ปลูกข้าวให้มีกำไร ได้ผลผลิตมากกว่า 1 ตัน/ไร่ ทำได้ไม่ยาก เคล็ดลับอยู่ที่การบำรุงให้ถูกจังหวะ

เมื่อพูดถึงการปลูกข้าวให้ประสบความสำเร็จและได้กำไรงาม เกษตรกรส่วนใหญ่อาจตั้งความหวังไว้กับราคาผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อหรือไม่ว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้คือ “การเพิ่มประสิทธิภาพการปลูก” เพื่อให้ได้ข้าวที่น้ำหนักดีและมีคุณภาพ

วันนี้เราจะพาไปพบกับ คุณเล็ก-สังวาล ไทยเจริญ ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เกษตรกรหญิงแกร่ง ที่สามารถปลดหนี้ได้ด้วยการทำนา ทั้งยังสามารถขยับขยายพื้นที่นาจาก 10 ไร่ เป็น 106 ไร่ ได้ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ ควบคู่กับประสบการณ์ที่สั่งสมมากกว่า 30 ปี

คุณเล็ก เผยว่า ตนเองนั้นเริ่มทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว สมัยก่อนปลูกข้าวได้ผลผลิตประมาณ 700-900 กก./ไร่ หากปีไหนข้าวเป็นโรคมาก ก็จะได้ผลผลิตน้อยกว่านี้ แต่ปัจจุบันนั้นมีการปรับวิธีการบำรุงดูแลใหม่ทั้งหมด จนผลผลิตค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 1.2-1.3 ตัน/ไร่ โดยที่ต้นทุนไม่ต่างจากเดิม แต่ได้กำไรเพิ่มจากผลผลิตที่ดีขึ้น

ความสำเร็จเหล่านี้ คุณเล็ก เริ่มจากพื้นฐานความเข้าใจใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.เข้าใจในสภาพอากาศและพื้นที่ปลูก 2.เข้าใจความต้องการของพืช และบำรุงให้ตรงตามช่วงอายุการเจริญเติบโต และ 3.เข้าใจโรคพืช

                                           แนะนำใช้ อโทนิค แช่ข้าวทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนนำไปหว่าน

เน้นทำนาปรัง-เลือกพันธุ์ข้าวอายุสั้น
ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

โดยปกติแล้วการปลูกข้าวจะแบ่งเป็น 2 ฤดู คือ “ข้าวนาปี” เป็นการปลูกข้าวตามฤดูกาล นิยมปลูกในช่วงฤดูฝน และ “ข้าวนาปรัง” เป็นการปลูกข้าวนอกฤดูกาล อาศัยน้ำชลประทานเป็นหลัก

ซึ่งในกรณี อ.กงไกรลาศ นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ทั้งยังเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี คุณเล็ก จึงต้องมีการปรับตัวด้วยการเลือกปลูกข้าวอายุสั้น (พันธุ์เบา) ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 90-95 วัน และเลือกทำเฉพาะนาปรัง เพื่อเลี่ยงฤดูฝน โดยจะทำนารอบแรก ช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม และรอบที่สอง ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม และจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นก่อนช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อให้ทันก่อนช่วงน้ำหลาก

Advertisement

เตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก
เพิ่มอัตรางอกและความแข็งแรงของกล้า

สำหรับการเตรียมแปลงนั้น คุณเล็ก จะเริ่มด้วยขั้นตอน “ไถ-หมัก-ย่ำ-ทำเทือก” โดยการ “ไถ” นั้นคือการไถดะ-ไถแปร เพื่อพลิกหน้าดิน ย่อยดิน คลุกเคล้าเศษฟาง-วัชพืชลงไปในดิน จากนั้นตากดินและ “หมัก” อินทรียวัตถุต่างๆ ให้ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้เกิดแก๊สไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) จากนั้นจะเริ่มขังน้ำไว้ในแปลงระยะหนึ่ง เพื่อให้ดินอ่อนตัว และทำการ “ย่ำ” เศษฟาง-วัชพืชให้แหลก พร้อมปั่นดินให้เป็นเลนด้วยรถไถโรตารี สุดท้ายจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ทำเทือก” เป็นการปรับหน้าดินให้เรียบเสมอ ไม่เป็นแอ่ง เตรียมพร้อมสำหรับการหว่านข้าว

