เข้าใจผิด เข้าใจใหม่ กินข้าวไม่ได้ทำให้อ้วน

จากที่เชื่อกันว่าการกินข้าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อ้วน จนกลายเป็นทัศนคติที่นำไปสู่พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงจัดโครงการประกวดคลิปสั้น ในหัวข้อ “อ้วนไม่อ้วนไม่เกี่ยวกับข้าว” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริโภคข้าวผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนหันมาสนใจข้อมูลด้านโภชนาการของข้าวมากยิ่งขึ้น และปรับความเข้าใจผิดเรื่องข้อมูลที่ปลูกฝังว่า กินข้าวแล้วทำให้อ้วน

จากการศึกษาตารางโภชนาการอาหารเปรียบเทียบแคลอรี จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อาหารแต่ละชนิดที่ปริมาณ 100 กรัม เท่ากัน ข้าวให้พลังงาน 133 กิโลแคลอรี ในขณะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแบบเดียวกัน เช่น ขนมปัง ให้พลังงาน 267 กิโลแคลอรี เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้พลังงาน 400 กิโลแคลอรี ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ให้พลังงาน 160 กิโลแคลอรี ซึ่งล้วนให้พลังงานสูงกว่าการกินข้าวทั้งสิ้น

แม้กระทั่งอาหารคลีนที่นิยมรับประทานกัน ก็มีแคลอรีสูงกว่าข้าวในปริมาณที่เท่ากัน แบบที่ทุกรนอาจจะนึกไม่ถึง อาทิ อกไก่ไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 173 กิโลแคลอรี เนื้อปลาไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 173 กิโลแคลอรี เนื้อวัวไม่ติดหนัง ให้พลังงาน 233 กิโลแคลอรี หมูย่าง ให้พลังงาน 333 กิโลแคลอรี

จะเห็นได้ว่าการกินข้าวไม่ได้ทำให้อ้วนอย่างที่คิด แต่สาเหตุที่ทำให้อ้วนนั้นเป็นเพราะใช้พลังงานน้อยกว่าสิ่งที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ในขณะเดียวกันคนที่เข้าใจผิดว่ากินข้าวแล้วอ้วนนั้น บางคนไม่กินข้าว หรืออาหารจำพวกแป้งอื่นๆ เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไม่กินข้าวเลย ร่างกายจะขาดสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ขาดวิตามินบี ทำให้การเผาผลาญช้าลง ขาดพลังงาน จนอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด กินอาหารก็ไม่อยู่ท้อง ทำให้อยากกินจจุกจิก และเป็นสาเหตุที่ทำให้การควบคุมน้ำหนักยากมากขึ้นไปกว่าเดิม

นพ. คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ กล่าวว่า หลักการง่ายๆ ในการควบคุมน้ำหนัก คือต้องรักษาอินพุตให้เท่ากับเอาต์พุต จะอ้วนไม่อ้วยอยู่ที่การควบคุมปริมาณแคลอรีที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ซึ่งผู้หญิงไม่ควรให้น้อยกว่า 1,200 กิโลแคลอรี และผู้ชายไม่ควรน้อยกว่า 2,000 กิโลแคลอรี

การลดน้ำหนักที่ได้ผลระยะยาว น้ำหนักควรจะค่อยๆ ลดปริมาณ 0.5 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบร่างกายทั้งหมด สารอาหารทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ควรประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 50% ไขมัน 30% และโปรตีน 20% โดยให้พิจารณาจากไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่ามีการใช้พลังงานไปกับกิจกรรมต่างๆ มากน้อยเพียงใด เพื่อควบคุมปริมาณแคลอรีให้เหมาะสม

ด้าน พิมพ์อร โมกขะสมิต ฟิตเนสอินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดัง กล่าวว่า การควบคุมน้ำหนักที่ได้ผล นอกจากต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีข้ออ้างเรื่องเวลาแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องกินข้าวให้ครบทุกมื้อ ข้าวทำให้อิ่มนาน และทำให้ไม่อยากกินจุกจิก จึงทำให้ระหว่างวันเลือกกินอาหารโดยขาดสติ เช่น กินน้ำหวานและขนมปังแทนข้าวก็ทำให้อ้วนได้โดยไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้น โครงการนี้จึงต้องการสร้างกระแส สร้างการรับรู้ข้อเท็จจริง เปลี่ยนทัศนคติของคนไทยเรื่องการกินข้าว และชวนให้คนไทยหันมากินข้าวมากขึ้น ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนักเรียน นักศึกษา คือ ทีม “PSC Studio” จากโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย ส่วนผู้ชนะเลิศระดับบุคคลทั่วไป คือ ทีม “ช่างภาพเทคนิคกรุงเทพ” สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานคลิปวิดีโอทั้งหมดได้ผ่านทางเฟซบุ๊ก : อ้วนไม่อ้วนไม่เกี่ยวกับข้าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