ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | นายนพรัตน์ โชติเกษมกุล |
เผยแพร่ |
เกษตรกรชาวอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปลี่ยนบ่อกุ้งร้างมาเลี้ยงปูหน้าขาวโกยเงิน ครึ่งแสนต่อเดือน ขานรับนโยบายการเลี้ยงปู ในบ่อกุ้งร้างปีแรกของกรมประมง แค่ 3 เดือนปูมีน้ำหนักตั้งแต่ 5-6 ขีด เลี้ยงต่อไปอีก 45 วันจะได้ปูน้ำหนักตัวละ 1 กิโลกรัม ขายได้ราคาดีกว่าปูดำ โตเร็วกว่า และเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่ทำได้หลากหลายเมนูอร่อย
นายวิทยา ธนากรเจริญ เจ้าของบ่อกุ้ง เนื้อที่ 3 ไร่ หมู่ที่ 4 ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้หยุดเลี้ยงกุ้ง หลังประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ และมีต้นทุนสูง ต่อมาได้ยกที่ิดินฟาร์มกุ้งร้างให้ลูกชายคือ นายวรุฒม์ ธนากรเจริญ อายุ 53 ปีเป็นผู้ดูแล นายวรุฒม์ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยปรับเปลี่ยนบ่อกุ้งร้างมาใช้เลี้ยงปูหน้าขาวหรือปูทองหลางตามโครงการพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงปูทะเลในบ่อกุ้งของกรมประมง เนื่องจากปูหน้าขาวเป็นปูทะเลที่โตเร็ว ได้น้ำหนัก และราคาดีกว่าปูดำและปูม้า เนื้อปูแน่น ก้ามโต ตัวใหญ่ รสชาติหวานมันกว่าเนื้อปูทะเลชนิดอื่น
ปูหน้าขาวเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก แต่เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงปูหน้าขาว จนกระทั่งสำนักงานประมงจังหวัดตรัง ได้จัดทำโครงการนำร่องเลี้ยงปูหน้าขาว โดยชักชวนเกษตรกรในจังหวัดตรัง เข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 ราย รายละ 1 อำเภอ อำเภอละ 1 บ่อ บนเนื้อที่ 3 ไร่
ซึ่งแต่ละบ่อจะปล่อยลูกปูครั้งแรกในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 จำนวน 3,000 ตัว ผ่านไป 3 เดือนปรากฏว่า ปูหน้าขาวตัวผู้มีน้ำหนักตัวละ 5-6 ขีด ปูตัวเมียมีน้ำหนักตัวละ 3-4 ขีด มีเนื้อแน่น ก้ามใหญ่ ลูกค้าสนใจสั่งซื้อจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังไม่ขายเพราะต้องการทำน้ำหนักให้ได้ตัวละ 8 ขีดถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงอีก 45 วัน จึงจับขาย ในราคากิโลกรัมละ 350-500 บาท ส่วนปูตัวผู้ขายตัวละ 500 บาท
ทางฟาร์มใช้เนื้อปลาสดเป็นอาหารเลี้ยงปู ช่วงเช้า-เย็นในช่วง 2 เดือนแรก พอย่างเข้าเดือนที่ 3 ให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 30 กิโลกรัม ไม่ต้องตีน้ำให้ออกซิเจน ไม่ต้องวัดค่าความเค็มของน้ำ ปูหน้าขาวเติบโตได้ดีในสภาพน้ำกร่อย ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปูหน้าขาวเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในจังหวัดตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งตรังเพาะขยายพันธุ์ลูกปูหน้าขาว จำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาตัวละ 3 บาท
หลังฟาร์มแห่งนี้ประสบความสำเร็จก็มีเกษตรกรจากหลายอำเภอ เดินทางมาศึกษาดูงานกันเป็นจำนวนมาก ด้านตลาดรับซื้อก็เปิดกว้าง สามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดพริกไทยดำ แกงส้ม นึ่ง เผา หลนปูไข่ ผัดผงกะหรี่ ฯลฯ ในปี 2567 มีเกษตรกรเจ้าของบ่อกุ้งร้างในจังหวัดตรัง สนใจเลี้ยงปูหน้าขาวเพิ่มมากขึ้น บางรายเลี้ยงแค่ 3 เดือนก็จับปูขายได้แล้ว เกษตรกรรายใดสนใจติดต่อสอบถามที่สำนักงานประมงจังหวัดตรังได้ทุกวัน ในวันและเวลาราชการ
นายวรุฒม์ ธนากรเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงปูหน้าขาวในอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า การเลี้ยงปูหน้าขาวสร้างรายได้ดีกว่าการเลี้ยงกุ้ง ก่อนหน้านี้ ตนเองเคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ซึ่งใช้ต้นทุนเยอะ หลังหันมาเลี้ยงปูโดยให้เนื้อปลาเป็นอาหาร โดยไม่ต้องตีน้ำ หลังปล่อยปูลงบ่อตั้งแต่วันแรกถึงอายุ 2 เดือนให้อาหารวันละ 2 มื้อ ในช่วงเช้ากับเย็น หลังปูอายุ 2 เดือนให้เนื้อปลาวันละ 1 มื้อเป็นอาหารมื้อเย็น หลังเลี้ยงครบ 6 เดือน ปูตัวผู้ขายกิโลกรัมละ 350 บาท ตัวเมียราคากิโลละ 500 บาท
นายวรุฒม์เลี้ยงปูครบ 4 เดือนครึ่ง จึงค่อยจับปูขาย โดยปูตัวโตเต็มที่น้ำหนัก 8 ขีดถึง 1 กิโลกรัม ข้อดีของการเลี้ยงปูคือ ไม่เสี่ยงและตลาดกว้าง ดีกว่าการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น นอกจากนี้ การเลี้ยงปลา ตลาดในท้องถิ่นยังไม่ดี สู้ตลาดภาคกลางไม่ได้ ปูหน้าขาวที่เลี้ยงในท้องถิ่นมีรสชาติหวานดี โครงการเลี้ยงปูหน้าขาว สร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือนกว่า 50,000 บาท อยู่ได้อย่างสบายๆ
ด้าน นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในปี 2566 จังหวัดตรังดำเนินโครงการนำร่องส่งเสริมการเลี้ยงปูหน้าขาวในบ่อกุ้งร้าง จำนวน 5 อำเภอ อำเภอละ 1 บ่อต่อเกษตรกร 1 ราย เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งจังหวัดตรัง ถือเป็นครั้งแรก เพราะจังหวัดตรังไม่เคยเลี้ยงปูหน้าขาวหรือปูทองหลางมาก่อน ได้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 3 เดือน ได้ปูตัวผู้น้ำหนักตัว 5-6 ขีด ส่วนปูตัวเมียน้ำหนักตัวละ 3 ขีดกว่า ขณะที่ปูดำทั่วไปจะมีขนาดตัวเล็กกว่า เมื่อใช้ระยะเวลาเลี้ยงเท่ากัน แต่มีน้ำหนักตัวต่างกันครึ่งต่อครึ่ง ปูดำที่ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 6 เดือนจะมีขนาดตัวเล็ก เนื้อแน่น ส่วนปูขาวใช้ระยะเวลาเลี้ยง 3 เดือนยังถือว่า เป็นวัยรุ่นอยู่ ต้องใช้เวลาเลี้ยง 4 เดือนขึ้นไปจึงจะเหมาะนำไปประกอบอาหารได้ดี
…………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566