สวนกิจตระกูลรัตน์ ใช้นวัตกรรมยุคใหม่ ปลูกทุเรียน มังคุด สร้างรายได้ทะลุหลักล้าน

คุณพวีรกานต์ กุลโรจนพัฒน์ หรือ คุณสงค์ หนุ่มใหญ่ผู้ดูแลสวนกิจตระกูลรัตน์ ในพื้นที่ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนและมังคุดมากกว่า 3,800 ต้น มีพื้นที่รวมกว่า 2,000 ไร่ อีกทั้งมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการในพื้นที่สวน 200 ไร่ ทำให้มีผลผลิตภายในสวนจำนวนมหาศาลสำหรับส่งขายให้ลูกค้าที่ต้องการ และสามารถสร้างรายได้ให้กับสวนกิจตระกูลรัตน์ถึงหลักล้านบาท

คุณพวีรกานต์ กุลโรจนพัฒน์ หรือ คุณสงค์ ผู้ดูแลสวนกิจตระกูลรัตน์

หากย้อนเล่าไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำสวนทุเรียนและมังคุดอย่างจริงจัง ของสวนกิจตระกูลรัตน์นั้น คุณสงค์ เล่าให้เราฟังว่า แต่เดิมเป็นเจตนารมณ์ของ เฮียชัยพร ซึ่งเป็นเจ้าของสวนแห่งนี้ เป็นคนที่รักและชื่นชอบการกินทุเรียนเป็นอย่างมาก จึงมองหาที่ดิน 1 แปลง ในการปลูกทุเรียนและมังคุด เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่เข้ามาพักในรีสอร์ตอาคันตุกะโฮมสเตย์ของตนเอง อีกทั้งภายในสวนแห่งนี้ยังมีการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาจัดการร่วมกับการทำสวนอีกด้วย

ทุเรียนลูกโตภายในสวน

“แต่เดิมเฮียชัยพร ซึ่งเป็นเจ้าของสวน ทำทุเรียนที่เขื่อนไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นที่มรดก ต่อมามีช่วงหนึ่งที่ทุเรียนตายทั้งแปลง เฮียชัยพรจึงหยุดการทำสวน แต่ด้วยความที่ตัวของเฮียชัยพรนั้นเป็นคนที่ชอบกินทุเรียนมาก รวมถึงเมื่ออายุมากก็อยากจะพักผ่อน เพราะทางสวนของเราจะมีรีสอร์ตด้วยครับ อีกทั้งกระแสการปลูกทุเรียนก็เยอะขึ้น จึงเริ่มหาพื้นที่ใกล้ๆ กับรีสอร์ต เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการ เวลาที่ลูกค้าที่มาพักที่รีสอร์ตอาคันตุกะโฮมสเตย์ มักจะถามว่ามีทุเรียนให้กินไหม จึงซื้อที่ดินเพื่อปลูกทุเรียนครับ เพราะเราอยากทำสวนที่ดี มีมาตรฐานและมีความแตกต่างจากการทำสวนแบบคนสมัยก่อนครับ เพราะคนสมัยก่อน เมื่อที่ว่างตรงไหนก็มักจะปลูกลงพื้นที่นั้นเลย ซึ่งสวนเราจะเน้นเครื่องมือ เครื่องจักร เน้นทำงานง่าย”

ทุเรียนสดๆ จากสวนกิจตระกูลรัตน์

คุณสงค์ เล่าต่อว่า ภายในสวนกิจตระกูลรัตน์นั้น จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมการสั่งจ่ายน้ำผ่านระบบมือถือ การตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงการตรวจวัดความชื้น ซึ่งนวัตกรรมทั้งหมดสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยลดปริมาณแรงงานคน

ผลผลิตภายในสวน

“รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ ซึ่งช่วยลดแรงงานได้ดีครับ นวัตกรรมรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาใช้ ก็จะเป็นนวัตกรรมการให้น้ำผ่านทางโทรศัพท์ การวัดความชื้น การตรวจสอบอุณหภูมิในสวนครับ และสมัยนี้การทำสวนทุเรียนก็จะง่ายขึ้น เพราะว่าเรามีเครื่องมือการตรวจสอบคุณภาพดินและปุ๋ยที่ถูกลง สมัยก่อนเราต้องเก็บตัวอย่างดินตรวจสอบ ตามสถานีตรวจวัดดินต่างๆ ต้องเก็บเป็นจุด จึงเกิดความยุ่งยาก แต่สมัยนี้มีเครื่องมือราคา 1,000-2,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบคร่าวๆ ได้ครับ”

