8โรงรมยางตรัง-นครศรีฯคว้าGMP ส่งออกฉลุย-ต้นทุนลดราคาเพิ่ม-ไร้กลิ่นเหม็นน้ำเสีย

โรงรมยางแผ่นรมควันเมืองตรัง-นครศรีฯผ่านมาตรฐานการผลิตยางพรีเมี่ยม GMP 8 แห่ง ส่งออกฉลุยป้อนวัตถุดิบผลิตยางล้อเครื่องบิน-ยานยนต์ ด้าน กยท.เผยประโยชน์เพียบทั้งลดต้นทุน ขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด 4-7 บาท/กก. ช่วยแก้ปัญหามลพิษ ไร้กลิ่น-น้ำเสีย ชี้เกษตรกรต้องใช้องค์ความรู้มาผลิตยาง ชูจุดแข็งเป็นข้อต่อรองทางการค้า ด้านสหกรณ์-วิสาหกิจชุมชนจ่อคิวพัฒนาอีก 145 แห่งทั่วประเทศ รองบฯสนับสนุนกว่าครึ่ง

นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ 8 ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังลงพื้นที่ไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา จังหวัดบุรีรัมย์ ให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตยางจีเอ็มพีว่า ขณะนี้การยางแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ได้เดินหน้าส่งเสริมพัฒนาคุณภาพยางไห้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practices : GMP) และ GAP (Good Agricultural Practices) ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพยางแผ่นรมควันไห้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี

หรือยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมี่ยม โดยปัจจุบันมีโรงรมยางแผ่นรมควันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพีไปแล้วจำนวน 8 แห่ง อยู่ในจังหวัดตรัง 7 แห่ง จังหวัดนครศรีธรรมราชอีก 1 แห่งคือ 1.สหกรณ์กองทุนสวนยางโพธิ์โทน จำกัด 2.สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี จำกัด

3.สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด 4.สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง จำกัด 5.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองศรีจันทร์ จำกัด 6.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านน้ำผุด จำกัด 7.สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองเอื้อง จำกัด และ 8.สหกรณ์นิคมทุ่งสง จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีกำลังการผลิตตั้งแต่แห่งละ 60-100 ตัน/เดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีออร์เดอร์เข้ามาครั้งละพันตันหรือหมื่นตัน

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ได้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้จำนวน 145 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ประมาณ 98% ที่เหลืออีก 2% อยู่ในภาคอีสาน เช่น บุรีรัมย์ สกลนคร นครพนม และอุบลราชธานี อีกทั้งในจำนวน 145 แห่งนี้ น่าจะมีประมาณ 30% ที่เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการจีเอ็มพี ส่วนอีก 70% นั้นต้องรองบประมาณสนับสนุนต่อไป

ราคาเพิ่ม-ลดต้นทุน

สำหรับการตลาดของโรงรมยางทั้ง 8 แห่งที่ได้ใบรับรองจีเอ็มพีแล้วนั้น มีประมาณ 2-3 แห่ง จำหน่ายให้กับผู้ใช้ยางโดยตรง มีมูลค่าส่วนต่างราคากับยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ในตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ สงขลา 4-7 บาท/กิโลกรัม และบางส่วนนำไปอัดก้อนเพื่อส่งออก ซึ่งยางเกรดพรีเมี่ยมจีเอ็มพีเหมาะกับการนำไปใช้ทางด้านวิศวกรรม หรือยานพาหนะ รวมทั้งยางล้อเครื่องบิน เป็นต้น

“คำถามที่เจอบ่อยก็คือ ทำยางจีเอ็มพีแล้วได้อะไร สิ่งแรกคือ เราขายได้ราคาสูงขึ้นเพราะเป็นยางเกรดพรีเมี่ยมคุณภาพดี ขณะที่ต้นทุนการผลิตก็ลดลงเฉลี่ย 1 บาท/กก. และมีรายได้เพิ่มจากกระบวนการเศษยาง ได้ของเสียกลับมาหมด และได้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เราประเมินค่าไม่ได้ เพราะจะไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน น้ำใส ประหยัดพลังงาน คนทำงานมีความสุข และที่สำคัญคือ เป็นข้อต่อรองทางการค้า ผู้ซื้อก็จะมีความมั่นใจ สามารถเพิ่มราคาได้เพราะเราผลิตยางคุณภาพมาตรฐาน” นางปรีดิ์เปรมกล่าว

สำหรับโครงการที่ 2 คือ การพัฒนายางแผ่นรมควันอัดก้อนมาตรฐานจีเอ็มพี หรือยางอัดก้อนที่เน้นการส่งออก โดยดำเนินการไปแล้ว 18 แห่ง ซึ่งจะต้องควบคุมคุณภาพยางทุกแผ่นในก้อนยางกว่า 100 กิโลกรัมต้องไม่มียางชั้นอื่นมาปน เพื่อทำให้คุณสมบัติทางกายภาพนิ่งทุกกระบวนการ และโครงการที่ 3 คือ การผลิตยางเครปมาตรฐานจีเอ็มพี เน้นการใช้ยางในประเทศและการส่งออก ซึ่งวัตถุดิบหลักมาจากยางก้อนถ้วยคุณภาพดี

ลุยสวนยาง GAP 10 แปลง

ในส่วนของโครงการที่ 4 คือ การทำยางก้อนถ้วยมาตรฐานจีเอพี (GAP) พื้นที่เป้าหมายจำนวน 10 แปลงในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตยางก้อนถ้วย โดยจะเน้นการจัดการสวนยางทั้งก่อนและหลังเปิดกรีด การใส่ปุ๋ย การกรีด เช่น กรีดวันเว้นวัน มุมกรีด เพราะความหนาบางของการกรีดที่เหมาะสมจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งชนิดของกรด โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้กรดอินทรีย์ฟอร์มิกเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรจะต้องผึ่งยางก้อนถ้วย 2-3 วันเพื่อทำเป็นยางหมาดก่อนที่จะส่งโรงงานยางแท่ง ทั้งนี้ยังจะช่วยทำให้การขนส่งไม่มีน้ำหกเรี่ยราดตามถนน ซึ่งในภาคอีสานกำลังประสบปัญหานี้

นางปรีดิ์เปรมกล่าวอีกว่า การส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานยางจีเอ็มพีและจีเอพี จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ใช้ยาง นอกจากนั้นถ้าเกษตรกรยังทำยางแบบเดิม ๆ ไม่ใช้ระบบควบคุมคุณภาพและความรู้ด้านวิชาการ ก็อาจจะเป็นข้อโต้แย้งในเรื่องการขายยางให้กับต่างประเทศได้ ซึ่งอย่าชะล่าใจว่าเราผลิตยางที่มีปริมาณมากที่สุด แต่จะต้องส่งเสริมเรื่องคุณภาพด้วย

ยางแผ่นรมควันมาตรฐาน GMP ทำอย่างไร ?

การยางแห่งประเทศไทย รายงานข้อมูลกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันตามหลักปฏิบัติที่ดี เพื่อให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานจีเอ็มพี (Good Manufacturing Practices : GMP) จะต้องมีการควบคุมคุณภาพการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้แผ่นยางที่สะอาด มีความยืดหยุ่นดี ความหนาบางเท่ากันตลอดทั้งแผ่น การเคลือบของควันสม่ำเสมอ มีระบบการจัดการน้ำเสียและของเสียที่ได้มาตรฐาน การรักษาความสะอาดสถานที่ปฏิบัติงาน วัสดุอุปกรณ์ วิธีการจัดเก็บสารเคมีและเครื่องมือทุกชนิดให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย

นอกจากนั้นต้องมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่แปลงกรีดของเกษตรกรคือ น้ำยางสด ซึ่งต้องจัดเก็บตั้งแต่กรีดจนถึงโรงงาน ใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง ไม่มีการเติมน้ำหรือสารปลอมปนหรือสิ่งปนเปื้อน กระทั่งการนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน การจัดเก็บ การขนส่ง การบรรจุหีบห่อที่เป็นไปตามระบบควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน

ยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมี่ยม เป็นยางแผ่นรมควันที่มีการควบคุมกระบวนการทุกขั้นตอนตั้งแต่การจัดการน้ำยางสดในสวนยางจนถึงการรมควัน การจัดเก็บและการขนส่ง มีสมบัติคงที่ สม่ำเสมอทุกครั้งที่ผลิต และทุกโรงที่ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพี มีสมบัติที่อยู่ในช่วงใกล้เคียงกัน ทำให้การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ง่ายขึ้น ลดของเสีย ลดต้นทุน

สำหรับยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoked Sheet : RSS) มาตรฐาน The Green Book แบ่งออกเป็น 6 ชั้นคือ
ยางแผ่นรมควันชั้น 1 พิเศษ (RSSIX) ยางแผ่นรมควันชั้น 1 ถึง 5 (RSS1, RSS2, RSS3 RSS4 และ RSS5) ส่วนการหีบห่อจะมีมาตรฐานที่เป็นหลักสากล ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