ปุ๋ยเงินล้าน ทุเรียนร่วงทำปุ๋ยหมัก

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด เล่าว่า กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จังหวัดตราด ได้รับผลกระทบจากลมพายุ ส่งผลให้ผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองผลผลิต ในอำเภอเมืองตราด 3 ตำบล คือ ตำบลชำราก 4 หมู่บ้าน ผลผลิตร่วงประมาณ 1,500 ลูก ตำบลตะกาง 3 หมู่บ้านประมาณ 7,000 ลูก ตำบลท่ากุ่ม จำนวน 1 หมู่บ้าน ประมาณ 7,000 ลูก รวม 15,500 ลูก เป็นทุเรียนระยะกำลังพัฒนา อายุประมาณ 70 วัน ขนาดน้ำหนัก 0.5-2 กิโลกรัม เหลืออีก 40-50 วัน จะเริ่มแก่ตัดได้

ลักษณะของผลทุเรียนที่ร่วงหล่นเริ่มเข้าเนื้อแต่ไม่สามารถนำมาใช้รับประทานได้ ความเสียหายประมาณ 5-6 ล้านบาท เมื่อรับทราบความเสียหาย คุณลำยอง ครีบผา เกษตรอำเภอเมืองตราด ได้เข้าไปให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย พร้อมกับทีมงานของ คุณอภิเดช บุญล้อม นายกเทศบาลตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด นำรถเครื่องย่อยกิ่งไม้บดสับ 1 คัน พร้อมวัสดุที่ทำปุ๋ยหมัก เข้าไปช่วยเหลือแนะนำการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผลทุเรียนที่ร่วงหล่น ที่ไม่สามารถนำไปขาย นำมาใช้ประโยชน์ โดยกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดร่วมกับเทศบาลตำบลตะกาง ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมัก โดยใช้เครื่องบดสับผลทุเรียนและนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ให้เกษตรกรเจ้าของสวนนำไปใช้บำรุงดิน

คุณอภิเดช กล่าวว่า การนำผลทุเรียนอ่อนมาทำปุ๋ยหมักคิดในเรื่องความคุ้มค่า เทียบกับการซื้อปุ๋ยหมัก หรือนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมักไม่ได้เลย เพราะมูลค่าทุเรียนเมื่อสุกอายุ 110-120 วัน ตัดขายขนาดลูกละ 4-5 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยลูกละ 500 บาทจำนวน 15,500 ลูก จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าประมาณ 5-6 ล้านบาทเศษ แต่เป็นการให้กำลังใจเกษตรกรตามที่ คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กำชับมาให้หาทางช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งทุเรียนจังหวัดตราดออกก่อนการที่มีทุเรียนหล่นเกรงจะมีปัญหาเรื่องราคา และตามความเสียหายที่ภาครัฐจะช่วยเหลือเกษตรกรไม่เข้าข่าย “เสียหายโดยสิ้นเชิง” จะไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด พวกเราจึงตั้งชื่อกันว่าเป็น “ปุ๋ยหมักเงินล้าน” แต่การใช้เครื่องบดสับที่เทศบาลเพิ่งซื้อมาย่อยกิ่งไม้บดสับ วัชพืชทำปุ๋ยอยู่แล้ว มาใช้กับการทำปุ๋ยคอกทุเรียนในสวนของเกษตรกรทั้ง 3 สวนที่มีความต้องการความช่วยเหลือ สามารถใส่ทุเรียนเป็นลูกๆ ได้เลย ทำให้การย่อยผลทุเรียนเป็นชิ้นย่อยได้เร็วขึ้นและถ้าไม่กำจัดทุเรียนหล่นอย่างรวดเร็วมีโอกาสที่จะเกิดโรคไฟทอปเทอร่า (Phytophthora) ตกค้าง เป็นผลเสียอย่างร้ายแรงกับทุเรียนในสวน

Advertisement

คุณกัณฑรีย์ บุญตูบ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตราด อธิบายว่า การทำปุ๋ยคอกมีหลายสูตรที่เกษตรกรทำใช้เอง สิ่งที่ต้องเตรียม คือ : วัตถุดิบทุเรียนที่โม่บดสับแล้ว 1 ส่วน ปุ๋ยคอกขี้ไก่ผสมแกลบ 1 ส่วน รำละเอียด 0.5 พด.1 จำนวน 1 ซอง ละลายน้ำ และน้ำหมักปลาสำหรับราดขณะคลุกเคล้า

Advertisement

วิธีทำ ควรทำในที่โล่งไม่ใกล้ต้นไม้เพราะกองปุ๋ยจะมีความเค็มต้นไม้อาจตายได้ ใช้ผ้ายางรองปูพื้น นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากันขณะคลุกใช้น้ำหมักปลาราดพอชุ่ม จากนั้นกองไว้หาใบไม้ปิดไว้เพื่อให้เกิดความร้อนจุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาย่อยสลาย ประมาณ 15 วันให้กลับกองปุ๋ย 1 ครั้ง และทิ้งไว้รวมๆ ประมาณ 45 วัน จุลินทรีย์จะย่อยสลายทั้งหมดนำไปใช้ได้แต่ต้องตรวจสอบให้ปุ๋ยเย็นก่อน