“สมคิด” สั่งอุตฯ ยกระดับเกษตร เร่ง “บีโอไอ” ดึงดูดนักลงทุนเพิ่ม หนุนสร้างคลัสเตอร์สตาร์ตอัพ

“สมคิด” มองเศรษฐกิจสัญญาณดี พบภาคเกี่ยวข้องกับการเกษตรมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เนื่องจากมีสัดส่วนส่งออกน้อย แนะกระทรวงอุตฯจับมือเอกชนยกระดับการผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้า มุ่งสู่ไบโออีโคโนมี เร่งบีโอไอดึงดูดนักลงทุน หนุนสร้างคลัสเตอร์ภาคบริการ ผุดเครือข่ายสตาร์ตอัพ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Thailand Industry Expo 2017 ว่า ภาครวมเศรษฐกิจปีนี้สัญญาณดีภาคการส่งออกที่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2560 เติบโตเฉลี่ย 10% โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน เติบโต 11.7% มูลค่าประมาณ 690,000 ล้านบาท แต่ก็พบว่าภาคที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เนื่องจากมีสัดส่วนส่งออกที่น้อยเพียง 9% มีสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว ยางพารา น้ำตาล และผลไม้ โดยมีประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตรสูงถึง 20-30 ล้านคน ซึ่งยังไม่สามารถยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของประชารัฐ เข้ามาสนับสนุนเพื่อมุ่งสู่ไบโออีโคโนมี พร้อมให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งสนับสนุนดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันไทยมีผลผลิตต้นน้ำจำนวนมาก แต่ยังขาดนักธุรกิจ ผู้ประกอบการกลุ่มแปรรูปที่จะเข้ามาลงทุน

นายสมคิด กล่าวว่า นอกจากนี้สัดส่วนบริการที่คิดเป็น 50% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ยังไม่พบหน่วยงานใดที่ดูแล จึงให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดูแล และสร้างคลัสเตอร์ภาคการบริการ เนื่องจากมีผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ประกอบกับต้องการให้นำภาคบริการ การท่องเที่ยว มาช่วยในภาคการเกษตรที่กำลังประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ อาทิ นำการท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชน มีการค้าขาย บริการ เกิดแรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจมากขึ้น

นายสมคิด กล่าวว่า ขณะเดียวกันการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ หรือสตาร์ตอัพ ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งสร้างกลุ่มสตาร์ตอัพเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกที่เติบโตส่วนใหญ่เป็นตัวเลขส่งออกของบริษัทขนาดใหญ่มาณ 70 บริษัท ซึ่งมีบริษัทที่มีการลงทุนจากต่างชาติสูงขึ้น 50 บริษัท ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างสตาร์ตอัพให้เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่มคลัสเตอร์สร้างสตาร์ตอัพ โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องพัฒนาขีดความสามารถทางแข่งขัน เตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงพร้อมรับนโยบายในการพัฒนาภาคเกษตร ภาคบริการ โดยเฉพาะการดูแลเอสเอ็มอี โดยจะใช้เครื่องมือจากเงินกองทุนเอสเอ็มอีและกองทุนที่เกี่ยวข้องรวม 38,000 ล้านบาท เข้าช่วยเหลือ สนับสนุนพื้นที่ลงทุนสำหรับเอสเอ็มอีในนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเตรียมเสนอแพคเกจส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เบื้องต้นกำลังพิจารณา 2 แนวทางว่าจะตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษหรือเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 2 พื้นที่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ภาคเหนือ 1 แห่ง และภาคกลาง 1 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประกาศส่งเสริมแต่เพียงพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพียงแห่งเดียว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน