ตามติดผลธนาคารหม่อนไหม ช่วยเกษตรกรสร้างรายได้ มีเส้นไหมผลิตตลอดปี

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามโครงการธนาคารปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม ปี 2560   เผย เกษตรกรในชุมชนตอบรับเป็นอย่างดี ช่วยให้เกษตรกรมีเส้นไหมใช้ในการผลิตผ้าไหมได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีใบหม่อนเลี้ยงไหม โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้เสริมอีกทาง

นางสาวรังษิต  ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามการดำเนินงานโครงการธนาคารปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม (เส้นไหม) ปี 2560 พบว่า ขณะนี้ธนาคารได้รับการสนับสนุนเส้นไหมไปแล้วจำนวน 416 กก. และเกษตรกรมีการยืมเส้นไหมจากธนาคารไปบ้างแล้ว  โดยเกษตรกรมีต้นทุนในการทอผ้า เฉลี่ยเมตรละ 500 – 1,200 บาท ขึ้นอยู่กับลายผ้า (ไม่รวมค่าแรงในการทอ) และเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาเมตรละ 1,500 – 1,800 บาท

สำหรับภาพรวม เกษตรกรพึงพอใจต่อนโยบายการสนับสนุนให้มีธนาคารในชุมชนในระดับมาก เนื่องจากช่วยให้เกษตรกรมีเส้นไหมใช้ในการผลิตผ้าไหมได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่มีใบหม่อนเลี้ยงไหม และเส้นไหมมีราคาสูง ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตผ้าไหมหรือนำผ้าที่ทอได้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้มีรายได้เสริมให้กับครอบครัว มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารปัจจัยการผลิตด้านหม่อนไหม ปี 2560 ดำเนินการจัดตั้งขึ้น 6 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่       จังหวัดสกลนคร  นครพนม อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม และชัยภูมิ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งเส้นไหมที่มีคุณภาพดีสำหรับการทอผ้าอย่างเพียงพอ โดยกรมหม่อนไหมสนับสนุนเส้นไหมตั้งต้นให้กับธนาคาร เพื่อให้สมาชิกไปบริหารจัดการภายในชุมชน เกษตรกรสมาชิกสามารถยืมเส้นไหมไปทอผ้า เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดนำเส้นไหมหรือเงินมาคืนตามข้อตกลงและระเบียบของแต่ละธนาคาร