Advertisement

ทั้งนี้ ก่อนหว่านข้าว คุณเล็ก มีเคล็ดลับสำคัญคือ การแช่เมล็ดพันธุ์ด้วย “อโทนิค” อัตรา 1 ฝา (10 ซีซี) ต่อข้าว 20 ถัง เป็นเวลา 1 คืน จากนั้นนำพันธุ์ข้าวขึ้นจากน้ำมาใส่กระสอบแล้วคลุมด้วยผ้าทิ้งไว้อีก 1 คืน (ขั้นตอนนี้ เกษตรกรมักเรียกว่า “การบ่มข้าว”) พันธุ์ข้าวจะเริ่มแตกตุ่มตาประมาณ 1 มิลลิเมตร พร้อมสำหรับการปลูก

“ถ้าเราแช่ข้าวด้วยอโทนิค จะช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ดีขึ้น ยิ่งเราทำนาปรัง ในช่วงอากาศหนาว บางทีข้าวไม่ค่อยงอก หรืองอกช้า อโทนิคจะช่วยได้มาก ก่อนหว่านจะเห็นเลยว่าเมล็ดข้าวมีตุ่มรากขาวๆ งอกขึ้นมาชัดเจน แล้วต้นกล้าที่งอกขึ้นมาก็จะเสมอกัน รากเดินดี ต้นแข็งแรง ถ้าต้นข้าวงอกเสมอกันหมด การดูแลในขั้นต่อๆ ไปก็จะง่ายขึ้น” คุณเล็ก กล่าวถึงความสำคัญของการแช่เมล็ดพันธุ์ด้วยอโทนิค

“ระยะข้าวแตกกอ”
บำรุงดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

คุณเล็ก เผยว่า การบำรุงข้าวครั้งที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่ “ระยะแตกกอ” ในช่วงนี้ต้นข้าวกำลังต้องการธาตุอาหาร เพื่อนำมาใช้ในการเจริญเติบโตของลำต้น ใบ และเริ่มขยายกอ โดยข้าว 1 ต้น สามารถแตกกอได้ถึง 30-60 ต้น (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ซึ่งต้นข้าวเหล่านี้จะเกิดเป็นรวงข้าวในอนาคต หมายความว่าการที่ต้นข้าวแตกกอได้ดีจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวนั่นเอง

สำหรับการบำรุง คุณเล็ก จะใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-20-0 ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 และหลังจากหว่านปุ๋ยครั้งแรกไม่เกิน 5 วัน จะเริ่มฉีดพ่นฮอร์โมนเพื่อบำรุงเสริมพร้อมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังนี้
1. อโทนิค (สารกลุ่มไนโตรฟีโนเลต) อัตรา 100 ซีซี
2. นิวฟอส (กรดฟอสโฟนิก) อัตรา 300 ซีซี
3. เนเทอไรฟ์ (สังกะสี) อัตรา 300 ซีซี (ผสมทั้งหมดกับน้ำ 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 5 ไร่)
4.พาบินส์ (ไพราโคลสโตรบิน)อัตรา 300 ซีซี

“การดูแลในระยะแตกกอนี้สำคัญมาก เหมือนที่เขาบอกว่า ถ้าเริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง อโทนิคนั้นจะช่วยให้ต้นข้าวเขียว แตกกอดี ส่วนนิวฟอส จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับต้นข้าว และเนเทอไรฟ์ จะช่วยเสริมธาตุสังกะสี ทำให้ข้าวเดินรากดี พืชเขียวทน เขียวนาน สุดท้ายพาบินส์ (ไพราโคลสโตรบิน) ที่ช่วยป้องกันเชื้อรา” คุณเล็ก กล่าว

