“วาสนา กุญชรรัตน์” น้อมนำแนวพระราชดำริ “รัชกาลที่ 9” บุกเบิกฟาร์ม-ผลิตนมแพะมาตรฐาน

แพะกินอาหารข้นสำเร็จรูป

จากอดีตข้าราชการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง “วาสนา กุญชรรัตน์” ชาวจังหวัดนครราชสีมา ตัดสินใจครั้งใหญ่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในเรื่องการทำการเกษตรและอยู่อย่างพอเพียง ผันชีวิตมายึดอาชีพเลี้ยงแพะ ผลิตนมแพะจำหน่ายก่อนขยายเป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์แนวทางต่างๆ ให้ผู้สนใจ

“วาสนา กุญชรรัตน์” เล่าว่า ช่วงเริ่มต้นประมาณปี 2545 ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้านใน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จังหวัดราชบุรี ด้วยความชอบธรรมชาติ จึงมีแนวคิดทำฟาร์มแพะนม “TT GARDEN AND GOAT FARM”  เพื่อผลิตน้ำนมไว้จำหน่าย โดยใช้เงินลงทุนครั้งแรกประมาณ 5-6 แสนบาท สร้างโรงเรือนไม้ยกพื้นให้แพะอยู่อาศัย จากนั้นต่อเติมขยายโรงเรือนขยายถึงปัจจุบันมีพ่อแม่ และลูกแพะที่เลี้ยงดูแลนับร้อยตัว ทั้งสายพันธุ์ซาแนน และเริ่มขยายพันธุ์ท็อกเก้นเบิร์กด้วย ซึ่งในฟาร์มต้องเน้นความเข้มงวดเรื่องความสะอาด ปลอดเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคบลูเซลโลซีส การเข้า-ออกฟาร์มทุกครั้งจึงต้องสวมรองเท้าผ่านน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อความปลอดภัยของฟาร์ม ส่งผลให้ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เป็นฟาร์มมาตรฐานสำหรับแพะนม (Farm Q) แห่งแรกของเขต 7 ได้ใบรับรองฟาร์มปลอดโรคบลูเซลโลซีสเป็นแห่งแรกของประเทศด้วย

“การเลี้ยงแพะนม เกิดจากแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อยากบอกว่าคนไทยโชคดีมากที่มีพระองค์เป็นต้นแบบ แต่อยู่ที่จะหยิบต้นแบบนั้นมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งมาจากแนวคิดที่พระองค์ท่านพระราชทานเรื่องการทำการเกษตร อยู่อย่างพอเพียง หลังเลือกสถานที่แล้วมองว่าอะไรเป็นตัวช่วยกำจัดวัชพืช จึงกลายมาเป็นแพะ ซึ่งมี 2 อย่าง คือ แพะเนื้อ และ แพะนม ก็มาดูข้อดี ผลเสีย และเลือกแพะนมเพราะมีมูลค่าทางการผลิตค่อนข้างมากพอสมควร เช่น ขายเนื้อ ขายนม ขายสายพันธุ์ แม้แต่น้ำนมยังสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีก”

“วาสนา” เล่าว่า การเลี้ยงดูแพะนั้น ทุกเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. จะนำแพะออกจากคอกเลี้ยงเดินมาขึ้นโต๊ะ เพื่อทำความสะอาดเต้านม จากนั้นใช้มือรีดนมทีละเต้า ระหว่างการรีดนมจะให้อาหารเสริมแพะด้วย เพื่อสร้างความเพลิดเพลินและไม่ตื่นกลัว แต่ละวันจะรีดนมแพะแต่ละตัวให้น้ำนมประมาณ 2.5 กิโลกรัม รวมแล้วได้น้ำนมดิบประมาณ 20 กิโลกรัม/วัน ก่อนนำไปผ่านกรรมวิธีการแปรรูปผลิตเป็นนมพาสเจอไรซ์ได้ประมาณ 120 ขวด นอกจากนี้ยังผลิตภัณฑ์จากนมแพะอีกหลายอย่าง เช่น สบู่นมแพะ โลชั่น โยเกิร์ต และไอศกรีม ซึ่งทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง หลังรีดนมแล้วจะปล่อยแพะออกจากคอกให้วิ่งเล่น กินหญ้าบริเวณลานกว้าง ซึ่งเตรียมหญ้าไว้ให้กิน 2 ช่วง เช้าและเย็น ส่วนช่วงบ่ายจะให้อาหารเสริม เพื่อให้แพะมีสุขภาพแข็งแรง

“สำหรับการผลิตนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งเรื่องการบริโภค เป็นเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน GAP หรือ อย. ที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและความปลอดภัยของสินค้า คงต้องระดมเงินทุนสร้างโรงผลิตนมให้ได้มาตรฐาน GAP อีกส่วนเป็นเรื่องการนำเที่ยวชมฟาร์ม มาอยู่กับแพะ มาเรียนรู้พฤติกรรม ขั้นตอนการผลิต กว่าจะได้นมแต่ละหยด แต่ละแก้วนั้น อาจทำให้มีความผูกพันกับแพะมากขึ้น เพราะนมที่กลั่นออกมา 1 แก้วนั้น มาจากความตั้งใจทำงานอย่างหนึ่ง ที่มีการวางแผน การจัดการที่ดี”

เจ้าของฟาร์มแพะยังกล่าวอีกว่า ภายหลังการผลิตในรูปแบบนมแปรรูบรรจุขวดแล้ว สิ่งที่สำคัญถัดมา คือ การตลาด ถือเป็นหัวใจ เพราะการขายของจำเป็นต้องรู้กลุ่มเป้าหมาย และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะนมแพะที่รับประทานกันนั้น มีทั้งแบบ “มีกลิ่น” และ “ไม่มีกลิ่น” ประกอบกับมีการสำรวจตั้งแต่ก่อนทำฟาร์มและพบว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการดื่มนมแพะที่ไม่มีกลิ่น จึงต้องมาหาแนวทางในกระบวนการผลิต จนสุดท้ายกระบวนการจัดการทั้งระบบช่วยเรื่องการกำจัดกลิ่นได้

“ด้านการตลาดเราส่งหลายแห่ง เช่น รีสอร์ตใน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลาดราชบุรี กรุงเทพฯ เมื่อสินค้าเริ่มเป็นที่ต้องการจนได้รับการยอมรับของตลาด ทำให้ขณะนี้เครือห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนำสินค้านมแพะไปวางจำหน่ายที่ร้านท็อปส์ พร้อมออกแสดงโชว์ทุกเสาร์-อาทิตย์  เพื่ออธิบายข้อดี ข้อเสียจากการดื่มนมแพะให้ลูกค้าฟัง โดยผลตอบรับที่ผ่านมาออกมาดี”

วาสนากล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้มีการรณรงค์ดื่มนมแพะ ซึ่งยังไม่เห็นภาครัฐช่วยรณรงค์การดื่มนมแพะอย่างจริงจัง ทำให้คนดื่มนมแพะยังอยู่ในวงแคบๆ หรือคนที่รู้ว่านมแพะดีอย่างไร ทำให้เกษตรกรประสบปัญหา คนขายก็ขายกันไป ใครเอาตัวรอดได้ก็รอดกันไป ใครไปไม่รอดต้องอยู่ในวังวนของการเป็นคนผลิตส่งพ่อค้าคนกลาง

“นมแพะมีประโยชน์ คือ แม่ที่ไม่สามารถมีนมเลี้ยงลูกได้ คุณหมอจะแนะนำให้ดื่มนมแพะ เนื่องจากนมแพะมีความใกล้เคียงกับนมแม่ แต่ยังไม่สามารถเทียบนมแม่ได้ นอกจากนี้โมเลกุลของนมแพะจะเล็กกว่านมวัว ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้เร็วประมาณ 20 นาที ขณะที่นมวัวใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง รวมทั้งผู้ดื่มนมแพะจะไม่เจอปัญหาท้องเสีย ท้องอืด”

ปัจจุบัน นอกจาก TT GARDEN AND GOAT FARM จะเป็นแหล่งผลิตนมแพะแปรรูปชั้นดี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วยังขยายเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยนำองค์ความรู้การสั่งสมข้อมูล ประสบการณ์ ปัญหา แนวคิด การวางแผน การจัดการต่างๆ เพื่อถ่ายทอดให้ผู้สนใจที่เดินทางมาดูงานอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวอย่างการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปรับปรุง พัฒนาพื้นที่จนประสบผลสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่ดี กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งศึกษาของผู้สนใจ

ส่งผลให้ “วาสนา” ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2560 ด้านอาชีพการเลี้ยงสัตว์ เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในงานพระราชพิธีพืชมงคลที่ผ่านมา

ขอบคุณข้อมูลจาก พันธุ์ แก้วนุ้ย