ไขปริศนา ‘ดูเมฆ’ แล้วได้อะไร? ฉบับ ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’

การแหงนหน้ามองฟ้า กดแชะถ่ายรูปเมฆ พร้อมโพสต์ลงสื่อโซเชียลจะไม่ธรรมดาอีกต่อไป

เมื่อมีกลุ่ม ชมรมคนรักมวลเมฆ หรือเพจ CloudLoverClub บนเฟซบุ๊ก ที่ก่อร่างสร้างตัวจาก GotoKnow.org ให้บรรดาคนรักปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้าได้แลกเปลี่ยนรูปภาพและเพิ่มเติมความรู้ร่วมกัน

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ บอกเล่าเคล้าเสียงหัวเราะว่า สร้างชมรมมากว่า 7 ปีแล้ว ตอนนี้มีสมาชิกกว่า 57,000 คน ซึ่งเหตุผลที่สร้างชมรมขึ้นมาเพราะเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งงดงาม แต่ถ้ายัดเยียดความรู้ไปตลอดเวลา มันจะไม่งดงามทันที เหมือนเวลาครูสั่งให้เราท่องจำ ย่อมไม่มีใครจำได้ แต่ถ้าเติมความรู้ตอนเกิดปรากฏการณ์ หรือว่าเขาไปเจออะไรมา แบบนี้เขาจะสนใจมากกว่า

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

พร้อมแนะนำวิธี “ดูเมฆ” ฉบับพื้นฐานของชมรมว่า ให้หยิ่งๆ เข้าไว้ เชิดหน้า เพราะตอนกลางวันเมฆอยู่กับเราแทบตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน จะเป็นคนในเมืองหรือชนบท หรือระหว่างการเดินทาง แค่แหงนหน้ามองท้องฟ้าก็มีสิทธิจะเห็นเมฆ หรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเมฆได้ตลอดเวลา

“ถ้ามีอะไรบางอย่างที่แปลกหรือน่าสนใจ หรืออาจไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าสนใจ แต่มองแล้วเพลิดเพลิน มองแล้วสบายใจ นั่นก็ถือว่าเป็นการ ‘ดูเมฆ’ แล้ว”

ปุจฉา : เมฆกับหมูเหมือนกันตรงไหน?

ดร.บัญชาตั้งคำถามนี้กับผู้ร่วมฟังเสวนา “รื่นรมย์ ชมเมฆ เรื่องราวสนุกๆ จากฟากฟ้า” ที่จัดขึ้น ณ มติชนอคาเดมี ก่อนเฉลยด้วยความขำขันว่า เมฆกับหมูมี 3 ชั้นเหมือนกัน นั่นคือ เมฆมีชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง

ซึ่งถ้าใช้วิธีการเรียนแบบดูแผนภาพหรือแม้แต่ชี้ให้ดูบนท้องฟ้าจริงๆ ก็ลืม ไม่มีใครจำได้ทั้งหมด เพราะเราไม่เข้าใจความเชื่อมโยง แต่ถ้าสามารถร้อยเรียงความเชื่อมโยงได้จะทำให้สนุกกว่า
คิวมูลัส ฮิวมิลิส (Cumulus humilis) เป็นเมฆชั้นต่ำ โดยคิวมูลัสแปลว่าเมฆก้อน ส่วนฮิวมิลิสแปลว่าอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเมฆแบบคิวมูลัสเป็นเมฆที่ไม่มีฝน หรือเมฆอากาศดี คนจีนเรียกว่า “เมฆหมั่นโถว”

“คนรักเมฆจะชอบเปรียบเทียบเมฆกับอะไรง่ายๆ เช่น ของกินอย่างข้าวเกรียบว่าว เปาะเปี๊ยะ หมั่นโถว”

คิวมูลัส ฮิวมิลิส หรือเมฆอากาศดี คนจีนเรียกว่า ‘เมฆหมั่นโถว’ ภาพโดย พญ.ฉัฐสุดา สุกทน

หากเมฆก้อนหมั่นโถวอวบขึ้น ชนิดที่ความหนาใกล้เคียงกับความกว้าง เรียกว่า คิวมูลัส เมดิโอคริส (Cumulus mediocris) หรือเมฆก้อนขนาดกลาง เป็นเมฆที่เกิดฝนได้ แต่ไม่หนักมาก และหากเมฆ ก้อนขนาดกลางอวบขึ้นไปอีก เรียกว่า คิวมูลัส คอนเจสทัส (Cumulus congestus) ซึ่ง ดร.บัญชาให้ฉายาว่า “ก้อนเมฆอวบระยะสุดท้าย”

“ก้อนเมฆอวบระยะสุดท้ายนี้เกิดฝนได้ และตกหนักด้วย แต่ตราบใดที่ฟ้ายังไม่ผ่า เราจะเรียกว่าเมฆคิวมูลัส” แต่ใช่ว่าเมฆคิวมูลัสจะไม่สามารถขยายตัวเพิ่มได้อีก

ดร.บัญชาเล่าต่อว่า ถ้าเมฆคิวมูลัสระยะสุดท้ายอวบขึ้นไปอีก เรียกว่า คิวมูโลนิมบัส แคลวัส (Cumulonimbus calvus) ซึ่งแคลวัสแปลว่าหัวล้าน เป็นเมฆที่มีฟ้าผ่า และหากเจ้าเมฆหัวล้านนี้อวบขึ้นไปอีก ดร.บัญชาบอกว่ามันจะกลายเป็นเมฆหัวฟู หรือ คิวมูโลนิมบัส แคพิลเลทัส อินคัส (Cumulonimbus capillatus incus) ลักษณะคล้ายรูปทั่ง เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง ทั้งยังเกิดลูกเห็บได้ด้วย

มาเพื่อเรียกร้อง ‘ความสนใจ’

“เมฆฝนฟ้าคะนองคือเมฆหัวฟูก็จริง บ่อยครั้งคนที่ชอบดูเมฆจะรู้ว่ามันไว้จุกด้วย ซึ่งจุกนี้เรียกว่า โอเวอร์ชูตติ้งท็อป (Overshooting Top-OT)”

ดร.บัญชาบอกเล่า พร้อมฉายภาพที่คุณสุชาดา 1 ในสมาชิกของชมรมถ่ายไว้ได้จากประเทศกัมพูชา และว่า เมฆชนิดนี้ที่ไทยเองก็มี ซึ่งถ้าจุกอยู่แป๊บเดียวแล้วหายไป หรืออยู่เพียง 3-4 นาที ก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าอยู่นานเกิน 10 นาที แสดงว่าเมฆก้อนนี้มีความรุนแรงมาก จะมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกรุนแรง

ก้อนเมฆพร้อมจุกโอเวอร์ชูตติ้งท็อปที่คุณสุชาดาถ่ายไว้ได้จากประเทศกัมพูชา

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถามว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรต่อไป?

ดร.บัญชาเล่าว่า ที่อเมริกา เมื่อใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เขาสามารถระบุกลุ่มของเมฆได้ว่าเป็นกลุ่มเมฆหลายๆ ก้อนมาเจอกัน แต่จุดสำคัญคือในภาพถ่ายดาวเทียมสามารถระบุได้ว่าจุกโอเวอร์ชูตติ้งท็อปอยู่ตรงไหน

“หากนักอุตุนิยมวิทยารู้ว่าทิศทางลมอยู่ตรงไหน มันจะเคลื่อนขึ้นเหนือในอัตราเท่าไหร่ เขาสามารถเตือนเราได้ เช่น คนในเมืองหนึ่งโดนฟ้าผ่าและลูกเห็บถล่มอยู่ หากมันขึ้นเหนือแสดงว่าอีกที่หนึ่งต้องระวังแล้ว นี่คือการเตือนภัยอย่างมีความรู้

“ในบ้านเราไม่มีใครเคยพูดเรื่องนี้เลย มีใครเคยบอกเราไหม กรมอุตุฯเคยบอกหรือไม่ว่าที่จุดนี้มีโอเวอร์ชูตติ้งท็อปอยู่ มันจะเคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่มีเลย”

หากเราทำให้วงการวิชาการเข้มแข็งพอ สนใจเรื่องนี้ มีเทคโนโลยี และพวกเราเองที่มีความรู้เมื่อแรกเห็นว่าเมฆนี้จะเกิดทั้งฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าแรง และมีลูกเห็บด้วย กำลังมุ่งหน้าสู่เรา เราจะได้หลบเข้าบ้านได้อย่างปลอดภัย นี่เป็นการเตือนภัย

ภาพโดย Phetchanart Phet Mitkitti ชมรมคนรักมวลเมฆ

เราไม่ได้ดูเมฆเพื่อความรื่นรมย์เท่านั้น แต่เป็นการดูเพื่อป้องกันตัวเองในอีกหลายมิติ

“ส่วนหนึ่งแล้วผมมาเพื่อเรียกร้อง เพราะตัวผมเองคงไม่มีเทคโนโลยีพอที่จะไปตั้งให้ใคร” ดร.บัญชากล่าวติดตลก
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่ายดาวเทียมหรืออุตุนิยมวิทยาน่าจะใส่ใจเรื่องนี้ เพิ่มเติมความรู้เรื่องนี้เข้าไป มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก”

‘แมมม่า’ เมฆเปลี่ยนคน

ถ้าถามเด็กๆ ว่าเมฆแมมม่าเหมือนอะไร เขาจะบอกว่าเหมือนหินย้อย แต่นักอุตุนิยมวิทยาฝรั่งมองว่าเหมือนนมวัวห้อยมาจากฟ้า เลยตั้งชื่อว่า “แมมม่า (Mamma)”

เมฆนมวัวหรือแมมม่า (Mamma) ภาพโดย heet_myser จาก atmospheric-phenomena-ap.com

ดร.บัญชายังบอกอีกว่า แมมม่าเป็นภาษาละติน หมายถึงทรวงอก มีรากศัพท์เดียวกับแมมมอล (Mammal) ที่แปลว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นเมฆที่มีความสวยงามและเป็นชนิดหนึ่งที่คนรักเมฆเฝ้าตามหาอยู่ แต่หากเราอยู่ใต้ปีกของเมฆฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดฟ้าผ่าได้ ซึ่งเจ้าแมมม่านี้เองที่ ดร.บัญชาบอกว่า มันสามารถเกิดขึ้นในเมฆสกุลอื่นได้

“แมมม่าได้เปลี่ยนคนเกลียดเมฆให้กลายเป็นคนรักเมฆ ซึ่งคนหนึ่งที่ผมสนิทมากนั่นคือ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คนปัจจุบัน ที่ทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปี

“เขาเป็นนักดาราศาสตร์ชั้นเยี่ยม รู้ว่าผมชอบเมฆก็เชิญผมไปสอนบรรดาครูในสถาบันดาราศาสตร์ฯอยู่ประมาณ 7 ปี”

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา

จนเมื่อหลายปีก่อน ดร.ศรัณย์ได้พูดกับ ดร.บัญชาว่า “ชิว (ชื่อเล่นของ ดร.บัญชา) ผมชอบดูเมฆ”

ประโยคนั้นสร้างความงุนงงระคนแปลกใจให้กับ ดร.บัญชาและผู้ฟังเสวนาทันที จน ดร.บัญชาได้เล่าต่อว่า ดร.ศรัณย์บอกว่าไม่ๆๆ เขาเป็นนักดาราศาสตร์ที่ไม่มีทางชอบเมฆ แค่ดูว่าเมื่อไหร่มันจะไปสักที (หัวเราะ) จะได้ดูดาว

“จริงๆ แล้ว อ.ศรัณย์พูดน่ารัก ถึงความหมายจะออกแนวเสียดสี แต่นั่นหมายความว่าถ้าคุณอยากดูดาว คุณต้องดูเมฆเป็น เพราะฉะนั้นคนที่เรียนดาราศาสตร์ต้องรู้อุตุนิยมวิทยาด้วย”

สอดคล้องกับคำบอกเล่าหยิกแกมหยอกของ ดร.ศรัณย์ที่บอกกับ “มติชน” ว่า ผมรักธรรมชาติ รักปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแบบนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่แค่เมฆอย่างเดียว

“ถามว่าจริงๆ แล้วผมชอบเมฆไหม? ผมไม่อยากให้มีเมฆหรอก บางทีเราดูก็รู้แล้วว่ามันมีหรือไม่มี เพราะจากการตามดูเรื่องตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยามาหลายสิบปีก็พอจะบอกได้ว่ามันเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น”

เราต่างมีกลอรี่เป็นของตัวเอง

“ท้องฟ้าตอนกลางคืนสัมพันธ์กับตอนกลางวันอยู่แล้ว เพราะเรื่องทางอุตุนิยมวิทยากระทบโดยตรงต่อการทำกิจกรรมดาราศาสตร์”

ดร.ศรัณย์กล่าวว่า ปรากฏการณ์เมฆตอนกลางวันกับกลางคืนอาจมีความแตกต่างอยู่บ้าง ด้วยเรื่องอุณหภูมิ และความที่เงยหน้าดูท้องฟ้าตลอด เราจะเห็นปรากฏการณ์ โดยเฉพาะตอนอาทิตย์ตก ช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกหรือกำลังลับขอบฟ้านี่เองที่มีปรากฏการณ์ทางแสงเยอะมาก ด้วยเพราะมุมและดวงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ด้านการหักเหของแสงได้พอสมควร

วงแสงรุ้งหรือกลอรี่ (Glory) เป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือซับโซลาร์พอยต์ (Subsolar Point) ซึ่งรุ้งกินน้ำเองก็เป็นหนึ่งในซับโซลาร์พอยต์เช่นกัน

ดร.ศรัณย์ยังบอกอีกว่า เราพบปรากฏการณ์เหล่านี้จากบนพื้นดินได้ไม่ง่ายนัก แต่ถ้าอยู่บนเครื่องบินจะมีโอกาสพบได้ง่ายกว่า จะทราบได้ว่ามุมที่ดูนั้นอยู่ตรงไหน

วงแสงรุ้งหรือกลอรี่ (Glory) ผลงานภาพโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา

ในส่วนนี้เองที่ ดร.บัญชาช่วยเสริมเรื่องปรากฏการณ์กลอรี่บนเครื่องบินว่า จุดสนุกของกลอรี่คือ มันเป็นวงกลมสีรุ้งที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อะไรก็ตามที่กำลังมองมันอยู่ หรือพูดง่ายๆ คือ “เราต่างมีกลอรี่เป็นของตัวเอง”

“สมมุตินั่งเครื่องบินกับเพื่อน ทุกคนนั่งติดหน้าต่าง แบบนี้ทุกคนจะมีกลอรี่เป็นของตัวเองในตำแหน่งที่ต่างกันไป ถ้าให้นักบินเป็นคนถ่าย กลอรี่จะอยู่ข้างหน้า หรือถ้าไปเที่ยวทะเลหมอก มีดวงอาทิตย์อยู่ข้างหน้า แสงส่องมาเกิดเงาที่พาดยาวจากขาออกไป เราจะเห็นวงแสงสีรุ้งที่ปลายศีรษะ หากเราขยับตัว กลอรี่จะขยับตาม”

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถด้านการมอง แบ่งเป็น 2 มิติคือ เรามีสิทธิชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้เยอะมาก แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเรามองเห็นได้เยอะ มันทำให้เราหลอกตัวเองได้เหมือนกัน

“การเห็นวงแสงปาฏิหาริย์อาจเป็นไปได้ว่าเพราะปาฏิหาริย์หรือเรากำลังหลอกตัวเองอยู่ ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจกลอรี่ เราจะเข้าใจว่าเป็นผู้มีบารมี เกิดวงแสงที่รอบศีรษะ (หัวเราะ)”

ความรู้-คู่-ความรัก

“จริงๆ ชอบดูท้องฟ้า ดูทั้งปรากฏการณ์ตอนกลางวันและกลางคืน ปกติแค่ดูเฉยๆ ถ้าเห็นอะไรแปลกๆ สวยๆ ถึงจะถ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ดูแบบไม่มีความรู้อะไรเลย แต่หลังจากเข้าร่วมชมรม เราได้ความรู้เยอะมาก”

คำสารภาพของ ทิพพา อ่ำเอี่ยม 1 ในสมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆที่เพิ่งมีโอกาสทำกิจกรรมกับทางชมรมเป็นครั้งแรก หลังจากเข้าร่วมมากว่า 3 ปี

ทิพพาเล่าว่า เพิ่งรู้ตัวเองว่าชอบเมฆมานานแล้ว เพราะมองท้องฟ้า มองดาวอยู่เป็นประจำ แรกๆ ที่มองแค่หวังจะดูทิศทางลม คาดการณ์เรื่องฝน แต่ไม่ได้สังเกตว่าจะมีปรากฏการณ์อะไรแปลกใหม่ เป็นการดูเพื่อผ่อนคลายตัวเองมากกว่า

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไปดูหนัง ฟังเพลง แต่เดี๋ยวนี้แค่ดูเมฆก็รู้สึกว่าผ่อนคลายได้ ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินในส่วนนั้นแล้ว”

ภาพโดย Varaporn Mahahing ชมรมคนรักมวลเมฆ

เช่นเดียวกับ ดร.บัญชาที่เอ่ยว่า ตั้งแต่เกิดชมรมนี้มา เรามองท้องฟ้ามากขึ้น และถ้าไม่นับว่าได้เห็นอะไรแปลกๆ ทุกวันในมุมมองใหม่ เราได้เพื่อน ยิ่งถ้าอยู่ในชมรมหรือที่ๆ เติมความรู้ เราจะได้ความรู้เพิ่มขึ้น

“เมฆเป็นสิ่งที่ออกไปข้างนอกแล้วเจอทุกวัน ต่างจากการดูดาว แต่ไม่ได้บอกว่าการดูดาวไม่ดี แต่ถ้าดูดาวต้องดูตอนกลางคืน ฟ้าต้องเปิด และต้องรวยด้วย (หัวเราะ)

“คนจะถ่ายภาพดาวได้ต้องใช้กล้องโปร ไม่มีใครเอามือถือไปถ่ายดาวได้หรอก ยกเว้นถ่ายดวงจันทร์ แต่เมฆ สำหรับคนทั่วไปแค่มีมือถือธรรมดาๆ สักเครื่อง แชะมาเรียบร้อยก็ได้แล้ว”

คนรักเมฆมีความสนใจธรรมชาติ สังเกตอะไรบางอย่างทั้งที่เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องแปลก หรือผิดปกติออกไป หรือถ้าเกิดว่าเรามีความรู้ อย่างที่ผมมักบอกว่ามีความรู้คู่ความรัก การชมเมฆ ดูฟ้า ก็จะมีความหมายยิ่งขึ้น
________________________________________
ติดตามความน่าสนใจของ ‘เมฆ’ ต่อได้ในคอลัมน์ Cloud Lovers โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ทุกวันเสาร์ หน้า 15 ทางหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ที่มา หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน ชนากานต์ ปานอ่ำ