ทางรอด..ชาวนาไทย 4.0 เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส มองตลาดให้เป็น

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย จัดประชุมเวที  TRF Forum เรื่อง “การแก้ปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืน : สหกรณ์และนวัตกรรมคือทางออก”  ณ โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า ฉะเชิงเทรา

เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องข้าวอย่างยั่งยืน ผ่านมุมมองประสบการณ์ตรงจากเกษตรกร     นักธุรกิจและนักวิชาการ อันเป็นการถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยสู่ภาคนโยบาย จ.ฉะเชิงเทรา

นายกิตติพันธุ์ โรจนาชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานเปิดงาน  กล่าวว่า ฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ประมาณ 78 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดในจังหวัดทั้งใน อ.ราชสาส์น และ อ.บางคล้า  ขณะเดียวกันก็มีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมจากการขยายเขตอุตสากรรมจากกรุงเทพมหานคร  การผลิตข้าวใน จ.ฉะเชิงเทรา  ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แบกรับภาระด้านหนี้สิน เกษตรจังหวัดและอำเภอจึงเร่งดำเนินงานตามมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโยลีเรื่องเมล็ดพันธุ์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ 4 อำเภอ 5,000 ไร่ ให้กับจำนวนเกษตรกรกว่า 600 ราย แต่ยังคงต้องดำเนินการพัฒนาและแก้ปัญหาของชาวนาให้เกิดอย่างยั่งยืน  การจัดงานวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า มีความพยายามในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยลงมาสู่พื้นที่ สู่ประชาชน ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนอกเหนือจากประโยชน์ในเชิงวิชาการ ให้กับภาคนโยบายทั้งระดับจังหวัดแลระดับท้องถิ่น

นายอดุลย์ โคลนพันธุ์ ผู้แทนจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ กล่าวถึงการวิจัยในมุมมองของชาวนาอย่างตนว่า การวิจัยทำให้ปรับเปลี่ยนมุมมองการทำนา คือมอง “ปัญหา”เป็น “โอกาส”  โจทย์สำคัญของการทำนามากกว่าการปลูกคือ ต้องมองเรื่องการตลาด คือปลูกข้าวแล้วเราจะขายให้ใคร? ทำอย่างไรจะมีคนซื้อข้าวเรา? โดยเราแบ่งกลุ่มลูกค้าข้าวในประเทศเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ตลาดล่าง ลูกค้าที่เป็นกลุ่มแรงงาน สนใจสินค้าราคาถูก เน้นปริมาณ 2.ตลาดกลาง ลูกค้าคนทั่วไปที่สามารถซื้อข้าวได้ในราคาปานกลางและยอมรับในคุณภาพข้าวปานกลาง 3.ตลาดสูง ลูกค้าที่ต้องการบริโภคข้าวคุณภาพสูง เกรดพรีเมี่ยม ไม่เกี่ยงเรื่องราคา ปัจจุบันเครือข่าววิสาหกิจของเราประกอบด้วย 21 วิสาหกิจชุมชน   มีสมาชิก 3,500 ราย ผลิตข้าวได้ประมาณ 1,500 ตัน/ปี บนพื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ เคล็ดลับในการพาวิสาหกิชุมชนให้อยู่รอดคือต้องรู้ว่าเราจะขายให้ใคร มีการกระจายความเสี่ยงโดยการหาลูกค้า       หลายๆที่ ปัจจุบันข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ ส่งข้าว “ขายตรง” ไปในแหล่งที่รับซื้อประจำทั้งในส่วนของสถานที่จัดประชุม โรงแรม ร้านอาหาร และตลาดส่งออก ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะไปถึงตลาดส่งออกได้คือการทำมาตรฐานทั้งในส่วนของ ตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM และตรามาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU)

ด้านนายอรุษนวราช  เจ้าของ รร.สามพรานริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวให้ได้อย่างยั่งยืนว่า ต้องให้เกษตรกร หรือ กลุ่มเกษตรกรลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้ พึ่งพากันเองในกลุ่มได้ และเกษตรกรต้องสวมหมวกขอนักธุรกิจด้วย เมื่อก่อนชาวนาต้องพึ่งพาสารเคมี ต้นทุนสูง สุขภาพแย่ กำหนดราคาเองไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับโรงสี แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์  ทำปัจจัยการผลิตทำเอ ง ดูเรื่องช่องทางการขายเอง  ขายสินค้าโดยตรงกับลูกค้าทุกระดับที่วางไว้ จึงตั้งราคาเองได้ ทำให้พวกเขาไม่ต้องพึ่งโรงสี ไม่ต้องพึ่งภาครัฐในเรื่องของการประกันราคาข้าว โจทย์ใหญ่ที่ทำให้เกษตรหันมาพึ่งพาตัวเอง จึงเป็นโจทย์ที่ไม่จำเพาะเจาะจงแก้ปัญหาเรื่อง “ข้าว” เท่านั้น แต่เป็นโจทย์สำคัญของเกษตรกรกว่า 20 ล้านคนในประเทศ  ทั้งนี้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ นับเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินงานสอดคล้องกับหลักคิดที่พัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาคเกษตรต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming  เกษตรกรต้องมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและมีบทบาทเป็นผู้ประกอบการ

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ภายในงานเสวนาดังกล่าวยังมีการบรรยายจาก ผศ.ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร รองหัวหน้าภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ที่ร่วมให้ข้อมูลเรื่อง “เครื่องต้นแบบสกัดน้ำมันรำข้าวและข้อจำกัดทางนโยบาย” และรศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผอ.สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บรรยายเรื่อง “โอกาสและความท้าทายของการรวมกลุ่ม/สหกรณ์ และข้อเสอนแนะเชิงนโยบาย”