ย้ำอีกรอบ สารพัดโรค มันมากับ “น้ำท่วม”

สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานรอบล่าสุด จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินกา

นอกจะสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชน เรื่องของ “โรค-ภัย” ที่มากับน้ำเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ “นพ. ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร” ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา (สคร.9 นครราชสีมา) ระบุว่าในช่วงที่มีสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคอีสานตอนบน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและอากาศ มีความเสี่ยงเกิดโรคและภัยสุขภาพตามมา ประกอบด้วย

1. โรคไข้หวัดใหญ่ ในเขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 กรกฎาคม 2560 มีผู้ป่วย 3,731 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในขณะนี้เป็นช่วงเปิดเทอมของนักศึกษาหลายสถาบัน มักมีกิจกรรมที่คนมาอยู่รวมกัน จึงมีความเสี่ยงระบาดในสถานศึกษา

2. โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู การลุยน้ำสกปรกในช่วงน้ำท่วม ในขณะที่ร่างกายมีบาดแผล พบผู้ป่วยจำนวน 153 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ควรปฏิบัติตัวเมื่อระดับน้ำลดและสำรวจสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยแล้ว ดังนี้ สวมรองเท้า หรือรองเท้าบูต

หากต้องลุยน้ำ หรือเดินบนที่ชื้นแฉะ เมื่อเสร็จภารกิจต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด สวมถุงมือยางในการเก็บกวาดบ้านเรือน ถนนและสิ่งสาธารณประโยชน์ เก็บกวาดขยะไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและสัตว์อื่น หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องและโคนขา ควรรีบพบแพทย์

3. โรคตาแดง พบผู้ป่วย จำนวน 6,201 ราย เมื่อมีน้ำสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา หมั่นล้างมือด้วยน้ำสะอาด อย่าให้แมลงตอมตา ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

4. โรคอุจจาระร่วง เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ขาดแคลนน้ำสะอาด ทั้งน้ำดื่มและน้ำสำหรับบริโภค โดยเฉพาะในศูนย์พักพิงที่มีผู้มาอาศัยรวมกันจำนวนมาก ทำให้ขาดน้ำสะอาดสำหรับชำระร่างกายและล้างมือ อีกทั้งน้ำที่ไม่สะอาดทำให้เกิดการปนเปื้อน พบผู้ป่วยจำนวน 60,321 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้แช่เย็นและไม่ได้อุ่นให้สุกก่อนรับประทาน อาหารที่นำไปบริจาคผู้ประสบภัยที่ทำไว้เกิน 4 ชั่วโมง แต่สามารถป้องกันได้โดยล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อน เก็บอาหารไม่ให้แมลงรบกวน

5. อันตรายจากสัตว์มีพิษ หากถูกงูกัดให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ใช้ผ้าสะอาดพันให้แน่นแล้วรีบนำส่ง รพ.โดยเร็ว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงลักษณะงูที่กัด ถ้านำซากงูไปด้วยจะดีมาก

6. อันตรายจากไฟฟ้าดูด ก่อนน้ำท่วมควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน กรณีเป็นบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังท่วมชั้นล่างให้ปลดสวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง และปลดสวิตช์ย่อยลงให้หมด ขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก ห้ามแตะสวิตช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า

7. อันตรายจากการจมน้ำเสียชีวิต ไม่ควรลงเล่นน้ำบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเตรียมชูชีพให้พร้อม ผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่สามารถดูแลตนเองได้ไม่ควรอยู่ตามลำพัง

การดูแลสุขภาพจิตของประชาชนที่อาจเกิดความเครียดจากสภาพแวดล้อม สคร.9 ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต จัดเป็นทีมเข้มแข็งลงพื้นที่เพื่อประเมินความเครียดของประชาชน พร้อมให้คำแนะนำที่ดีแก่ผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงบ้านที่พักอาศัยของตนเอง รวมทั้งจัดกิจกรรมสันทนาการคลายความเครียดภายในศูนย์อพยพบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ซึ่งปัญหานี้ได้มีการดำเนินการป้องกันและตอบโต้สถานการณ์ไว้ก่อนประสบอุทกภัยแล้ว จึงไม่น่าห่วงมากนัก

อย่างไรก็ตาม หลังน้ำลดจะพบกองขยะซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ประชาชนควรดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วยกันควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในครัวเรือนและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยใช้หลัก 3 เก็บ คือเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ

1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก

2. เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

และ 3. เก็บน้ำให้มิดชิด ปิดไม่ให้ยุงลายวางไข่เพื่อป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

“นพ. ปรเมษฐ์ กิ่งโก้” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มแรกในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้จัดส่งทีมแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์และยา ไปยังศูนย์อพยพเพื่อช่วยเหลือในทันที ต่อมาพบว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นระดับน้ำยังทรงตัวเริ่มพบผู้ป่วยเข้ามารักษาอย่างต่อเนื่อง และที่น่าเป็นห่วงคือการควบคุมโรคมากับน้ำ จึงได้ดำเนินการป้องกันรอบด้านตามแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม เริ่มจากจัดนายสะอาดลงเรือไปประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการประกอบอาหารที่สะอาด การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลกับครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยและการแนะนำเกี่ยวกับสัตว์พาหะนำโรคและแมลงที่เป็นอันตราย รวมถึงสัตว์เลื้อยคลานมีพิษเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

จากรายงาน ณ ศูนย์อพยพ โรงยิม องค์การบริการส่วนจังหวัดสกลนคร มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน 120 ราย แยกเป็นท้องร่วง 1 ราย ปวดกล้ามเนื้อ 9 ราย ไข้ไอเจ็บคอ 57 ราย ตาแดง 5 ราย ผื่น 12 ราย ปวดข้อ 8 ราย บาดแผล 10 ราย น้ำกัดเท้า 25 ราย อื่นๆ ได้แก่ วิงเวียน ท้องอืด เท้าบวม ปลิงกัด และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 14 ราย ถือว่าเป็นที่พอใจและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

ที่สำคัญในช่วงเกิดน้ำท่วม สาธารณสุขจังหวัดสกลนครเตรียมแผนเยียวยาสภาพจิตใจไว้แล้ว เพราะตอนนี้แต่ละคนค่อนข้างย่ำแย่ หวั่นลุกลามบานปลายเป็นเหตุให้ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

สาธารณสุขสกลนครจึงร่วมกับ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ลงพื้นที่เคาะประตูบ้านเข้าไปพูดคุยเพื่อลดความเครียด ตอนนี้ดำเนินการแล้วหลังพูดคุยดูผ่อนคลายมากขึ้น เน้นระบายความรู้สึก ให้ความรู้เสริมสร้างพลังใจ ให้ผู้ประสบภัยเตรียมรับมือ สามารถจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตตามมา

เมื่อกลับถึงบ้านสามารถเป็นกำลังใจให้แก่กันและกันได้