ปลูกผักไทยในเยอรมนี

คอลัมน์เกษตรในเมืองเคยเขียนเรื่องราวเกษตรเฉพาะที่ในเมืองไทย สวนผักหน้าบ้าน หลังบ้าน ข้างบ้าง บนดาดฟ้าบ้าง บนคอนโดฯ บ้าง แต่คราวนี้มีโอกาสโกอินเตอร์ โดยพาท่านไปถึงประเทศเยอรมนี  เราจะมาดูกันว่าผักต่างๆ ของไทยสามารถปลูกได้ที่ต่างแดนหรือไม่ และวิธีการปลูกของเขาทำอย่างไร เหมือนกับเกษตรในเมืองของเราหรือไม่

บ้านแสนรัก

คุณสารนี สละ หรือ พี่ตุ๊ก เป็นสาวแกร่งแห่งเมืองระยอง ตอนอายุ 28 ปีในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) คิดฝันอยากไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เยอรมนี จึงเดินทางมาเยอรมนีกับเพื่อนของแม่ เพื่อหางานทำ จนกระทั่งเดินทางมาถึง ก็รู้ว่าการทำงานในเยอรมนียากมากเพราะได้วีซ่าเข้าเยอรมนีเป็นประเภทท่องเที่ยว นายจ้างก็จะไม่รับทำงานเนื่องจากบทลงโทษทางกฎหมายค่อนข้างรุนแรง ตอนนั้นได้มีโอกาสพบกับหนุ่มใหญ่ชาวเยอรมัน ชื่อ คุณฟรันซ์ ซาฮา อายุ 48 ปี เป็นหนุ่มโสด ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของโรงงานทำเครื่องทำน้ำร้อนแห่งหนึ่งในเมืองวินเดิ้นแบก ซึ่งประทับใจชาวเอเชียโดยเฉพาะคนไทย

บ้านคนรักผัก
โหระพาต่างแดน

ตอนนั้นคุณฟรั้นซ์คิดจะมีครอบครัวเนื่องจากได้รับมรดกบ้านหลังหนึ่งของคุณปู่ และได้ทำการตกแต่งปรับปรุงใหม่ และคุณฟรั้นซ์ได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในเมืองชนบทที่ไม่ใหญ่นัก เมื่อได้รู้จักกันแล้วก็ได้ไปเยี่ยมบ้านคุณฟรั้นซ์ คุณตุ๊กได้พบเห็นบ้านที่มีต้นไม้ ดอกไม้ เป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับความคิดในตอนนั้น ซึ่งคุณตุ๊กชอบแบบนี้มาก และในความรู้สึกต่อคุณฟรั้นซ์คือผู้ใหญ่ใจดี ที่จะเป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่นในอนาคต  ต่อมาคุณตุ๊กก็ได้กลับเมืองไทยเพื่อทำเอกสารและวีซ่าให้ถูกต้อง การแต่งงานของเยอรมนีจะต้องตรวจสอบว่ามีการจะทะเบียนสมรสกับผู้อื่นอยู่หรือไม่ก่อน เจ้าหน้าที่ถึงจะรับจดทะเบียนสมรส เมื่อคุณตุ๊กทำเอกสารเสร็จก็จะได้กลับมาเยอรมนีเพื่อแต่งงานในอีกปีถัดไป

พริก ของที่ขาดไม่ได้
ชีวิตขาดเผ็ดไม่ได้

จากการที่คุณฟรั้นซ์เป็นพนักงานในโรงงาน จึงต้องไปทำงานในวันจันทร์ถึงศุกร์ คุณตุ๊กก็เป็นแม่บ้าน ตอนแรกในการสื่อสารก็ค่อนข้างลำบากเนื่องจากคนเยอรมันไม่พูดภาษาอังกฤษ คุณตุ๊กพยายามเรียนรู้ภาษาเยอรมันหลายช่องทาง เริ่มต้นก็ใช้ภาษามือก็พอสื่อสารกันเข้าใจ ด้วยมีอุปนิสัยอยากรู้อยากเห็นจึงตั้งใจฝึกภาษาเยอรมันโดยเริ่มแรกจากอุปกรณ์ที่ใช้ในครัว ถามและได้ท่องจำเอาไว้

