นักวิชาพืชสวนมั่นใจ “ยะลา” บูมปลูกกาแฟสู่ระดับสากล

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม กรณี นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ร่วมกับ นายสมบัติ ตงเต๊า ผอ.สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตรเกษตร พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายธวัชชัย นิ่มกิ้งรัตน์ ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดศรีสะเกษ นายศุกร์ เก็บไว้ ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดตรัง นายสิทธิ์ แดงประดับ ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา นายทวีศักดิ์ แสงอุดม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ และ นายสุภรณ์ ด้วงดี ตัวแทนกลุ่มนายทุนผู้ร่วมโครงการจัดสร้างสถานที่เก็บและช่วยเหลือด้านตลาด ลงพื้นที่สำรวจแหล่งกำเนิดการปลูกกาแฟดั้งเดิมในพื้นที่ อำเภอธารโต บันนังสตา และ เบตง จังหวัดยะลา เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มีทางเลือกมากขึ้น ประเดิมหาพื้นที่ของชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วม 1 พันไร่ จะเน้นปลูกในสวนยางพาราเดิม มีทางเลือกมากหลังจากการปลูกยางพาราประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนัก

นายสมบัติ เผยว่า ได้เก็บเมล็ดพันธุ์กาแฟตัวอย่างในพื้นที่ไปตรวจระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐาน ก่อนจะลงมาเร่งการส่งเสริมครบวงจร จะส่งเสริมปลูกกาแฟแซมกับพืชอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ

นายธวัชชัย กล่าวว่า พื้นที่ยะลามีความเหมาะสมลงตัวที่จะปลูกกาแฟ เป็นข้อยืนยันจากอดีตที่เคยเป็นแหล่งกาแฟเดิม ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นไปได้ การตลาดปัจจุบันนั้นไม่ใช่ปัญหา ทั้งนี้มีประชาชนทั่วประเทศบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น ในอัตราที่ก้าวหน้า เฉลี่ยอยู่ที่ 58% ของประชากรทั่วประเทศ หมายถึงผลผลิตกาแฟในประเทศไทยยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้ทั่วถึง จนต้องนำกาแฟเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่รวมถึงการหลบหลีกนำเข้าของกองทัพมดผ่านทางชายแดนแบบไม่ผ่านศุลกากร เพราะฉะนั้นทั้ง อำเภอธารโต บันนังสตา และเบตง มีพื้นที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย จะเป็นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวได้ด้วย ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่คิดแต่เฉพาะเรื่องของยางพารา

นายธวัชชัย กล่าวว่า ยะลามีสภาพภูมิอากาศสามารถปลูกได้ทั้งสองสายพันธุ์ คือ อาราบิก้าและโรบัสต้า ต้องเริ่มการสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ของการทำกาแฟด้วยการนำเทคโนโลยีมาเสริมกับพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีดิน มีน้ำ มีอากาศที่ดี มีอุณหภูมิเหมาะสมดีกว่า หากจะเทียบระหว่างยะลากับศรีสะเกษ พื้นที่ยะลาทำได้มากกว่า

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน