ชาวสวนลิ้นจี่ สมุทรสงคราม ยิ้มออก วว. โชว์นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต และคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อมนอกฤดู

วว. โชว์นวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อมนอกฤดูกาล พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดสมุทรสงคราม

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผู้แทนจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศนก. และ ดร.สรวิศ แจ่มจำรูญ นักวิจัย ศนก. พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ติดตามผลการดำเนิน โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.

ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนโดยสภาพัฒน์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการลงทุนของเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป พร้อมกระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ

ดร.ชุติมา กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ณ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วว. นำนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ ผ่านการดำเนินงาน “การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อม” จำนวน 7 พื้นที่ จำนวนกว่า 200 ต้น ตัวอย่างเช่น แปลงสาธิตที่ 1 ณ สวนนายบุญมา นวมสุคนธ์ และแปลงสาธิตที่ 2 ณ สวนลิ้นจี่ 200 ปี เป็นต้น ทำให้มีผลผลิตที่ดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ด้วยนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพโดย วว. ซึ่งมีจุดเด่นคือ สามารถทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าลิ้นจี่ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมของต้น ทำให้ราคาจำหน่ายลิ้นจี่สูงกว่าเพราะออกก่อน และให้ปริมาณผลผลิตมากกว่าเพราะเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ลดการหลุดร่วงเพราะออกผลผลิตก่อน ช่วยเลี่ยงฝนหลงฤดูที่เป็นสาเหตุทำให้ดอกและผลร่วง นอกจากนี้ การให้ฮอร์โมนแปลงเพศจะทำให้ติดผลมากกว่า และการให้ฮอร์โมนขยายขนาดผลจะทำให้ผลโต เกรดและคุณภาพดี จำหน่ายได้ราคาสูงกว่า

ดร.กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส ศนก.

ดร.กุศล กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อม มีจุดเริ่มต้นจากที่ทางทีมนักวิจัยได้เล็งเห็นถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี จะส่งผลทำให้พืชพรรณผลไม้ที่ต้องอาศัยช่วงอากาศเย็นในการติดดอกออกผลได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลิ้นจี่ที่จัดอยู่ในไม้ผลที่ติดดอกยากมากที่สุดหากมีช่วงอากาศหนาวที่สั้นเกินไป นับเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของชาวสวนลิ้นจี่มาช้านาน ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงมีความคิดอยากที่จะช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน และเพื่อให้ลิ้นจี่ค่อมยังคงเป็นพืชอัตลักษณ์ประจำจังหวัดสมุทรสงครามสืบไป จึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่เพื่อทำงานวิจัย การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อมให้ติดดอกออกผลได้มากขึ้นด้วย “การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อม”

ขั้นตอนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาลิ้นจี่ไม่ติดดอกออกผล

ดร.กุศล อธิบายว่า ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของต้นรอการติดดอกออกผล “ในช่วงก่อนเข้าฤดูหนาวประมาณ 60 วัน เราจะเริ่มเตรียมความพร้อมของต้น โดยช่วงประมาณ 30 กันยายน เราจะฉีดฮอร์โมนให้ลิ้นจี่ คือมีใบร่วงก่อน แล้วก็แตกใบใหม่ พอแตกใหม่ออกมาแล้ว ใบใหม่ชุดนั้น จะเป็นใบแก่ภายในประมาณ 20 วัน แล้วหลังจากนั้นก็เป็นใบแก่ตลอด คือเราจะกระตุ้นฮอร์โมนให้เป็นใบแก่ เหมือนกับตั้งท้อง คือ 60 วัน สิ้นเดือนกันยายนก็จะครบ 60 วัน ในช่วงต้นเดือนธันวาคม เพราะฉะนั้นพอเข้าเดือนธันวาคม ประมาณช่วงคริสต์มาส หรือประมาณช่วงวันที่ 25 ธันวาคม จะมีช่วงหนาวอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นช่วงหนาวสั้น ถ้าเป็นช่วงหนาวสั้น ต้นที่ไม่ได้เตรียมความพร้อม โดยธรรมชาติของลิ้นจี่ความหนาวจะทำให้ลิ้นจี่ตั้งท้อง แต่ถ้าเกิดว่าความหนาวสั้นยังไม่ได้ทำให้ตั้งท้อง ที่ต้นก็จะมีแต่ใบแต่ไม่มีดอก แต่เราจะทำให้ตั้งท้องก่อน โดยการฉีดฮอร์โมน แล้วฉีดนมผสมเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของต้น ให้มีทุกอย่างครบ เมื่ออยู่ในภาวะตั้งท้อง ได้รับความหนาวเย็น จะสามารถออกดอกเลย เราก็ประสบความสำเร็จในแง่ที่สามารถทำให้ลิ้นจี่ออกดอกได้และออกได้มากขึ้น เมื่อเราทำต้นให้พร้อมรอหนาวมา ถึงแม้จะมีอากาศหนาวสั้นสัก 10 วัน ก็เพียงพอแล้วในการออกดอก และส่วนเรื่องผลถ้าออกแล้วดกไหม ด้วยการที่เราจะฉีดฮอร์โมนไป คือดกมาก แตกต่างจากเมื่อก่อน เมื่อดอกมากกว่า ก็มีเปอร์เซ็นต์การติดผลที่มากกว่า และฮอร์โมนยังช่วยการขยายผล ทำให้ลูกโต อันนี้ถือเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่ง”

ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ติดผลดกเต็มต้น เกษตรกรยิ้มออก

โดยทางคณะวิจัยได้ทำการทดลองใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชจำนวน 7 พื้นที่ ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ จากการเก็บสถิติในปีนี้นับว่าเป็นปีที่มีอากาศหนาวยาวนาน คาดว่าผลผลิตจะได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมกระตุ้นด้วยฮอร์โมนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นฤดูที่อากาศไม่หนาวผลผลิตจะได้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ ต้นที่ไม่ได้กระตุ้นด้วยฮอร์โมน ถึงจะออกดอกก็ออกประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่แปลงที่ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนจะมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกษตรกรเจ้าของพื้นที่แปลงทดลองมีความพึงพอใจกับเทคโนโลยีที่ทาง วว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เป็นอย่างมาก และถือเป็นความรู้ที่ยั่งยืน เกษตรกรกับเกษตรกรสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กันได้ เพราะในปีหน้าประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเอลนีโญ เพราะฉะนั้นปีหน้าถ้าสวนไหนยังไม่มีการเตรียมพร้อม ก็แทบจะไม่ได้เห็นผลผลิตลิ้นจี่เลยก็ว่าได้

ต้นลิ้นจี่พันธุ์ค่อม อายุ 200 ปี
นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม

ทางด้าน นายบุญมา นวมสุคนธ์ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม เล่าให้ฟังว่า เดิมทีตนเองเป็นเกษตรกรปลูกลิ้นจี่เป็นพืชเชิงเดี่ยว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาผลผลิตลิ้นจี่ไม่ออกตามฤดูกาล เพราะไม่สามารถควบคุมการออกดอกของลิ้นจี่ได้ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอทุกปี และมีผลผลิตต่ำ จากการที่ วว. ได้นำนักวิจัยและความรู้มาอบรมและให้คำแนะนำต่างๆ ทำให้ขณะนี้ลิ้นจี่ติดผลมากและมีลูกดก กิ่งก้านแข็งแรงมาก ผลผลิตออกเยอะกว่าสวนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ดีใจและภูมิใจที่ได้รับคำแนะนำและนักวิจัยลงพื้นที่มาทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด

ปีนี้ผลผลิตดี เกษตรกรพึงพอใจ

“ปัจจุบันผมมีพื้นที่ทำเกษตรบนพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ เน้นปลูกพืชผสมผสาน จากที่เคยปลูกลิ้นจี่เป็นพืชสร้างรายได้หลัก ก็เปลี่ยนมาปลูกส้มโอเป็นพืชสร้างรายได้หลักแทน ส่วนลิ้นจี่ก็ยังคงไว้เป็นรายได้เสริม หากปีไหนผลผลิตออกก็ถือว่าเป็นกำไร เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่เจอคือเรื่องของสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะช่วงไหนที่มีอากาศหนาวน้อย ลิ้นจี่ก็จะไม่ติดดอกออกผล แต่พอทางคณะวิจัยจาก วว. เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ และลงพื้นที่ปฏิบัติการไปพร้อมกับเรา เราก็มีความมั่นใจมากขึ้น และผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามความคาดหมาย อย่างปีที่แล้วมีลิ้นจี่ทั้งหมด 68 ต้น ออกผลผลิตเพียง 20 ต้น ด้วยปัจจัยทางอากาศและการดูแล แต่พอได้ความรู้เรื่องการใช้ฮอร์โมน ผลผลิตก็ติดผลทุกต้น 100 เปอร์เซ็นต์” นายบุญมา กล่าว

