ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผักกระชับ เป็นผักพื้นบ้านที่พบในเขตภาคตะวันออก โดยเฉพาะในแถบลุ่มประแส ตำบลทางเกวียน บ้านทะเลน้อย ตำบลพังราด ตำบลคลองปูน และตำบลทุ่งควายกิน จังหวัดระยอง ผักกระชับจะเกิดขึ้นหลังจากการทำนาปี ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง
ผักกระชับนอกจากจะเป็นอาหารที่ชาวบ้านชอบกินกันทั่วไปแล้ว ผักกระชับยังเป็นพืชสมุนไพรอีกด้วย เปลือกใช้ต้มน้ำดื่มแก้โรคไตพิการ ขับปัสสาวะ ไขข้ออักเสบ ขับเหงื่อ ปวดประจำเดือน ใบใช้แก้โรคต่อมน้ำเหลือง งูสวัด เริม ลำต้นใช้ตำพอกแผล แมลงกัดต่อย ปวดหู รากใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร ต้นอ่อนใช้แกงส้ม กินกับน้ำพริกหรือนำมาผัดน้ำมันหอย
คุณพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร บอกว่า ผักกระชับเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดต่างๆ ในท้องถิ่นแล้ว พบว่าผักกระชับมีราคาสูง
ต้นอ่อนของผักกระชับมีลักษณะคล้ายถั่วงอก มีลำต้นสีขาว ใบเขียว อยู่ในวงศ์ของทานตะวัน เมื่อนำมาผัดกับน้ำมันหอยมีรสชาติอร่อย มีความหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ปัจจุบันผักกระชับได้รับความนิยมกินกันมากขึ้น ทำให้ไม่เพียงพอกับการบริโภค เพราะจะมีเฉพาะหลังฤดูการทำนาเท่านั้น
คุณพุทธธินันทร์ บอกว่า ชาวนาจึงทำการปลูกผักกระชับในแปลงเพาะเพื่อปลูกเป็นการค้ากันอย่างจริงจัง สามารถสร้างรายได้หลังฤดูทำนา จำหน่ายในราคา 100-150 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับพืชผักชนิดต่างๆ ในท้องถิ่นแล้ว นับว่าผักกระชับมีราคาสูง เพราะเป็นที่นิยมบริโภคกันมากขึ้น นอกจากนั้น ผักกระชับยังเป็นพืชที่มีโรคและแมลงศัตรูน้อย การปลูกผักกระชับจะปลูกกันในฤดูแล้ง ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องวัชพืชจึงมีต้นทุนต่ำ เหมาะที่จะผลิตเป็นพืชอินทรีย์
“กระชับเป็นผักปลอดสารพิษ จึงเป็นจุดขายที่ได้เปรียบกว่าผักชนิดอื่นๆ และเป็นพืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการส่งเสริม เพื่อผลิตเชิงการค้าได้ สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี”
พัฒนาเครื่องผลิตกระชับแบบครบวงจร
คุณพุทธธินันทร์ บอกว่า การผลิตต้นอ่อนผักกระชับและการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าของเกษตรกร ยังขาดเทคโนโลยีการผลิตที่ให้ผลผลิตไม่มีความแน่นอน ขาดความสม่ำเสมอ และให้ผลผลิตสูง เนื่องจากขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการปลูก การเก็บเกี่ยว เพื่อลดหรือทดแทนแรงงาน
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี จึงได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลสำหรับผลิตกระชับแบบครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระชับเพื่อการค้า เพื่อออกสู่ตลาดให้กว้างออกไปมากขึ้น เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มั่นคงขึ้น
เครื่องมือผลิตกระชับแบบครบวงจรประกอบด้วย เครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ เครื่องปลูกกระชับเพื่อผลิตต้นอ่อน และเครื่องเกี่ยวนวดผักกระชับ ซึ่งศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรีได้ทำการศึกษาและพัฒนาเครื่องมือผลิตกระชับเพื่อการค้าของเกษตรกร แถบลุ่มแม่น้ำประแส จังหวัดระยอง
ศึกษาวิธีเพาะเมล็ดกระชับของเกษตรกรเพื่อการค้า
หลังจากการทำนาปีของเกษตรกร เข้าช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรหรือชาวนาได้พัฒนาแปลงเพาะปลูกเพื่อการค้ากันอย่างจริงจัง โดยเตรียมเมล็ดกระชับนำมาเพาะขยายตลอดทั้งปี เริ่มจากการเก็บเกี่ยวเมล็ดกระชับจากแปลงนามาผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาแช่น้ำในถังซีเมนต์ทรงกลมขนาดใหญ่นานประมาณ 2-3 เดือน ใช้เมล็ดกระชับประมาณ 8-9 กิโลกรัม เมื่อผ่านพ้นช่วงระยะฟักตัวของเมล็ดกระชับแล้ว เกษตรกรจะทยอยนำมาเพาะเป็นต้นอ่อนต่อไป
คุณอนุสรณ์ สุวรรณเวียง วิศวกรเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ได้ศึกษาการเพาะเมล็ดกระชับของเกษตรกร ที่ลุ่มแม่น้ำประแส จังหวัดระยอง เกษตรกรจะเตรียมแปลงเพาะใต้ถุนบ้าน แปลงเพาะเมล็ดกระชับขนาด 1.00×3.00 เมตร ดินที่ใช้เพาะจะเป็นดินนาที่เป็นหน้าดิน ต่อจากนั้นเกษตรกรจะนำเมล็ดที่แช่ในบ่อซีเมนต์มาแล้ว 2-3 เดือน มาเพาะเรียงบนแปลงเพาะที่เตรียมไว้ แล้วใช้ดินกลบเมล็ดบางๆ คลุมด้วยตาข่ายพรางแสงเพื่อรักษาความชื้นแปลงเพาะเมล็ด คอยรดน้ำเพื่อให้ได้ต้นอ่อนที่สมบูรณ์ หลังจากนั้น 4-5 วัน เริ่มเปิดตาข่ายพรางแสงบางส่วน เพื่อให้ต้นอ่อนได้รับแสง ใบกระชับจะมีสีเขียวอ่อนน่ากิน ระยะเวลาการเพาะเมล็ดกระชับของเกษตรกรรวมแล้วประมาณ 9-12 วัน แล้วแต่ฤดูกาล
พัฒนาเครื่องปลูกกระชับผลิตต้นอ่อน
คุณอนุสรณ์ หัวหน้าคณะวิจัยพัฒนาเครื่องปลูกกระชับสำหรับผลิตต้นอ่อน บอกว่า หลังจากได้ศึกษาวิธีการเพาะเมล็ดผลิตต้นอ่อนของเกษตรกร กว่าจะได้ต้นอ่อนใช้เวลา 9-12 วัน มีความคิดที่จะหาวิธีช่วยให้เกษตรกรได้ผลิตต้นผักกระชับเพื่อจำหน่ายได้อย่างรวดเร็วและให้ได้ผักออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และสามารถขยายตลาดให้ออกไปได้มากกว่าที่จำหน่ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง
“เราได้ศึกษาและพัฒนาเครื่องปลูกกระชับสำหรับผลิตต้นอ่อน ที่สามารถใช้ช่วยลดการใช้แรงงานคน และเพิ่มกำลังการผลิตต้นอ่อนผักกระชับเพื่อการค้าได้”
คุณอนุสรณ์เริ่มทำการสำรวจเก็บข้อมูลศึกษาและทดสอบวิธีการปลูกกระชับในแปลงเพาะต้นอ่อน ศึกษาทดลองวิธีทำให้การงอกของเมล็ดให้เร็วขึ้น เปรียบเทียบวัสดุเพาะต้นอ่อนรวมทั้งการตอบสนองของต้นกระชับต่ออัตราปุ๋ยที่แตกต่างกัน ศึกษาปัญหาและอุปสรรคโดยร่วมมือกับเกษตรกรใช้เวลาศึกษาและพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2563
เครื่องปลูกสำหรับผลิตต้นอ่อนกระชับที่พัฒนาขึ้นมา มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.80 เมตร ประกอบชุดหลัก 3 ชุด คือ ชุดโรยดิน ชุดโรยเมล็ด และชุดโรยทราย มีมอเตอร์ขนาด 1 แรงม้า เป็นต้นกำลังหลัก
เครื่องปลูกกระชับมีขั้นตอนการทำงานตั้งแต่โรยดินที่ความเร็วรอบ 3.55 นาทีต่อรอบ ชุดโรยเมล็ด และรดน้ำที่ความเร็ว 5.96 รอบต่อนาที กดเมล็ดให้จมดิน ปาดทรายให้เสมอกัน เครื่องต้นแบบมีความสามารถในการทำงาน 92 ถาดต่อชั่วโมง มากกว่าการใช้แรงงานคนปลูกประมาณ 13 เท่า มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า 1.54 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้แรงงานประจำเครื่อง 1 คน
คุณอนุสรณ์ บอกว่า เราได้นำมาวิเคราะห์ต้นทุนและจุดคุ้มของการใช้งานเครื่องปลูกกระชับสำหรับผลิตต้นอ่อน โดยวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมพบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายของเครื่องปลูกกระชับสำหรับผลิตต้นอ่อน 5.30 บาทต่อกิโลกรัม มีจุดคุ้มทุนการใช้เครื่องปลูกกระชับสำหรับผลิตต้นอ่อน 123 กิโลกรัมต่อปี มีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี
พัฒนาเครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์
การปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มเกษตรกรมีรูปแบบการปลูกเป็น 2 แบบ คือ 1. ใช้เครื่องจักรร่วมกับแรงงาน 2. ใช้แรงงาน 100 เปอร์เซ็นต์
แบบที่ 1 เครื่องจักรร่วมกับแรงงาน
1.1 แปลงปลูกไถพรวน ตีดินให้แตกด้วยรถแทรกเตอร์ติดโรตารี ตีดินในแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์รถไถเดินตามติดผาล 2 ลูก ไถร่อง เปิดร่องลึก 10-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 30-35 เซนติเมตร (ผาลลูกแรกเป็นผาลกลม ผาลลูกที่ 2 ผาลกลมร่อง)
1.2 แรงงานคนเดินหยอดเมล็ดกระชับระยะห่าง 30-35 เซนติเมตร แต่จะหยุดหยอด มีเมล็ดกระชับประมาณ 5-8 เมล็ด
- รถไถเดินตาม แล่นมากลบร่องและทำการเปิดแนวร่องใหม่
แบบที่ 2 ใช้แรงงาน 100 เปอร์เซ็นต์
2.1 แปลงปลูกไถพรวนและตีดินให้แตกด้วยรถแทรกเตอร์ติดโรตารีตีดินในแปลงปลูก
2.2 ใช้แรงงานคนขุดหลุมด้วยจอบลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร กว้าง 15 เซนติเมตร ระยะห่าง ระหว่างแถวและหลุมประมาณ 50×50 เซนติเมตร
2.3 ใช้แรงงานคนหยอดเมล็ดกระชับ 4-5 เมล็ดต่อหลุม แล้วใช้เท้าปาดดินกลบหลุม
ศึกษาข้อมูลการใช้แรงงานปลูกผักกระชับ
คุณอนุสรณ์ บอกว่า การเก็บข้อมูลการใช้แรงงานคนปลูกกระชับ ขนาดแปลงยาว 40 เมตร แรงงานคนขุดโดยใช้จอบหน้ากว้าง 15 เซนติเมตร ขุดลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมในการก้าวเท้ากะระยะในการปลูกเมล็ดกระชับ จะเริ่มจากการขุดหลุมปลูก และใช้แรงงานคนในการหยอดเมล็ดกระชับแล้วใช้เท้ามาปาดดินกลบหลุม ผลการทดสอบพบว่า การขุดปลูกแต่ละแถวที่ความยาวเท่ากัน จะมีจำนวนหลุมปลูกไม่เท่ากันและเวลาไม่เท่ากัน เป็นผลมาจากการก้าวเท้าขณะขุดหลุมปลูก ซึ่งจะเกิดจากการเหนื่อยล้าและจากการใช้จอบขุดหลุมปลูกเป็นเวลานานด้วย
จากการศึกษาพบว่า ใช้เวลารวมเฉลี่ยในการปลูกเมล็ดกระชับ 242 วินาทีต่อแถว โดยมีความสามารถในการทำงานของเกษตรกร 0.50 ไร่ต่อชั่วโมง มีระยะห่างระหว่างแถวเฉลี่ย 55 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมเฉลี่ย 65 เซนติเมตร จำนวนหลุมเฉลี่ย 77 หลุมต่อแถว เมล็ดกระชับงอกเฉลี่ย 39 เปอร์เซ็นต์
หลังจากได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลและศึกษาทดสอบวิธีการปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ ศึกษาอุปสรรคและปัญหาที่เกิดโดยร่วมมือกับเกษตรกรและคุณอนุสรณ์กับคณะจึงได้ทำการออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบ ศึกษาปัจจัยต่างๆ ของอุปกรณ์เครื่องมือที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด เช่น ความกว้างของร่อง ความหนาของดินกลบที่ยอมรับได้
คุณอนุสรณ์ บอกว่า ได้ทำการทดสอบเครื่องต้นแบบปรับปรุงแก้ไข เก็บข้อมูลการทำงานของเครื่องที่เหมาะสม เช่น ปริมาณการหยอดเมล็ดต่อหลุม ความสามารถในการทำงานของเครื่องคือ กิโลกรัมต่อชั่วโมง เปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด การใช้พลังงานเชื้อเพลิงกับกำลัง (ลิตรต่อชั่วโมง) เป็นต้น แล้วนำเครื่องต้นแบบไปทดสอบเก็บข้อมูลจริงที่แปลงของเกษตรกร
เครื่องปลูกกระชับที่ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี โดยคุณอนุสรณ์และคณะได้พัฒนาเครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร สามารถช่วยลดการใช้แรงงานคน ลดเวลาการทำงานในแปลงปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์มีขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 1.50 เมตร สูง 1.50 เมตร ประกอบด้วยชุดหลัก 3 ส่วน คือ หัวหมูเปิดร่อง ส่วนหยอดเมล็ดกระชับ และฐานกลบหลุม จากการทดสอบพบว่า การปลูกด้วยเครื่องต้นแบบจะมีเมล็ดกระชับเฉลี่ย 5 เมล็ดต่อหลุม ระยะห่างระหว่างหลุม เฉลี่ย 52 เซนติเมตร การออกเฉลี่ย 55 เปอร์เซ็นต์
การใช้ต้นแบบปลูกจะใช้เวลาประมาณ 82 วินาทีต่อแถว ซึ่งการใช้แรงงานคนปลูกใช้เวลาประมาณ 242 วินาทีต่อแถว ซึ่งใช้เวลามากกว่าต้นแบบ 2.9 เท่า เครื่องต้นแบบมีความสามารถในการทำงาน 1.07 ไร่ต่อชั่วโมง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 0.84 ลิตรต่อชั่วโมง
ผลการวิเคราะห์ต้นทุนและจุดคุ้มทุนของการใช้เครื่องปลูกกระชับในแปลงคำนวณ โดยการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมพบว่า มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 168 บาทต่อไร่ จุดคุ้มทุนเมื่อใช้งานปริมาณ 301.84 ไร่ ระยะเวลาคืนทุน 3 ปี
การปลูกกระชับเพื่อการค้าของเกษตรกรดังที่กล่าวมาแล้ว มีพื้นที่อยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำประแส ซึ่งประกอบด้วย ตำบลทางเกวียน (บ้านทะเลน้อย) ตำบลพังราด ตำบลคลองปูน และตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง หากเกษตรกรรวมตัวให้เป็นการปลูกผักกระชับแบบเกษตรแปลงใหญ่โดยได้รับการส่งเสริมจากเกษตรอำเภอแกลง เกษตรกรจะสามารถรวมตัวกันและมีกำลังซื้ออุปกรณ์ทุ่นแรงการปลูกผักกระชับเพื่อการค้าขยายตัวออกไปสู่ตลาดจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง ชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรจะมีความมั่นคงมีความเป็นอยู่และชีวิตที่ดีขึ้น
สนใจสอบถามข้อมูลและขอดูเครื่องต้นแบบได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โทร. 039-609-652