นอกจากนี้ ในระหว่างการทำนา คุณเล็ก เน้นว่า เกษตรกรควรหมั่นดูแปลง สังเกตข้าวอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น ใบต้นกล้าเริ่มมีจุด มีขีดสีน้ำตาล แสดงว่าเป็น “โรคใบไหม้” ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในข้าว ก็จะใช้ไพรีซาน (คาร์เบนดาซิม) อัตรา 200 ซีซี ผสมไปพร้อมกับฮอร์โมนเลย เป็นการบำรุงพร้อมกับกำจัดโรคไปในตัว

“ระยะสร้างดอกอ่อน”
อยากได้ผลผลิตดี ช่วงนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด

คุณเล็กเผยว่า….หากเราเปรียบว่า “ระยะข้าวแตกกอ” คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการได้ผลผลิตที่ดี ก็สามารถเปรียบระยะสร้างดอกอ่อนให้เป็น “ช่วงเวลาทองของการบำรุง” ได้เช่นกัน

ระยะสร้างดอกอ่อน” นั้นถือเป็นระยะที่ 4 ในกระบวนการเจริญโตของข้าว ที่กรมการข้าวได้แนะนำ โดยกรมการข้าวได้แบ่งข้าวออกเป็น 9 ระยะ ดังนี้

ข้าวแต่ละระยะ ข้าวพันธุ์เบา ข้าวพันธุ์หนัก
ระยะที่ 1 ระยะกล้า 7-12 วัน 7-15 วัน
ระยะที่ 2 ระยะแตกกอ 13-20 วัน 16-30 วัน
ระยะที่ 3 ระยะยืดปล้อง 21-30 วัน 45-59 วัน
*ระยะที่ 4 ระยะสร้างดอกอ่อน 30 วัน 60 วัน
ระยะที่ 5 ระยะโผล่เผล่ 45 วัน 85 วัน
ระยะที่ 6 ระยะดอกบาน 50 วัน 90 วัน
ระยะที่ 7 ระยะน้ำนม 60 วัน 100 วัน
ระยะที่ 8 ระยะแป้งอ่อน 70 วัน 110 วัน
ระยะที่ 9 ระยะเก็บเกี่ยว 90 วัน 120 วัน

 

ซึ่งในระยะที่ 4 จะแบ่งการเจริญเติบโตของข้าวออกเป็นอีก 9 ระยะย่อย เรียกว่าระยะ 4.1 ถึง ระยะ 4.9

โดย “ระยะ 4.1” ต้นข้าวต้องใช้พลังงานมากสำหรับการสร้างรวง สร้างเมล็ด จำนวนเมล็ดข้าวที่จะเจริญเติบโตต่อไปจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบำรุงในระยะนี้ หากได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ การสร้างเมล็ดข้าวก็จะน้อย ส่งผลให้ผลผลิตต่ำ ถึงแม้จะไปเร่งบำรุงภายหลังก็ไม่ทันการเสียแล้ว

สำหรับการหาระยะ 4.1 ของข้าว สามารถคำนวณได้ง่ายๆ คือ นำอายุเก็บเกี่ยวของข้าวแต่ละสายพันธุ์ หักลบออก 60 วัน ก็จะเป็นข้าวระยะ 4.1 (โดยประมาณ) เช่น ข้าวพันธุ์ที่ปลูกอายุเก็บเกี่ยว 90 วัน หักลบไป 60 วัน ระยะ 4.1 ของข้าวพันธุ์นี้เท่ากับ 30 วัน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเป็นช่วงที่อากาศแปรปรวน การนับวันเพียงอย่างเดียวอาจไม่แม่นยำนัก คุณเล็ก ยังมีวิธีตรวจสอบระยะข้าว 4.1 อีกทาง โดยการสุ่มต้นข้าวในแปลงมาประมาณ 4-5 ต้น แล้วแกะใบออกจนหมด หากบริเวณใบสุดท้ายนั้นมีลักษณะเหมือนปลายพู่กันเล็กๆ แปลว่าข้าวกำลังเริ่มสร้างดอกแล้ว จะเริ่มบำรุงครั้งที่  2 โดยใช้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-20-0 และหลังจากหว่านปุ๋ยไม่เกิน 5 วัน จะฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนและสารป้องกันกำจัดโรคพืช ดังนี้

1.อโทนิค อัตรา 100 ซีซี ช่วยเพิ่มพลังงานให้พืชได้มีอาหารเพียงพอสำหรับการสร้างรวง สร้างระแง้ ขยายโครงสร้างเมล็ด ช่วยให้ข้าวเมล็ดเต่ง เต็มรวง
2.เนเทอไรฟ์ อัตรา 300 ซีซี ช่วยให้พืชสังเคราะห์แสงได้ดี และช่วยให้ข้าวสู้กับอากาศแปรปรวนเช่นอากาศหนาวเฉียบพลัน
3.นิวฟอส (กรดฟอสโฟนิก) อัตรา 300 ซีซี ช่วยให้ข้าวมีภูมิต้านทานโรค และป้องกันเชื้อรา
4.พาบินส์
(ไพราโคลสโตรบิน) อัตรา 300 ซีซี ช่วยป้องกัน รักษา และยับยั้งโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ใบไหม้ ใบจุด และเมล็ดด่าง (ผสมทั้งหมดกับน้ำ 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 5 ไร่)

ทั้งนี้  การดูแลข้าวในระยะ 4.1 นั้น ต้องอาศัยทั้งการบำรุงและการป้องกันกำจัดโรคพืชควบคู่กัน เพราะหากเราบำรุงดีแต่ข้าวเป็นโรค ก็จะทำให้ผลผลิตลดลงเช่นกัน

“จากประสบการณ์พี่ การบำรุงและดูแลข้าวในช่วง 4.1 นี้ ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญมาก ถ้าเราบำรุงถูกช่วงเวลา ควบคู่ไปกับการป้องกันโรคที่ดี ผลผลิตเราดีแน่นอน อย่างนาของพี่เคยได้ผลผลิตแค่ 700-900 กก./ไร่ ตอนนี้ก็ขยับขึ้นเป็น เป็น 1.2-1.3 ตัน/ไร่แล้ว ถือว่าเห็นผลชัดเจน ทำให้พี่เข้าใจเลยว่า การที่เรารู้แค่ว่าใช้ปุ๋ยสูตรไหน ฮอร์โมนอะไรอย่างเดียวไม่พอ เราต้องรู้ด้วยว่าควรใช้ช่วงเวลาใด ถึงจะได้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพที่สุด” คุณเล็ก เน้นความสำคัญของการบำรุงข้าวช่วง 4.1

หลังจากข้าวระยะน้ำนม (อายุ 60 วันเป็นต้นไป) จะหยุดการบำรุงทั้งหมด และรอเก็บเกี่ยว โดยในระหว่างนั้นยังคงเฝ้าสังเกตโรค-แมลงเป็นระยะ หากมีการระบาด ก็จะทำการฉีดพ่นยาเพื่อทำการรักษาและป้อกกัน

“ทีมงานเจียไต๋” จริงใจ พร้อมให้คำแนะนำ
ช่วยให้การทำนาเป็นเรื่องง่ายขึ้น

คุณเล็ก เผยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญในการทำนามาร่วม 30 ปี คือการได้เรียนรู้หลักการบำรุงและดูแลรักษาข้าวอย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำของทีมงานเจียไต๋ ทำให้เราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม ที่บางครั้งทำสืบต่อกันมา แต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์ดีเท่าที่ควร ทั้งยังเพิ่มต้นทุนโดยที่เราไม่รู้มาก่อน

“สมัยก่อนพี่ทำนาก็ได้ผลผลิตน้อย เลยต้องคิดหาทางออกว่า ทำอย่างไรจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น พอดีมีน้องจากเจียไต๋มาช่วยแนะนำเรื่องของการดูแลต้นข้าว เขาก็สอนให้เราบำรุงข้าวตามช่วงอายุการเจริญเติบโต อย่างการสังเกตและการบำรุงข้าว “ระยะ 4.1” ก็ช่วยให้เราบำรุงได้ตรงจุดมากขึ้น แล้วก็ได้เรียนรู้เรื่องโรคพืช การดูชื่อสามัญของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และนำไปเปรียบเทียบ เพื่อให้เราใช้สารเคมีได้มีประสิทธิภาพ

ตอนแรกพี่ก็ไม่กล้าเปิดใจนะ แต่น้อง ๆ เจียไต๋เขาก็มีความพยายามไปมาหาสู่ ถามไถ่กันอยู่ คอยแวะมาหา มาดูต้นข้าว มาดูการปลูก เกือบ 3 ปี จนพี่สนิทใจ ก็ค่อย ๆ เริ่มเปิดใจเรียนรู้ พอได้ปรับตามคำแนะนำก็ทำให้ผลผลิตค่อยๆ ดีขึ้นจริง โดยที่เราไม่ได้เพิ่มต้นทุนอะไรเลย” คุณเล็ก เล่าถึงความประทับใจในทีมงานเจียไต๋

องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ช่วยควบคุมต้นทุนได้ดี
สร้างความมั่นใจในอาชีพ

โดยทั่วไปแล้ว การปลูกข้าว “นาปี” จะให้ผลผลิตสูงกว่าข้าว “นาปรัง” เนื่องจากเป็นการปลูกตามฤดูกาล จึงมีสภาพอากาศที่เหมาะสม และได้รับปริมาณน้ำเพียงพอมากกว่าการปลูกนอกฤดู แต่สำหรับการทำนาปรังของคุณเล็ก ถือว่าให้ปริมาณข้าวที่ค่อนข้างสูงและมีความสม่ำเสมอ ทำให้เกษตรกรสามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ สร้างความมั่นใจในอาชีพมากขึ้น

คุณเล็ก เล่าว่า หลังจากที่ได้รับองค์ความรู้ในการทำนาจากทีมเจียไต๋ ทำให้ตนเองรู้สึกว่า “การทำนานั้นก็ไม่ได้แย่” หากเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปลูก มีการบำรุงและป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างถูกวิธี และตรงจุด ไม่ใช้ซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง ก็ช่วยทำให้เราควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้นด้วย

“เมื่อก่อนพี่ยังไม่มีความรู้ พอข้าวไม่เขียวก็ใส่ปุ๋ยเพิ่ม ทำให้ต้นทุนสูง แต่ผลผลิตกลับไม่ได้ดีตามไปด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าพืชนั้นขาดธาตุอาหารอะไร หรือเป็นโรคอะไรหรือเปล่า พอตอนนี้เราเรียนรู้แล้ว เวลาทำนาแต่ละรอบก็รู้สึกอุ่นใจขึ้น มีความกล้าลงทุนในอาชีพตัวเองมากขึ้น เลยขยายนาจากเดิม 10 ไร่ จนปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 106 ไร่แล้ว และยังสามารถนำรายได้ไปต่อยอดเปิดร้านเคมีภัณฑ์เล็กๆ ได้อีกด้วย ซึ่งตรงนี้พี่ภูมิใจมาก” คุณเล็ก เผยถึงประสบการณ์ให้ฟัง

เวลาพูดถึงการทำนา หลายคนนึกถึงคำพูดที่ว่า “ทำนามีแต่ซังกับหนี้” แต่เส้นทางอาชีพของคุณเล็ก นั้นได้พิสูจน์ความสำเร็จแล้วว่า “สามารถมีวันนี้ได้ด้วยการทำนา” ผ่านการปรับปรุงวิธีการบำรุง-ดูแลรักษาข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต เปิดใจใช้หลักวิชาการเข้าช่วย เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างผลกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด