มะตูม พืชพันธุ์แก่ง ผลกินได้ ใบกินดี

หลังบ้านพักมีต้นมะตูม (ชื่อวิทยาศาสตร์ Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb. ชื่อสามัญ bael วงศ์ : Rutaceae อยู่หนึ่งต้น มะตูมต้นนี้ยืนอยู่อย่างสงบท่ามกลางต้นขนุน ต้นส้มจี๊ด และต้นอื่นๆ ริมห้วยบ้องตี้ ซึ่งชื่อนี้เป็นภาษามอญหมายถึง แข้งขาอ่อนล้า มีข้อสันนิษฐานว่า บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ของคนมอญ ก่อนที่จะมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จะโยกย้ายข้ามแดนเข้ามาอยู่เช่นนี้ ต้นมะตูมได้เกิดมาตอนไหนคงยากจะมีผู้ยืนยัน เพราะมันยืนสูงทักทายหมู่เหล่าต้นหมากที่ยืนอยู่ใกล้กัน

เมื่อตอนที่ผมกลับบ้านผมได้นำลูกมะตูมกลับมาด้วย หลายปีผ่านไปมะตูมหลังบ้านยายได้ออกลูกผล ทุกครั้งที่มันผลิดอกออกผล เมื่อผมเก็บมาบ้านแล้วนำไปฝากใครอีกหลายคน มักจะถูกถามว่าเอามะตูมมาจากไหนถึงได้อร่อยเช่นนี้ ผมเห็นว่าคงจะไม่เกินจริงเพราะเท่าที่จำความได้ มะตูมที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ นั้น เมื่อผ่าผลมะตูมที่มีเปลือกแข็งๆ ออกด้านในจะเป็นยางเหนียวเหมือนกาว มีเนื้อสีเหลืองและเมล็ดจำนวนมาก การกินมะตูมจะมีความรู้สึกว่าส่วนที่ติดกับเนื้อเมล็ดนั้นเหนียวเหมือนกาว ดังนั้น พวกเราก็มักจะเอากาวที่ได้จากมะตูมนั้นไปใช้ติดกระดาษกับไม้ไผ่เวลาทำว่าว.

เมื่อผมนำผลมะตูมไปให้แม่ แม่ก็เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนได้ต้มมะตูมลูกๆ มักจะแย่งกันกินเสมอ เพราะติดใจรสชาติของมัน แต่ลูกมะตูมลูกนี้มีเนื้อร่วน แม่ผ่ามะตูมดิบผลนั้น โดยไม่ต้องต้มยังมีเมล็ดเป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะให้ได้เติบโตต่อไปภายภาคหน้าได้อีกหลายต้น

ทุกครั้งที่ผมก้าวเดินอยู่ใต้ต้นมะตูม กลิ่นหอมๆ จากลูกผลสุกจะส่งกลิ่นหอมมาทักทาย ผมคิดถึงเรื่องราวต่างๆ มากมาย แม้วันเวลาผ่านไปอีกหลายปี เมล็ดพันธุ์มะตูมเหล่านั้นได้ผลิดอกออกผลในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ไม่รวมไปถึงรสชาติที่ใครๆ ต่างชื่นชมยกย่องเหนือสิ่งอื่นใดก็กลายเป็นความทรงจำมากมายในสนาม ที่เป็นบ้านเกิดที่แท้ของมะตูม

มะตูมมีสองอย่าง

หนึ่ง มะตูมเนื้อในเหนียวเป็นยางก่อนจะกินต้องต้มก่อนถึงจะนำมากินได้

สอง มะตูมเนื้อในไม่เหนียวนั่นคือพันธุ์ที่ผู้เขียนนำมาจากพื้นที่วิจัยตอนทำงานและเรียนที่บ้านบ้องตี้บน ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ลูกมะตูมนอกจากเนื้อจะอร่อยกินธรรมดา โดยไม่ต้องต้มก็ได้ถ้าเป็นแบบที่ไม่เหนียวนะครับ แต่ถ้าเป็นแบบเหนียวต้องต้มก่อน ใบมะตูมแบบอ่อนถึงปานกลางสามารถนำมากินกับลาบหรือน้ำพริกได้ ดังนั้น เวลาทำลาบ ก้อยต่างๆ จึงมีใบมะตูมให้กินได้ตลอดปีครับ หากไม่เบื่อซะก่อน มะตูมเป็นพืชพันธุ์แกร่งทนแล้งได้ดีครับ เพราะตอนที่ผู้เขียนนำลูกมะตูมกลับมาบ้านก็ประมาณปี 2546-2547 ตอนนั้นผู้เขียนทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในโครงการมิติสังคมศาสตร์ มาลาเรีย ของอาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หลังจากนั้นผู้เขียนก็มีต้นมะตูมอยู่ที่บ้านขอนแก่น โดยปลูกไว้ที่ไร่หลายต้น มีต้นใหญ่ 3-4 ต้น เป็นไม้ขนาดกลาง ทนแล้งเพราะมีหนามด้วยจึงทนทายาดไม่กลัวแล้ง

มะตูมมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น มะปิน (ภาคเหนือ) กะทันตาเถร ตุ่มตัง ตูม (ปัตตานี) มะปีส่า (แม่ฮ่องสอน) พะโนงค์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางผลัดใบสูง 10-15 เมตร

สรรพคุณ

ผล เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องเสีย แก้โรคกระเพาะอาหาร ต้มดื่มแก้เสมหะ

ยางจากผล ใช้ติดกระดาษแทนกาว

ใบสด แก้หลอดลมอักเสบ แก้หวัด กินเป็นผัก

เปลือกรากและต้น รักษาไข้มาลาเรีย ขับลมในลำไส้

ราก เป็นยาแก้ปากเปื่อย ขับเสมหะ

มะตูมมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ถือว่าเป็นไม้มงคลของศาสนาฮินดู เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ ส่วนบ้านเราเชื่อว่ามะตูมเป็นพืชมงคลสามารถนำมาป้องกันผีและสิ่งอัปมงคลต่างๆ “ตอนแม่ไปอินเดียก็เคยเห็นต้นมะตูมเขาปลูกตามบริเวณบ้านเป็นจำนวนมาก เขาจะปลูกเอาไว้ตามโบราณสถาน ที่บ้านหมอชีวก โกมารภัจจ์ ที่เคยรักษาพระพุทธเจ้าก็มี ต้นไม้เขาจะรักษาเอาไว้ไม่ทำลาย” แม่ชีสมหมาย หงอกสิมมา อายุ 79 ปี เคยเดินทางไปทำบุญที่วัดไทยในอินเดียหกครั้ง ตั้งปี 2557-2562 วัดป่าปภาโส  บ้านโนนฆ้อง ตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ให้ข้อมูล

ต้นมะตูมโตวันโตคืน หลังจากนำมาปลูกหลายปี 7-8 ปี จนผู้เขียนเรียนจบปริญญาโท สาขาลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้กลับไปที่หมู่บ้านติดชายแดนด้านทิศตะวันตกติดชายแดนแห่งนี้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของต้นมะตูมที่ได้นำลูกกลับมาบ้าน จนให้ลูกผลมากมาย และทำให้ความทรงจำดีๆ เมื่อครั้งอยู่บ้องตี้ยังคงได้ถูกกล่าวถึงเรื่อยๆ อันมาจากลูกผลและใบของมะตูม