แจง ดัชนีรายได้เกษตรกร มิ.ย. ยังโต 6.21% ย้ำ ครึ่งปีหลัง ต้องเฝ้าระวังปัจจัยคุกคาม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย เดือนมิถุนายน 2560 ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มร้อยละ 6.21           คาด กรกฎาคมยังทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 59 ในขณะที่ครึ่งปีหลังยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากปัจจัยคุกคาม เช่น ผลผลิตคู่แข่ง เศรษฐกิจคู่ค้า และราคาน้ำมันดิบ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ลดลงร้อยละ 5.55 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มิถุนายน 2559)  โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากราคาส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ต่ำประกอบกับฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้หัวมันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์แป้งค่อนข้างต่ำ สับปะรดโรงงาน ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตามช่วงฤดูกาล ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น  และ สุกร ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง จากสภาพอากาศที่เย็นในช่วงฤดูฝน ทำให้สุกรโตเร็ว

สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการออกมาตรการร่วมกันเพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้น มังคุด ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่องจากช่วงต้นฤดูกาล ไก่เนื้อ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิต ไก่เนื้อออกสู่ตลาดใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค  สำหรับในเดือนกรกฎาคม 2560 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร คาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา สับปะรด มังคุด และสุกร

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มิถุนายน 2559) สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่  ข้าวเปลือก สับปะรดโรงงาน เงาะโรงเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมัน และ  กุ้งขาวแวนนาไม  สำหรับเดือนกรกฎาคม 2560 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร  คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เงาะโรงเรียน ลำไย และมังคุด

ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2559 ร้อยละ 6.21 จากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนเดือนกรกฎาคม 2560 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกร อยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2559 ถึงแม้ว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นแต่ดัชนีราคาลดลง  (มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา)