“มิตรผล” ถอดโมเดลออสซี่ปั้นชาวนาปลูกอ้อยประชารัฐ

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และผู้จัดการ เกษตรสมัยใหม่อ้อยประชารัฐ กล่าวว่า มิตรผลเห็นศักยภาพพื้นที่ปรับเปลี่ยนนาข้าว จึงเริ่มเข้าสนับสนุนเกษตรสมัยใหม่แปลงใหญ่อ้อย จังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยหลักการนวัตกรรมวิจัยรวมกลุ่มผลิตในพื้นที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ เริ่มต้นใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเสนางคนิคม และ อำเภอหัวตะพาน เป้าหมาย 6,000 ไร่ พบว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรมากกว่า 543 ราย พื้นที่ 7,760 ไร่ มีเป้าหมายสร้างรายได้ให้เกษตรกร 12,000-15,000 บาท/ไร่ และมีแผนขยายโครงการไปยัง จังหวัดยโสธร พื้นที่รวม 5 หมื่นไร่ ผลผลิตอ้อยทั้งหมดโรงงานจะรับซื้อและดูเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกร พร้อมเงินช่วยเหลือค่าปรับล้มคันนา ขณะเดียวกันยังได้นำนวัตกรรมการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาปรับใช้ โดยถอดแบบเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลีย ด้วยทฤษฎี 4 เสาหลัก ปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ควบคุมแนววิ่งของรถ และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ลดต้นทุน 25%

“ถ้ามองระดับจีดีพี จังหวัดอำนาจเจริญแล้วแทบจะอยู่อันดับท้ายๆ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ด้วยวิสัยทัศน์ประธาน อิสระ ว่องกุศลกิจ จึงเล็งเห็นการยกระดับเกษตรสมัยใหม่ด้วยศักยภาพพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ ยังสามารถปลูกอ้อยได้อีกมาก และเป็นอีกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกเหนือจากพืชหลักข้าวที่มักเจอภัยธรรมชาติทำให้ราคาผันผวน โดยมิตรผลได้นำนวัตกรรมใหม่ถอดโมเดลจากออสเตรเลียลดต้นทุนได้เยอะ นโยบายประชารัฐจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงพัฒนาจังหวัดในอีกทาง”

ด้าน นายชาญชัย สุภิวงศ์ เกษตรกรเข้าร่วมอ้อยประชารัฐ กล่าวว่า ปลายปี 2559 ได้เริ่มปรับพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อย จนเข้าร่วมโครงการเกษตรสมัยใหม่ เนื่องจากว่าได้นำเอารูปแบบเทคโนโลยี Mitrphol Modern Farm มาปรับใช้ พบว่าเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 25 จากผลผลิตเดิม 12 ตัน/ไร่ เพิ่มเป็น 15 ตัน/ไร่ พร้อมทั้งมิตรผลเข้ามาประกันราคาตลาดที่แน่นอน ตามราคาอ้อยโรงงาน 1,050 บาท/ไร่ และอ้อยพันธุ์ 1,200 บาท/ตัน และค่า C.C.S. ความหวานเกิน 10 ราคาเพิ่ม C.C.S.ละ 63 บาท

“ก่อนการรวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรยังไม่มั่นใจ เพราะอาจจะยังไม่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมาใช้จึงเป็นแรงจูงใจ เพราะในช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยยังมีรายได้จากพืชตระกูลถั่ว ปอเทือง ที่รัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน”

ทั้งนี้ โครงการเกษตรสมัยใหม่ อ้อยประชารัฐ มี 2 แห่ง คือ จังหวัดสุโขทัย เอกชนที่เข้าร่วม กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ และ จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่ม บริษัท มิตรผล

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวระหว่างลงพื้นที่อ้อยประชารัฐ จังหวัดอำนาจเจริญว่า ความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชอ้อเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Chash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวคืออ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือแปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก.882 ศูนย์ทั่วประเทศจะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร

 

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