หวั่นโรคภัยคุกคามประชาชน สธ.แนะทุกวัยยึด 7 สุขบัญญัติ

52967742 - buffet brunch food eating festive cafe dining concept

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะประชาชนทุกวัยสร้างวินัยสุขภาพ ป้องกันโรคและภัยคุกคามนานาชนิดในช่วงฤดูฝน ยึด ‘7 หลักสุขบัญญัติ’ เริ่มตั้งแต่ที่บ้าน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นพ. ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงนี้จนถึงเดือนตุลาคม มักจะพบโรคที่มากับช่วงหน้าฝน ได้แก่ 1. โรคติดต่อทางระบบหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม 2. โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอหิวาตกโรค และโรคไวรัสตับอักเสบ เอ 4. โรคติดต่ออื่นๆ เช่น โรค มือ เท้า ปาก และโรคเลปโตสไปโรซิส และ 5. ภัยสุขภาพอื่นๆ เช่น อันตรายจากสัตว์มีพิษ ภัยจากฟ้าผ่า และอุบัติเหตุทางถนน ลื่นล้ม จมน้ำ ฯลฯ จึงขอให้ประชาชนทุกวัยสร้างวินัยทางสุขภาพโดยใช้หลักสุขบัญญัติเพื่อป้องกันโรคและภัยคุกคามในช่วงหน้าฝน โดยปฏิบัติให้เป็นนิสัย สามารถปฏิบัติได้ทุกคนและทุกวัย

นพ. ภัทรพล กล่าวต่อไปว่า การสร้างวินัยทางสุขภาพตาม “สุขบัญญัติ ปฏิบัติได้ทุกวัย” ปฏิบัติได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ป้องกันโรคในช่วงหน้าฝน คือ 1. ดูแลความสะอาดร่างกายและของใช้ ใส่รองเท้าที่แห้ง สะอาด ไม่อับชื้น หากเดินลุยน้ำต้องล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งโดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นเพียงพอ จัดบ้านให้เป็นระเบียบ สะอาด ป้องกันอุบัติเหตุและไม่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหรือสัตว์นำเชื้อโรค

  1. หมั่นล้างมือให้สะอาดเสมอ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย ไม่ใช้มือสกปรกขยี้ตา แคะจมูก คนที่เป็นหวัด มีน้ำมูก ไอจาม ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ 3. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ สะอาด มีประโยชน์ และดื่มน้ำที่สะอาดให้พอในแต่ละวัน 4. ไม่ประมาท เพื่อป้องกันอุบัติเหตุอุบัติภัย การลื่น พลัดตกหกล้ม การจมน้ำ ปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยจากการจราจร 5. มีการเคลื่อนไหวออกแรงในชีวิตประจำวัน และอย่าลืมออกกำลังกายสม่ำเสมอตามความเหมาะสมของแต่ละคน เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง 6. ทำสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอด้วยการคิดดี ทำดี และช่วยเหลือแบ่งปัน หาทางจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม 7. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม ด้วยการไม่ทิ้งขยะหรือขับถ่ายลงในน้ำ มีการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนอย่างถูกต้อง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายสม่ำเสมอ

“ผู้ปกครองเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างวินัยทางสุขภาพให้กับเด็กและเยาวชน โดยส่งเสริมให้เด็กปฏิบัติให้ติดจนเป็นนิสัย ที่สำคัญคือการสร้างวินัยกับตนเอง เป็นแบบอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้กับเด็ก หากปฏิบัติได้จะทำให้ประชาชนทุกวัยมีสุขภาพที่แข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคที่ดี ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากคลังความรู้สุขภาพ healthydee.moph.go.th และเฟซบุ๊ก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข” นพ. ภัทรพล กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน

ภาพจาก : http://www.thaihealth.or.th

Advertisement