กิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล และกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับเยาวชน

กิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล และกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับเยาวชน                       เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 รศ.ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เกษตรหนึ่งใจ กองงาน “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ โครงการตามพระดำริในพระองค์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ร่วมกับพันธมิตร หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา พันเอกกฤตพันธุ์ รักใคร่ ที่ปรึกษา กองงาน “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ และผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) จังหวัดพิษณุโลก คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด และ บริษัท ฮงฮวด จำกัด ร่วมแรงร่วมใจกันจัดกิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล และกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับเยาวชน เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2560

กิจกรรมถวายพระพรชัยมงคล และกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับเยาวชน เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ เป็นคนดี มีการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุข โดยน้อมนำแก่นแท้ของแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปปฏิบัติ โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นลูกหลานเกษตรกร จะได้น้อมนำแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการดำรงชีวิตให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แนะแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน ให้แก่กำลังพลของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือนักรบสีน้ำเงิน ผู้เป็นที่รักของประชาชน เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ซึ่งจะส่งผลดีต่อด้านเกษตรกรรม ด้านพัฒนาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จะเน้นย้ำและแนะนำแก่นแท้ของแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สู่การปฏิบัติจริง

โครงการ “เกษตรหนึ่งใจ อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน” โดยความร่วมมือกับ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก ตรา “ศรแดง” ซึ่ง คุณอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ได้ส่งทีมวิทยากร มอบเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านนานาชนิด สำหรับจัดทำสถานีอนุรักษ์ผักพื้นบ้านต้นแบบ แห่งแรกที่ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 จังหวัดพิษณุโลก และได้ให้การอบรมเยาวชนเกี่ยวกับการปลูกผักพื้นบ้าน เพื่อให้เยาวชนรู้จักผักพื้นบ้านชนิดต่างๆ ซึ่งหลายชนิดมีคุณค่าด้านอาหารและโภชนาการสูง รวมทั้งได้ซึมซับวัฒนธรรมการเพาะปลูกผักพื้นบ้านที่มีเฉพาะในประเทศไทย จึงถือเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ อีสท์ เวสท์ ซีด ตระหนักในเรื่องนี้ และหวังใจว่า โครงการ “เกษตรหนึ่งใจ อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน” จะเป็นแรงกระตุ้นการเพาะปลูกและอนุรักษ์สายพันธุ์ผักพื้นบ้านให้แก่เด็กเยาวชน และคงอยู่คู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน นอกจากจะเป็นความร่วมมือจาก บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด แล้ว ยังได้รับความร่วมมือจาก คุณพรศักดิ์ พงศาปาน หรือ ลุงพร สอนอาชีพ แบรนด์แอมบาสเดอร์ผักพื้นบ้าน ที่จะช่วยต่อยอดการสร้างอาชีพและการตลาด เพื่อจุดประกายการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงให้แก่เยาวชนต่อไป

ในกิจกรรมดังกล่าว คุณรัตนพล ตั้งตรงศักดิ์ และทีมวิทยากรจาก บริษัท ฮงฮวด จำกัด ร่วมกันจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เกษตรหนึ่งใจ ครบเครื่องกับฮงฮวด” หัวข้อ การผลิตแชมพู สบู่เหลวอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า และเจลล้างมือ ด้วยการประยุกต์ใช้สมุนไพรในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้เสริม ทำให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้สมุนไพรพื้นถิ่นสำหรับทำผลิตภัณฑ์ใช้เองในครัวเรือน และสามารถต่อยอดผลิตจำหน่ายในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนได้ ทั้งนี้เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้ยั่งยืนอยู่คู่กับประเทศไทยตราบนานเท่านาน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการดำรงชีวิตให้เกิดการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แนะแนวทางการประยุกต์ใช้ผลผลิตทางการเกษตรและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางเกษตรให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ซึ่งจะส่งผลดีต่อด้านเกษตรกรรม ด้านพัฒนาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติจริง การอบรมประกอบด้วย ความรู้เบื้องต้น และหลักการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องใช้ประจำบ้าน เพื่อประยุกต์ใช้กับสมุนไพรประจำท้องถิ่น และการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นถิ่น การผลิตแชมพู สบู่เหลวอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เจลล้างมือ

รศ. ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เกษตรหนึ่งใจ กองงาน “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ขอเชิญชวนชุมชนผู้สนใจ เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของศูนย์เกษตรหนึ่งใจ อาทิ โครงการ “เกษตรหนึ่งใจ ให้พี่เลี้ยง” เป็นโครงการที่ขอเชิญชวนผู้มีความพร้อม สมัครเป็นพี่เลี้ยงและสถานที่ศึกษาดูงาน โครงการ “เกษตรหนึ่งใจ อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน” เป็นโครงการที่ร่วมกันอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรมไทยและต่อยอดผักพื้นถิ่นในภาคต่างๆ โครงการ “เกษตรหนึ่งใจ จุดประกายให้เยาวชน อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน” เป็นโครงการที่จะปลูกฝังให้เยาวชน น้อมนำแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักการดำรงชีวิตให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจุดประกายการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงให้แก่เยาวชนต่อไป

ในโอกาสดังกล่าว พันเอกกฤตพันธุ์ รักใคร่ เปิดเผยว่า นอกจากนำเยาวชนทำความดีดังกล่าวแล้ว ล่าสุดมีครอบครัวหนึ่ง ซึ่งพิการทั้งลูก ทั้งพ่อ ได้เดินทางมาหาตนถึงภายในหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 บอกว่า ลำบาก ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ตนจึงมอบข้าว และเงินไปจำนวนหนึ่ง จากนั้นได้แจ้งข่าวความเดือดร้อนส่งไปยังกลุ่มเพื่อนๆ ทางไลน์ และเฟซบุ๊กเพื่อระดมให้การช่วยเหลือต่อ ทำให้มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคข้าวของเครื่องใช้ แพมเพิร์สแก่นางลำไพในวันนี้ เพื่อนำไปดูแลลูกชายที่พิการต่อไป

นางลำไพ ทัดดวง อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 287 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวว่า ตนทำงานแม่บ้าน ส่วนสามีคือ นายประทุม เพชรทอง อายุ 52 ปี เป็นยามที่องค์การโทรศัพท์พิษณุโลก มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ ด.ช.ทิติวัฒน์ เพชรทอง อายุ 5 ขวบ สภาพร่างกายพิการมาตั้งแต่เกิด เนื่องจากเป็นโรคศีรษะโต เคยผ่าตัดที่ศีรษะ 4 ครั้ง เพื่อต่อท่อจากศีรษะให้น้ำระบายออกทางกระเพาะปัสสาวะ และเป็นโรคกรดไหลย้อนอย่างรุนแรงจนเกิดอาการชัก นอกจากนั้นยังต้องผ่าตัดช่องท้องอีกหลายครั้ง เพราะลำไส้ตัน จนเกิดอาการลำไส้เน่า ต้องให้อาหารทางสายยางทางหน้าท้องแทน และยังต้องเจาะคออีก เนื่องจากหลอดลมตีบทำให้กินอาหารทางปากไม่ได้ ปัจจุบันต้องไปพบแพทย์ตามนัดประมาณเดือนละครั้ง หรือขึ้นอยู่กับอาการ หากมีการชักเกร็งบ่อยต้องพาไปหาหมอทันที “ทุกวันนี้ฉันรับภาระค่าใช้จ่ายดูแลลูกชายค่อนข้างสูง จนเดือดร้อนมาก ทั้งเรื่องอาหารที่ต้องซื้อมาให้ลูก วันละ 70 บาท ค่าผ้าออมแพมเพิร์ส เดือนละ 800-900 บาท นอกจากนั้น ยังมีค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ดูแลรักษาลูก” นางลำไพ กล่าวว่า ต่อมาสามีตนมีอาการวูบหมดสติหลายครั้ง หลังจากไปพบแพทย์ พบว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติ ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโรคทรวงอก จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับใส่กล่องช่วยการเต้นของหัวใจเอาไว้บริเวณหน้าอก เพื่อให้หัวใจเต้นตามปกติ

“ตอนนั้นยังมีประกันสังคมในการรักษา ต่อมาได้มาเปลี่ยนกล่อง 2 ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ใช้สิทธิบัตรทอง ส่วนการจะเปลี่ยนกล่องหัวใจแต่ละครั้งแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย โดย 6 เดือน จะมาตรวจครั้งหนึ่ง จึงทำให้สามีไม่สามารถทำงานได้เหมือนปกติ” นางลำไพ กล่าวอีกว่า ทุกวันตนต้องให้สามีเป็นคนดูแลลูก ส่วนตนจะออกไปรับจ้างล้างจาน วันละ 280 บาท หลังจากเลิกงานจะกลับมาดูแลลูก ส่วนสามีจะออกไปเก็บของเก่าตามกองขยะเอาไปขายหาเงินมาช่วยเหลืออีกทาง แต่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน จึงอยากวิงวอนผู้ใจบุญช่วยเหลืออีกทาง

ผู้สนใจร่วมกิจกรรม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ รศ.ดร. จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ (อาจารย์แมว) สำนักงานศูนย์เกษตรหนึ่งใจ กองงาน “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทรศัพท์ (083) 559-8448 (หมายเลขเจ้าหน้าที่กองงานฯ) อีเมล [email protected] ไลน์ ไอดี microku หรือ ajmaew