเห็นว่าหากเรามีการดีไซน์หลักสูตรการปลูกข้าวโพดหวานร่วมกับทาง กศน.ในการให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกของตัวเอง และเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

“ที่เรียนในระดับ ม.3 และ ม.6 ก็น่าจะทำให้พวกเขาเหล่านี้มีองค์ความรู้ในการทำเกษตรสมัยใหม่มากขึ้น เพราะบริษัทก่อตั้งโครงการ Smart Farm มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเกษตรกร เราจึงเชื่อว่ามีความพร้อมที่จะต่อยอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปให้เกษตรกรของเรา และเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียนกับ กศน. ทั้งนั้นเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเข้าใจในการปลูกข้าวโพดหวานที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย”

“เพราะปกติระบบการเรียนของ กศน.เขาจะเรียนวิชาพื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้ว ที่สำคัญ กศน.มีศูนย์กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะเรียนวิชาการในท้องถิ่นของตัวเอง แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือการดีไซน์หลักสูตรเพื่อเป็นวิชาเลือกให้แก่เกษตรกร ผ่านมามีวิชาเลือกที่เรียนเกี่ยวกับการปลูกหอมหัวใหญ่ การปลูกข้าว การปลูกลำไย แต่ของเราเรียนเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดหวาน ก็เลยเสนอทางเลือกนี้ให้แก่ผู้เรียน”

“เมื่อไม่นานเราเพิ่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับทาง กศน.เพื่อเปิดรับสมัครนักเรียนรุ่นแรกประมาณ 35 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้อยู่ในเขตพื้นที่ของเราอยู่แล้ว ดังนั้น พอเราดีไซน์หลักสูตรขึ้น จึงเป็นการยกระดับเกษตรกร พร้อมกับผลิตบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อมาช่วยพัฒนาการปลูกข้าวโพดหวาน ที่ไม่เพียงเขาจะได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ยังได้เห็นการจัดการระบบน้ำ, การให้ปุ๋ย, การวัดอุณหภูมิ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ขนส่ง เพื่อที่เขาจะได้นำความรู้นี้ไปใช้ต่อไป”

“ดร.องอาจ” บอกว่าระบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดหวานไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มขึ้น หากยังทำให้เขาได้วิทยฐานะในระดับวุฒิ ม.3 และวุฒิ ม.6 อีกทางหนึ่งด้วย

“ตรงนี้ไม่เพียงจะช่วยต่อยอดพวกเขาในเรื่องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรีต่อไป ยังทำให้เขามีโอกาสที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดสำหรับอนาคตต่อไปได้อีกด้วย เพราะทางบริษัทเรากำหนดบุคลากรที่จะมาช่วยให้ความรู้ประมาณ 20-30 คน พร้อม ๆ กันนั้น เรามีการผสมผสานกับเกษตรกรในชุมชนอีกประมาณ 200-300 คน มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ ช่วยดูแล และควบคุมในการดำเนินงานอีก”

“ดังนั้น ตลอด 1 ปีที่เขาต้องมาเรียนการฝึกหัดการปฏิบัติงานจริงกับเราที่โรงงาน ผมจึงเชื่อแน่ว่าเขาจะต้องมีความรู้ในการปลูกข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเรากันพื้นที่สำหรับเรียนรู้การทำการเกษตรเฉพาะด้านนี้ทั้งหมด 25 ไร่ เขาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อนำกลับไปทำ Smart Farm ได้เลย”

“ออมสิน บุญวงศ์” ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า จริง ๆ ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้อง

“เพราะความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต เนื่องจากการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีทักษะ และความเข้าใจถึงกระบวนการเพาะปลูก และนวัตกรรมต่าง ๆ มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และไม่ใช่แต่เพียงข้าวโพดหวานเท่านั้น หากยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปยังผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ได้อีกด้วย”

“สำคัญไปกว่านั้น ยังเป็นการเปิดโอกาส และประสบการณ์ให้กับนักเรียน กศน.ที่ปกติพวกเขาขาดโอกาสในการศึกษาอยู่แล้ว แต่เมื่อพวกเขาเรียนวิชาเหล่านี้เป็นวิชาเลือก จึงทำให้เขาพลอยมีอาชีพติดตัวไปด้วย เพราะบริษัทเปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมทำ Contract Farming อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อพวกเขามีความรู้ ความเข้าใจในการปลูกข้าวโพดหวานอย่างถูกวิธี เขาก็จะมีรายได้อย่างแน่นอน”

ที่ไม่เพียงจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น หากยังทำให้นักเรียน กศน.มีโอกาสปรับวิทยฐานะ เพื่อนำพาตัวเองก้าวไปสู่โลกการศึกษาต่อไปในอนาคตอีกด้วย