หนามตั้งหรือหนามแหลมห่างเสมอกันทั้งลูกและไม่เป็นกระจุก
นายจีรศักดิ์ เฮงประเสริฐ เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ ทายาทรุ่นที่ 3 ของสวนลิ้นจี่ 200 ปี

นายจีรศักดิ์ เฮงประเสริฐ เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ ทายาทรุ่นที่ 3 ของสวนลิ้นจี่ 200 ปี เล่าให้ฟังว่า ที่มาของสวนลิ้นจี่ 200 ปี ตั้งมาจากอายุของต้นลิ้นจี่ต้นแรกที่ปลูกในสวนตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ นับเป็นเวลามาถึงปัจจุบันก็อายุประมาณ 200 ปี มีอยู่ 2 ต้น ที่ปลูกพร้อมกัน และยังเป็นลิ้นจี่พันธุ์ค่อมต้นแรกที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันต้นเริ่มมีอายุมากทางสวนจึงให้ความใส่ใจดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยเป็นพิเศษ แต่ยังให้ผลผลิตได้ดีเหมือนเดิม

ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแปลงใหญ่ลิ้นจี่ “สวนลิ้นจี่ 200 ปี”

โดยประวัติความเป็นมาจองลิ้นจี่พันธุ์ค่อม เดิมเรียกพันธุ์ “อีค่อม” เพราะต้นไม่ค่อยสูง มีลักษณะเป็นพุ่ม ต่อมาตัดคำว่า “อี” ออก เพราะเห็นว่าไม่สุภาพ เหลือเพียง “ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม”

ลักษณะเด่นของลิ้นจี่พันธุ์ “ค่อม” หรือ หอมลำเจียก มีกลิ่นหอมหวาน มีลักษณะหนามตั้ง หนังตึง เนื้อเต่ง

รูปทรง รูปร่างกลม รูปไข่หรือรูปหัวใจ เมล็ดทรงยาว

เปลือก มีหนามตั้งหรือหนามแหลมห่างเสมอกันทั้งลูกและไม่เป็นกระจุก

หนังตึง หรือเปลือกหนังบางตึง กรอบ เมื่ออยู่บนต้นจะมีสีแดงเข้ม เมื่อเก็บแล้วจะมีสีคล้ายน้ำหมาก

เนื้อเต่ง หรือมีเนื้อหนากรอบ สีขาวอมชมพู เนื้อแห้ง ไม่แฉะ

ร่องชาด ผิวเปลือกด้านในจะเป็นสีชมพู จากขั้วลงมาถึงกลางลูก

มอบนวัตกรรม ชุดอบรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลิ้นจี่แบบเคลื่อนที่ ให้แก่เกษตรกรเพื่อยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยว

โดยปัจจุบันที่สวนลิ้นจี่ 200 ปี เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้ผู้ที่สนใจอยากมาลิ้มรสลิ้นจี่พันธุ์ค่อม พร้อมกับศึกษาประวัติศาสตร์ต้นลิ้นจี่ที่มีอายุกว่า 200 ปีของที่สวน ซึ่งข้อดีของการเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวคือเจ้าของสวนไม่ต้องออกไปหาตลาดเอง แต่ลูกค้าเป็นคนวิ่งเข้ามาหาและซื้อผลผลิตถึงสวน

“ถ้าหากถามถึงปริมาณผลผลิตของที่สวนจะออกมากออกน้อยก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อย่างปีนี้อากาศดี ประกอบกับที่ได้ร่วมทำแปลงสาธิตร่วมกับ วว. ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ จึงคาดการณ์รายได้ในปีนี้ต้องได้หลักแสนบาทขึ้นไป โดยราคาขายหน้าสวนในปีนี้สตาร์ตที่กิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนผลผลิตที่ห่อผลจะขายได้ในราคาที่สูงขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 250 บาท เพราะลิ้นจี่ที่ห่อผลจะมีคุณภาพ รสชาติหวาน ผิวสวย ลูกใหญ่” นายจีรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 02-577-9004 โทรสาร 02-577-9004 อีเมล : [email protected]