มะเขือยาวเขียว ทำอาหารได้หลายอย่าง
กะเพราสดๆ ที่เยอรมนี

หลังจากนั้นไม่นานคุณตุ๊กก็มีลูกชายสองคนให้คุณฟรั้นซ์ ปัจจุบัน อายุ 23 ปี และ 22 ปี อยู่ที่เยอรมนีนานๆ คุณตุ๊กคิดถึงอาหารที่เมืองไทย ได้นำเมล็ดพันธุ์ผักไทยมาจำนวนหนึ่งคือ ผักคะน้าและกวางตุ้ง มาทดลองปลูกดู ผักทั้งสองขึ้นได้ตามปกติ ซึ่งคุณตุ๊กดีใจมากที่มีผักของไทยทาน ทำให้มีกำลังใจในการปลูกผักอื่นๆ ต่อไป

ผักบุ้งงามมาก
ลุงฟรั้นซ์ขี่มอเตอร์ไซค์นำผักแจกเพื่อนๆ

ปลูกได้ปีละแค่ 7 เดือน

เยอรมนีมี 4 ฤดู คือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ฤดูใบไม้ผลิ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ฤดูร้อน เริ่มจากเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ฤดูใบไม้ร่วง เริ่มจากเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ฤดูที่เริ่มปลูกผักจะเริ่มในฤดูใบไม้ผลิคือเดือนเมษายน จะเริ่มปลูกผักรวมเวลาได้ 7 เดือนในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ถึงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนฤดูหนาวจะมีเวลา 5 เดือนและมีหิมะตก ไม่สามารถปลูกผักได้เลย

ทำเป็นบล็อกๆ ดูสะอาดตา
ผักไทยๆ ทั้งนั้น

หลังจากสามารถปลูกคะน้ากับกวางตุ้งได้ ผักไทยๆ ก็มากันเพียบ เช่น พริก ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับคนไทย กะเพรา โหระพา แมงลัก สะระแหน่ มะเขือเขียว มะเขือม่วง มะระ น้ำเต้า ฟัก ฟักทอง ผักกาดขาว บร็อกโคลี กะหล่ำหัว กระหล่ำดอก กวางตุ้งฮ่องเต้ การปลูกและการเก็บผลผลิตจะต้องมีการวางแผนไว้เป็นอย่างดีเพราะในช่วงอากาศหนาวผักจะไม่เจริญเติบโต ในช่วงฤดูหนาว 5 เดือน คุณฟรั้นซ์จะกลับหน้าดินของแปลงปลูกทั้งหมดเพื่อพักดิน ช่วงนี้จะใช้หญ้าที่ตัดจากสวนมาโรยในแปลงเพื่อให้หญ้าย่อยสลายเป็นอาหารของพืชต่อ ดินที่กลับจะถูกพรวนให้ละเอียดและกลับบนล่าง ใส่มูลไก่ที่มีในสวนของบ้านเพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจากการเตรียมดินในช่วง 5 เดือนนี้เมื่อถึงฤดูปลูกคือสิ้นสุดฤดูหนาว ก็จะนำกล้ามาปลูกเลยในระหว่างที่ผักเจริญเติบโตจะไม่มีการใส่ปุ๋ยอีก เพราะตอนเตรียมดินคุณฟรั้นซ์ได้ปรุงดินไว้เป็นอย่างดีให้เหมาะสมกับการปลูกผักแล้ว

ผักสลัด อากาศหนาวยิ่งงาม

วิธีปลูกผักใบก็คล้ายๆ บ้านเราคือ เตรียมดินละเอียดที่หาซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปมารวมกับดินที่สวนที่มี ทำให้ดินละเอียดโดยการร่อน นำมาใส่กระบะเพาะ รดน้ำให้ชุ่มแล้วหว่านเมล็ดผักลงไป นำไปไว้ในส่วนอนุบาลเนื่องจากผักยังไม่แข็งแรง ประมาณ 5-7 วัน เมื่อต้นเริ่มงอกและโตขึ้นก็ใช้มีดปลายแหลมงัดดินขึ้นเพื่อให้ต้นผักเผยอขึ้นเหมือนที่บ้านเราใช้ไม้เสียบลูกชิ้น นำมาลงปลูกในถาดหลุม โดยใช้ดินเหมือนกับที่เพาะกล้า ในการปลูกในถาดพยายามทะนุถนอมไม่ให้ลำต้นช้ำและรากขาด โดยการจับที่ใบเพราะถ้าใบขาดยังไม่เป็นไร แต่ถ้ารากหรือลำต้นเสียหาย ผักจะตายไม่เจริญเติบโตต่ออีก ใช้เวลาประมาณ 15 วัน ผักก็โตพอที่จะเอาลงดิน ซึ่งที่เยอรมนีไม่จำเป็นต้องพรางแสงเพราะอุณหภูมิอยู่ประมาณ 16-22 องศา ยกเว้นในฤดูหนาว

อาหารที่ขาดบ่ ได้
ต้มเปรอะกะคือกัน

ส่วนพริกเป็นพืชที่ขาดไม่ได้เลย ก็จะปลูกในภาชนะที่เป็นถังขนาดใหญ่พอสมควร เมื่อได้ผลผลิตก็จะนำไปแช่แข็ง โดยการปลิดขั้วพริกทิ้ง ล้างให้สะอาดผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วใส่ถุงฟรีซแข็งไว้ในตู้เย็นไว้ใช้ในช่วงที่ไม่สามารถปลูกพริกได้ เวลาใช้พริกแช่แข็งก็จะเอาออกมาแช่น้ำก็จะได้พริกสดเหมือนเดิม ส่วนผักอื่นๆ บางอย่างต้องหั่นเป็นชิ้นๆ เพื่อสะดวกในการเก็บแช่แข็งหรือหั่นเป็นขนาดสำหรับใช้เลย บางอย่างเก็บทั้งต้น และบางอย่างต้องต้มให้สุกก่อนเก็บ

ส้มตำประยุกต์
เพื่อนๆ จากเมืองไทยมาสังสรรค์กันบ่อยๆ

เนื่องจากที่เยอรมนีมีอากาศหนาวถึง 5 เดือน ทำให้คุณตุ๊กต้องเก็บผักแช่แข็งเอาไว้ทานในฤดูที่ปลูกผักไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีตู้เย็นขนาดใหญ่ 2 ตู้สำหรับแช่แข็งอาหาร ไม่ว่าผักหรือจะเป็นเนื้อสัตว์ โดยการซื้อหมูของบ้านนี้จะซื้อทีละครึ่งตัวประมาณ 70-80 กิโลกรัม โดยทางร้านจะแยกเนื้อเป็นชิ้นๆ เช่น สันใน สันนอก ขาหมู สเต๊ก ใส่ถุงอย่างดี นำมาแช่ไว้ในตู้แช่แข็งเพื่อเป็นการถนอมอาหารสำหรับฤดูหนาว คุณตุ๊ก บอกว่า ผักที่แช่แข็งจะทานเหมือนๆ กับผักสด แต่พริกขี้หนูกลิ่นจะลดลงเล็กน้อย

อ่อมสักหม้อ

ผักที่ปลูกได้ทางบ้านนี้ไม่มีนโยบายนำไปจำหน่าย ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือนของตัวเองแล้ว ยังแจกจ่ายทั้งเพื่อนของคุณฟรั้นซ์และเพื่อนคนไทยที่ไปมีสามีเยอรมันของคุณตุ๊กที่มักจะมาสังสรรค์ที่บ้านอยู่เสมอ แต่เป็นที่น่าเสียดายคุณฟรั้นซ์ไม่นิยมทานอาหารไทย ส่วนที่เป็นผักที่ปลูกข้างบ้านคุณฟรั้นซ์ทานแต่สลัดผักเท่านั้น แต่ก็รับหน้าที่ทำแปลง เตรียมดิน และรดน้ำอย่างแข็งขัน ไม่ว่าคุณตุ๊กจะปลูกผักอะไร คุณฟรั้นซ์จะคอยดูและเอาใจใส่ตลอด

พี่ตุ๊ก สาวงามเมืองระยอง

ปัจจุบันนอกจากเป็นแม่บ้านในครอบครัวแล้ว คุณตุ๊กยังไปรับทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้านอีกด้วย โดยทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งไม่เต็มเวลานัก ด้วยมีภาระต้องดูแลบ้านด้วย การทำงานจะต้องทำอาหารให้กับผู้สูงอายุทานด้วยจึงทำให้คุณตุ๊กเชี่ยวชาญในการทำอาหารเยอรมัน ส่วนอาหารไทยจะทำทานเองและสำหรับลูกชายสองคน ส่วนเพื่อนคนไทยที่มาเยี่ยมเยือนจะขาดอาหารที่คุณตุ๊กทำไม่ได้

ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโลก จากความเป็นคนไทย เราจะคุ้นชินกับอาหารดั้งเดิมและขวนขวายหาวัตถุดิบของไทยมาปรุงอาหารทานอยู่เป็นนิจ ในพื้นที่ไม่มากนักของบ้านก็สามารถเนรมิตพืชสวนครัวขนาดย่อมสำหรับใช้ในครอบครัวได้ เพราะฉะนั้นอย่าเอ่ยอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ สามารถเยี่ยมชมสวนได้ที่เฟซบุ๊ก พี่ตุ๊กเยอรมนีนี่ กลุ่มความสุขในสวนหลังบ้าน