‘สกต.สุรินทร์’ ระดมทุนผุดโรงสี ผลิตข้าวปลอดมอด-ไร้สารเคมี

ภายหลังก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือ สกต.สุรินทร์ มาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2533 ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2511 โดยมีสมาชิกแรกตั้ง 300 คน ทุนเรือนหุ้น 30,000 บาท สกต.สุรินทร์เดินหน้าภารกิจช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ เพื่อรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต รวมกันขายผลผลิตการเกษตร ตลอดจนสินค้าแปรรูปจากผลผลิตการเกษตร รวมถึงส่งเสริมพัฒนาความรู้แก่สมาชิก เพิ่มช่องทางการตลาดภายในประเทศ เพื่อกระจายสินค้าออกจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งบริโภค เพื่อช่วยป้องกันปัญหาราคาผลิตผลการเกษตรตกต่ำ เชื่อมโยงข้อมูลการตลาดและการผลิต เพื่อให้การตลาดมีความเข้มแข็ง

โดยเฉพาะผลผลิต “ข้าว” จังหวัดสุรินทร์ถือเป็นดินแดนปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สุดจังหวัดหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานทั้งภายในประเทศและระดับสากล ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกต.สุรินทร์ ร่วมกับสมาชิกดำเนินโครงการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในกระบวนการห่วงโซ่การผลิตข้าว ตั้งแต่การผลิต แปรรูป การตลาด โดยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ สกต.สุรินทร์ ร่วมกันระดมหุ้น ลงทุนร่วมแรงกับกลุ่มสมาชิกสร้างโรงสีข้าวของตนเองขึ้น โดยมี “อรรถพร สิงหวิชัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อม “อภิรมย์ สุขประเสริฐ” ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกันทำพิธีเปิดโรงสีข้าวของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พร้อมร่วมกันปล่อยขบวนรถขนข้าวสารส่งถึงผู้บริโภค ท่ามกลางสมาชิก สกต.สุรินทร์ เข้าร่วมงานกันจำนวนมาก

อภิรมย์ สุขประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ สกต.สุรินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านจันรม ตำบลตาอ็อง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีสมาชิก 118,976 คน ทุนเรือนหุ้น 189 ล้านบาท ซึ่งดำเนินธุรกิจครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดสุรินทร์ ดำเนินธุรกิจหลัก 4 ประเภท ประเภทธุรกิจจัดหาสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่าย ธุรกิจการรวบรวมผลผลิต ธุรกิจบริการ และธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการจำหน่าย ล่าสุด สมาชิก สกต.สุรินทร์ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันระดมหุ้นลงทุนสร้างโรงสีข้าวของตนเอง มีขนาดกำลังผลิต 120 ตันต่อวัน มีมูลค่าการก่อสร้าง 89 ล้านบาท โดยโรงสีจะนำข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพดีที่มาจากการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาผลผลิตมาแปรรูปเป็นข้าวสารหอมมะลิคุณภาพดี พร้อมบรรจุขนาดต่างๆ ภายใต้ตรา A-RICE และ ตรา สกต.สุรินทร์ เพื่อนำส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ

“ที่ผ่านมา สหกรณ์ได้จัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรสมาชิกรวมกลุ่มกันดำเนินโครงการ 4 โครงการ ประกอบด้วย การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการเกษตรอินทรีย์ โครงการนาแปลงใหญ่ และโครงการผลิตข้าวภายใต้มาตรฐานคุณภาพ A-rice จากนั้นจึงระดมหุ้นลงทุนสร้างโรงสีข้าวเป็นของตนเองขนาดกำลังผลิต 120 ตันต่อวัน มูลค่าการก่อสร้าง 89 ล้านบาท โดยจะนำข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพดี จากการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาผลผลิต มาทำการแปรเป็นข้าวสารหอมมะลิคุณภาพดี บรรจุขนาดต่างๆ ภายใต้ตรา A-RICE และตรา สกต.สุรินทร์ ส่งจำหน่ายทั่วประเทศขึ้นดังกล่าว”

ผู้จัดการ ธกส.กล่าวในตอนท้ายว่า การตั้งโรงสีของ สกต.สุรินทร์ ถือเป็นจุดนำร่องในการดำเนินการที่จะยกระดับคุณภาพของชีวิตของเกษตรกร สหกรณ์จึงร่วมหุ้นกันในการเปิดโรงสีของตนเอง เป็นโรงสีที่ทันสมัยซึ่ง ธกส.ได้เข้าไปสนับสนุนเรื่องเงินทุนหมุนเวียนของโครงการ

“โรงสีของ สกต.สุรินทร์ ถือเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นโรงสีแห่งแรกที่ได้นำเทคโนโลยีที่เรียกว่า RF หรือ Radio Frequency คือการปล่อยความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุไปทำให้ไข่มอดฝ่อ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ทดแทนการใช้รมแก๊สในอุตสาหกรรมผลิตข้าวสาร โดยเฉพาะข้าวสารถุง จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะปราศจากสารเคมี ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าข้าวสารที่ผลิตจาก สกต.สุรินทร์ ปลอดจากสารเคมีแน่นอน รวมทั้งสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นด้วย”

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ดำรงพล พาชื่น