คนงานช่วยกันนำทุเรียนขึ้นรถพร้อมขาย

เมื่อสอบถามเทคนิคการดูแลรักษา คุณสงค์ อธิบายให้ฟังว่า ภายในสวนกิจตระกูลรัตน์จะเป็นการปลูกทุเรียนแบบกึ่งผสมผสานทั้งสารเคมีและเกษตรอินทรีย์ และการปลูกทุเรียนและมังคุดนั้น ต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก ผู้ปลูกควรมีจิตใจที่นิ่งสงบ ไม่สนใจเสียงรอบข้าง หากถามว่าสามารถปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ได้ไหม คุณสงค์ตอบว่าปลูกได้ หากต้องการกินเอง แต่ถ้าต้องการที่จะปลูกขายไม่แนะนำการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะด้วยเหตุผลที่ว่าอาจจะไม่ทันเหตุการณ์สวนอื่นๆ ที่ปลูกทุเรียนด้วยกันได้

ถัดมาในเรื่องของพื้นที่ที่ปลูก ควรเป็นพื้นที่ที่ใกล้น้ำ สามารถรองรับการปลูกทุเรียนภายในสวน เพราะหากทุเรียนได้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ อาจจะต้องตัดลูกทุเรียนทิ้ง ให้เหลือเพียงแค่ต้นทุเรียนเพียงเท่านั้น ซึ่งไม่มีประโยชน์และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้นั่นเอง

“อันดับแรกเราต้องทำความเข้าใจก่อนอันดับแรกครับว่า การปลูกทุเรียนนั้นต้องใช้ต้นทุนที่สูง จิตเราต้องนิ่งครับ อย่าไปฟังเสียงของคนรอบข้างมาก และอย่าเชื่อร้านที่ขายยามากครับถ้าปลูกกิน ทำแบบเกษตรอินทรีย์ได้ ถ้าปลูกขายไม่เหมาะครับ เพราะอาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ครับ ต้องดูแลและเอาใจใส่ให้มาก ซึ่งการปลูกครั้งแรกเราต้องหาพื้นที่ครับ ว่าต้องการพื้นที่แบบไหน และต้องหาแหล่งน้ำที่ดี และต้องคำนวณว่าแหล่งน้ำที่เรามี พอเพียงต่อการใช้หรือไม่ เพราะส่วนมากปัญหาที่ชาวสวนเจอ หลังจากลงทุนลงแรงไปแล้ว คือเรื่องน้ำแห้ง ก็ต้องตัดลูกออก เอาไว้แต่ต้น ก็จะเกิดความเสียหาย เพราะว่าปัจจุบันมีทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ถ้าน้ำไม่พอ ดินไม่ดี ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งทางสวนจะใช้วิธีการวิเคราะห์ดิน เราสามารถตรวจสอบค่า pH ดินได้ และสามารถปรับค่า pH ดินได้ครับ และที่สำคัญที่สวนเราจะไม่ฉีดพ่นยาฆ่ายา เน้นเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม คือใช้หญ้าเป็นตัวทำให้ดินให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นครับ ทำให้มีไส้เดือนและเกิดการผสมผสานระหว่างอินทรีย์และเคมีครับ”

เมื่อสอบถามถึงโรคที่มักเกิดขึ้นสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่จะไม่เจอโรครากเน่า โคนเน่า เช่นเดียวกับทางสวนกิจตระกูลรัตน์ ซึ่งจะใช้วิธีการบริหารจัดการแบบธรรมชาติ แบบพึ่งพากันและกัน เพื่อป้องกันให้เกิดโรคดังกล่าวน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ถ้าเป็นการปลูกทุเรียนโดยตรง สิ่งที่ชาวสวนเขากลัวกันมากที่สุด ก็คือโรครากเน่า โคนเน่า บางคนตายยกแปลง บางคนก็แล้วแต่สภาพการดูแล แต่ทางสวนของเราจะป่วยน้อยที่สุด เราเน้นการบริหารจัดการแบบธรรมชาติ ให้พึ่งพิงอาศัยกัน อย่างหน้าแล้ง เราจะไว้หญ้าคลุมโคนต้นทุเรียน รากก็จะไม่เสียหาย หน้าฝนเราจะตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสมครับ เพื่อไม่ให้เป็นพุ่มหนา ให้ลมพัดผ่าน การปรับปรุงดิน เราจะใช้ปูนหรือยิปซัม แต่เราต้องมีค่าดินก่อนนะครับว่า ค่า pH ดินเราอยู่ที่เท่าไร ดูจากใบพืชเป็นหลักครับ”

ผลไม้ของสวนกิจตระกูลรัตน์ จะมีการส่งขายตามตลาดที่มีการรับซื้อประจำ สำหรับท่านใดที่สนใจที่จะซื้อผลไม้หรือเยี่ยมชมภายในสวนกิจตระกูลรัตน์ สามารถเดินทางไปกับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน กับการกลับมาอีกครั้งของทัวร์เกษตรเติมสุข สัญจร แบบเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมกับแขกรับเชิญคนสำคัญอย่าง อาหนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา ที่จะมานั่งพูดคุยและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร ในวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2566 สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-580-0021 ต่อ 2335 รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