เครื่องฉีดพลาสติกจากขยะ นวัตกรรมรักษ์โลก เพิ่มมูลค่าจากพลาสติก

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 25

คุณพรหมโรจน์ วิมลกุล

ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน หรือร้อยละ 75 ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ โดยส่วนใหญ่จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พลาสติกที่ถูกนำมาสร้างมูลค่า

ในปี 2563 ได้มีการศึกษาปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า มีขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของปริมาณขยะพลาสติกเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันในสถานการณ์ปกติ เมื่อปี 2562 (ปี 2562 มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ย 2 ล้านตัน หรือประมาณ 5,500 ตันต่อวัน) เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ประกอบกับการคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อนำมารีไซเคิลน้อยลง เนื่องจากหวั่นเกรงมูลฝอยติดเชื้อที่ทิ้งปะปนมากับขยะมูลฝอยชุมชน

พวงกุญแจขยะพลาสติก

ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากผู้บริโภคที่ไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอย ไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล และมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง โดยขยะพลาสติกจะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ ซึ่งขยะพลาสติกมีความคงทนและสามารถทนต่อแรงอัดได้สูง จึงใช้พื้นที่ในการฝังกลบมากกว่าขยะประเภทอื่น อีกทั้งยังใช้เวลาในการย่อยสลายนับร้อยปี ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและพื้นที่ฝังกลบ

ที่รองแก้ว

นอกจากนี้ ปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกกระจัดกระจายทั่วไป มักก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขยะลอยในแม่น้ำ ลำคลอง บางส่วนไหลลงสู่ทะเล ก่อให้เกิดปัญหาเศษขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก พบการแพร่กระจายในทะเลทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

พลาสติกที่ถูกแปรรูปให้มีมูลค่า

คุณพรหมโรจน์ วิมลกุล หนุ่มมากฝีมือ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ที่เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปให้กับขยะพลาสติก จึงประดิษฐ์และคิดค้น “เครื่องฉีดพลาสติกจากขยะ” นวัตกรรมที่แฝงด้วยคุณค่าและสร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะให้กับชุมชน โดยย่อขนาดของเครื่องฉีดพลาสติกในระบบอุตสาหกรรม ให้สามารถใช้งานได้ในชุมชน โดยใช้ขยะพลาสติกในชุมชนเป็นวัตถุดิบ เพื่อแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นสินค้าและของที่ระลึกสำหรับชุมชน

“เริ่มจากช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด พลาสติกก็พุ่งขึ้น ช่วงก่อนโควิดก็จะมีการรณรงค์ในเรื่องการลดใช้พลาสติก พอช่วงโควิดมีการชัตดาวน์เกิดขึ้น ขยะพลาสติกก็พุ่งสูงขึ้นมาก รวมถึงจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ก็จะมีเรื่องของปัญหาขยะชายหาดที่มีจำนวนมาก และก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วงนั้นเราก็ไปร่วมกับองค์กรเก็บขยะตามชายหาด ก็ลองไปเก็บขยะชายหาดกับเขาดูนานหลายเดือน เราก็เริ่มสังเกตว่าขยะมันไม่เคยลดลงเลย เราก็เลยกลับมาคิดใหม่อีกครั้งว่าทำไมขยะถึงไม่ลดลงเลย และได้มีโอกาสไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อมูลจริงๆ ว่า จำนวนขยะของจังหวัดภูเก็ตล้นเตาเผาเยอะมากต่อวัน จึงได้แนวคิดว่าเราจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางดีกว่า บวกกับช่วงนั้นขยะเยอะมาก ราคาร่วง กิโลกรัมละ 3-4 บาท แบบนี้ ซาเล้งก็ไม่อยากได้ คนเก็บขยะก็ไม่ได้อยากได้ขยะพลาสติก เพราะขายแล้วไม่ได้ราคา โชคดีที่มีหน่วยงานของต่างประเทศเดินทางมาในพื้นที่ เราก็ถูกแนะนำในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงรู้ว่าขยะเหล่านี้สามารถนำมารีไซเคิลได้ครับ”

ในด้านของกลไกการทำงาน คุณพรหมโรจน์ บอกว่า จะเป็นระบบเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งขั้นตอนแรกจะต้องมีการนำขยะพลาสติกที่ได้มานั้นทำความสะอาดก่อน จากนั้นจะนำเข้าเครื่องบดและต่อด้วยเครื่องฉีดโดยย่อขนาดของเครื่องฉีดพลาสติกในระบบอุตสาหกรรม ให้สามารถใช้งานได้ในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“จริงๆ กลไกการทำงานเป็นระบบแบบโรงงานอุตสาหกรรมเลยครับ โดยเราจะต้องนำขยะพลาสติกมาทำความสะอาดก่อน จากนั้นเข้าเครื่องบด พอเข้าเครื่องบดเสร็จ ก็จะเข้าเครื่องฉีดต่อครับ ก็จะเป็นการจำลองเครื่องฉีดในระบบอุตสาหกรรมเลยครับ แต่ของเราสามารถใช้ภายในชุมชนได้”

เมื่อสอบถามไปยังผลตอบรับที่เกิดขึ้น คุณพรหมโรจน์ เล่าต่อว่า ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ในการส่งขยะพลาสติกมา เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าและของที่ระลึกสำหรับชุมชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำสิ่งที่ดีต่อโลกใบนี้ รวมถึงมีความสุขทุกครั้งที่ได้ส่งต่อความรู้แก่ประชาชนในชุมชน ให้รู้ว่าขยะเหล่านี้มีค่า สามารถนำมาสร้างให้มีมูลค่าเพิ่มได้

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมเครื่องฉีดพลาสติกจากขยะ สามารถติดต่อสอบถาม คุณพรหมโรจน์ วิมลกุล ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Poonsook.Craft หรือเบอร์โทรศัพท์ 093-327-9184 คุณพรหมโรจน์ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่านที่สนใจค่ะ