อึดฆ่าไม่ตาย

หลายเดือนก่อนเราคุยกันเรื่องสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่มีผลต่อชาวไร่ชาวนาในยูเครนแบบเลือดตากระเด็น บัดนี้สงครามยืดเยื้อมาเกิน 1 ปีแล้ว ระเบิดตูมตามไปทั้งประเทศยูเครน คนสงสัยว่าป่านนี้ไร่นามิแหลกลาญไปหมดแล้วหรือ

แหลกลาญอย่างน่าเศร้านั้นจริง จะมีอะไรน่าสลดหดหู่กว่าการที่ชาวบ้านตาดำๆ ทำมาหากิน หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เก็บหอมรอมริบ แล้ววันหนึ่งจู่ๆ ระเบิดลงตูม ทุกอย่างหายราบในพริบตา

ประเมินกันว่าพื้นที่เกษตรกรรมของยูเครนเสียหายไปกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ สงครามที่รัสเซียเริ่มขึ้น เหมือนไม่อยากให้มันจบเร็ว เพราะกระจายระเบิดไปทั่วประเทศ ไม่ได้เน้นจุดยุทธศาสตร์ใดๆ เป็นพิเศษ

ประเทศยูเครนซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงต้องสังเวยไร่นาวัวควายให้กับสงครามนี้อย่างมหาศาล

แต่ถามว่าชาวนาเขาซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักนี้ หมอบกระแตซับน้ำตาน่าสงสารไหม

ตอบด้วยความเคารพอย่างสุดหัวใจว่า ไม่เลย พวกเขายังเดินหน้าทำไร่นา ปลูกผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงแกะ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายต่อไปสุดแรง ไม่ใช่เพราะกลัวจะยากจนไม่มีกิน แต่ชาวไร่ชาวนายูเครนยืนยันว่าการเดินหน้าทำมาหากินต่อไปคือการต่อสู้อย่างหนึ่ง

Advertisement

“เขาทำลายไร่นาเราเพื่อให้เราหมดเนื้อประดาตัว เขาหวังว่าความอดอยากจะทำให้เรายกมือยอมแพ้ในที่สุด อย่าได้หวัง” เกษตรกรคนหนึ่งที่เมืองทูรัส ที่เราเคยพูดถึงไปเมื่อหลายเดือนก่อน ยืนยันอย่างนั้น

สงครามทำให้รายได้ประเทศลดลง 1 ใน 3 แม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่และเป็นประเทศผลิตข้าวสาลีระดับต้นๆ ของโลก แต่ยูเครนก็ยังเป็นประเทศยากจน และยิ่งยากจนลงเรื่องๆ จากสงคราม เงินสกุล Hryvnia ของยูเครน ตกต่ำที่สุดนับแต่ประเทศใช้เงินนี้มาตั้งแต่ปี 2539

Advertisement

ยูเครนหมดตัวไปกับสงครามจนตอนนี้ประเทศตกอยู่ในสถานะยากจนสาหัส รายได้ประชากรต่อหัวต่อคนอยู่ที่เดือนละราวหมื่นห้าพันบาท ขณะที่ของไทยอยู่ที่ราวสองหมื่น คือไทยที่ว่าแย่แล้วยังดีกว่านะ คิดดู

ลุงอิวาน มีฟาร์มอยู่ในเขตคีฟ ไม่ไกลจากเมืองหลวง ลุงทำสวนทำนามาหลายชั่วอายุคน บ้าน โรงนา ยุ้งเก็บธัญพืชในไร่ของลุง ลุงปูกระเบื้องทุกแผ่นตอกตะปูทุกดอกด้วยตัวเอง บัดนี้ถูกทำลายย่อยยับ หมู่บ้านของลุงเป็นสมรภูมิของทหาร 2 ฝั่งมาตั้งแต่การรบเริ่มต้น ทุกวันนี้ไม่มีใครอยากมาเหยียบหมู่บ้านนี้อีก เพราะไม่รู้ว่าจะเจอกับระเบิดเมื่อไหร่

ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ทหาร 2 ฝั่งยึดหมู่บ้านลุงเป็นสมรภูมิ สิ่งที่ตระกูลลุงสั่งสมมาหลายชั่วอายุคนบวกกับการทำงานหนักของลุงในระยะหลายสิบปีก็สูญสลายไป กระสุนมาทั้งทางบนพื้นดิน ทางเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ และวันหนึ่งทหารก็ขับรถถังเข้ามาถึงกลางทุ่งนาของลุง เผายุ้งเผาโรงนาฆ่าสัตว์

แต่ลุงอิวานและเกษตรกรยูเครนทุกคน ก็เหมือนเกษตรกรในประเทศยากจนส่วนใหญ่ หรือเหมือนเกษตรกรไทยด้วยนี่แหละ คืออึดแบบฆ่าไม่ตาย

เกษตรกรรมเป็นอาชีพแรกของโลก ยืนต้านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายพันปี ผ่านสงครามนองเลือด ความอดอยาก ภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ภัยใดก็ไม่เคยทำลายเกษตรกรรมได้ พวกเขายังอยู่ ยืนสบตาเย้ยความลำบากยากเข็ญทั้งปวง เกษตรกรรมไม่เคยตาย ที่ยูเครนก็เช่นกัน

ระหว่างที่ทหารถือปืนประจัญหน้าศัตรูอยู่แนวหน้า ยืนซัดสู้รัสเซียที่แข็งแกร่งกว่าหลายเท่าอย่างไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม ลุงอิวานและเกษตรกรของยูเครนอื่นๆ ก็กัดฟันเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินต่อไป พิสูจน์ความอึดไม่แพ้ทหารของพวกเขา

ตลาดถูกระเบิด พวกเขาเอาผลผลิตวางขายข้างถนน ถนนถูกระเบิดพวกเขาแบกมันเดินลัดทุ่งไป ทยอยส่งออกไปขายแถวชายแดน หรือขายให้พวกเดียวกันกิน บางหมู่บ้านเอาผลผลิตเกษตรกรรมมาแบ่งกันกินโดยไม่ต้องซื้อ เพราะคนทั้งหมู่บ้านไม่มีใครมีเงินติดตัวแล้ว

“พื้นที่บางส่วนยังเพาะปลูกได้ แต่ก็ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เราก็เอามาแบ่งกันกินไปวันๆ ดีกว่าเผาทิ้ง” เกษตรกรชื่อ นาเดีย ที่สืบทอดอาชีพนี้มาจากพ่อแม่บอก

สงครามทำให้พวกเขารักกันมากขึ้น

ยูเครนเหมือนเมืองไทยตรงที่ดินดีน้ำดี ปลูกอะไรก็งดงาม จึงเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เป็นแหล่งอาหารสำคัญเลี้ยงดูผู้คนในยุโรป เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ จนถึงทุกวันนี้พวกเขายังคงส่งอาหารที่ผลิตอย่างยากเย็นไปสู่ตลาดในยุโรปต่อเนื่อง

ก่อนสงคราม หรือเอาชัดๆ คือปีที่แล้วนี่เอง ยูเครนเป็นยักษ์อันดับที่ 4 ของโลกในการส่งออกธัญพืชต่างๆ ที่จัดเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารของฝรั่ง ไล่ตั้งแต่ขนมปังที่ต้องใช้ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง หรือข้าวบาร์เลย์ที่เอาไปทำอาหารสารพัดอย่าง รวมทั้งหมักเบียร์และวอดก้าที่เป็นเครื่องดื่มบรรเทาหนาวของยุโรป

แต่แน่นอนว่าหลังสงครามคุณภาพของผลผลิตลดลง ปุ๋ยนำเข้าไม่ได้ ถึงกระเสือกกระสนเอาเข้าไปจนได้ราคาก็สูงมาก เพราะนำเข้าลำบาก ไม่มีใครอยากขายให้ เขากลัวไม่มีเงินจ่าย ถนนหนทางในประเทศก็พังหมด ขนส่งยากลำบาก เกษตรกรรมในยามนี้จึงเป็นไปตามยถากรรม ทำเท่าที่มี แต่ที่ไม่ลดลงคือจิตใจ

และดูเหมือนลูกค้าในยุโรปก็เข้าอกเข้าใจ พวกเขายอมลดมาตรฐานสูงปรี๊ดกับทุกเรื่องในชีวิต ให้กับผลผลิตจากชาวไร่ชาวนายูเครน คนยุโรปที่เคยจู้จี้จุกจิกกับทุกเรื่อง ยอมลดมาตรฐานให้เฉพาะพืชผักผลไม้จากยูเครน หนึ่งเพราะต้องการช่วยชาวยูเครน อีกหนึ่งคือเพื่อแสดงการต่อต้านการรุกรานประเทศอื่นของรัสเซีย

สินค้าที่เคยส่งออกของยูเครนยังคงเดินหน้าผลิตและส่งออกเช่นกัน

อย่างวอดก้าที่ยูเครนมีชื่อเสียงมาก จนถึงวันนี้ยังส่งมาขายในเมืองไทยได้ ใส่ขวดแก้วมาอย่างสวย ไม่มีแตกสักขวด ลองคิดดูว่าเขาสู้ขนาดไหน เป็นบางคนเขายิงกันตูมตามนี่ถอดใจแล้ว จะเสี่ยงเอาวอดก้าใส่ขวดแก้วออกจากประเทศได้ยังไง? มันจะต้องแตกกลางทางแหงๆ ไหม? มันจะลำบากขนาดไหน? ยอมเถอะ

พื้นที่โฆษณา ใครจะสรรหาสินค้าใดในยาม ขอให้เลือกที่ผลิตจากยูเครนก่อนเถิด นี่คือสงสารความอึดและสู้ของพวกเขาจริงๆ