บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี จัด “โครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวไทย” ต่อเนื่องปีที่สอง มั่นใจ ยกระดับความเป็นอยู่ชาวนาดีขึ้น จากการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างถูกต้อง สู่การพัฒนาเพิ่มผลผลิต และคุณภาพ อย่างยั่งยืน

ก้าวเข้าสู่ปีที่สอง สำหรับโครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวไทย จัดขึ้นโดย บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ผนึกกำลังระหว่าง มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรเพื่อสร้างความยั่งยืน เสริมองค์ความรู้ด้านการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศเข้ามาใช้นาข้าว ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และคุณภาพ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

นายชยุต วงศ์วณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร

นายชยุต วงศ์วณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของจังหวัดสกลนคร รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณอย่างยิ่ง ที่ทางหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน และภาคีต่างๆ ให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวนาจังหวัดสกลนคร รวมถึงพี่น้องเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ในการจัดโครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวไทย อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์จากการจัดอบรมในโครงการนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า องค์ความรู้ที่ถูกต้องสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตข้าว และคุณภาพ นำไปสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรได้อย่างไร เพราะการที่เกษตรกรมีองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ดิน และการบำรุงธาตุอาหารอย่างถูกวิธี รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีแอปพลิเคชันเข้ามาใช้ร่วมด้วย ถือว่าเห็นผลชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในทางสำนักงานจังหวัดมีหน้าที่ให้การสนับสนุน เพื่อทำให้ผลประโยชน์เหล่านี้ตกกับเกษตรกรโดยตรง และทางสำนักงานจังหวัดคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดีๆ แบบนี้ จะมีการจัดทำอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี

คุณสมรัก ลิขิตเจริญพันธ์ เจ้าหน้าที่บริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน)

คุณสมรัก ลิขิตเจริญพันธ์ เจ้าหน้าที่บริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวไทย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างล้นหลาม โดยมีผู้เข้าร่วมฟังอบรมจำนวนกว่า 1,000 คน ที่เกิดจากการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และพันธมิตรภาคเอกชน รวมทั้งเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ ในการจัดอบรมเพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในแปลงนาของตนเอง ในการเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร ทั้งในด้านองค์ความรู้ด้านการบำรุงธาตุอาหารอย่างถูกต้อง ถูกวิธี รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อตรวจสอบสถานะของแปลงจากการวิเคราะห์โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและพยากรณ์อากาศแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อลดความเสี่ยงในการเพาะปลูก ผ่านการใช้แอปพลิเคชันรีคัลท์

“โครงการเพิ่มข้าว เราได้ทำต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 4 สำหรับจังหวัดสกลนครเราจัดอบรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ถือเป็นที่น่าพึงพอใจ คือเราสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับเกษตรกรในแต่ละชุมชนได้ 20-30 เปอรเซ็นต์ ช่วยสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้น จากการเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรปลูกข้าวอย่างถูกวิธี และได้ลงมือทำแปลงสาธิตร่วมกับเกษตรกร หรือผู้นำชุมชนซึ่งได้ใช้องค์ความรู้ทั้งจากของทางมหาวิทยาลัยมอบให้ และข้อมูลของเราเองไปขยายต่อ ซึ่งจากผลการดำเนินการในครั้งนี้ทางบริษัทฯ และทุกภาคส่วนมั่นใจกับผลสำเร็จที่เกิดขึ้น เดินหน้าจัดอบรมขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน และขยายจากชุมชนไปสู่ภูมิภาคต่อไป” คุณสมรัก กล่าว

ผศ.ดร.พัสกร องอาจ  ผู้ช่วยรองอธิการบดี ฝ่ายยุทธศาสตร์พื้นที่และพัฒนาเครือข่าย ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร

ผศ.ดร.พัสกร องอาจ  ผู้ช่วยรองอธิการบดี ฝ่ายยุทธศาสตร์พื้นที่และพัฒนาเครือข่าย ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร กล่าวว่า สำหรับโครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวไทย ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่2 ที่ทางมหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจากทางบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรม ซึ่งในการจัดอบรมในแต่ละครั้งเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง โดยบทบาทหน้าที่หลักของทางมหาวิทยาลัยคือเป็นแหล่งวิชาการและการขยายองค์ความรู้ รวมถึงมีทีมนักวิจัยในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวออกมาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเพื่อสุขภาพ รวมถึงการตั้งเป้าหมายว่าภายในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยจะจัดทำโครงการวิจัยข้าวเหนียว เพื่อเพิ่มผลผลิต ที่เป็นหนึ่งในสินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของจังหวัดสกลนคร หรือที่รู้จักในชื่อ “โค ข้าว เม่า คราม” ด้วยเหตุนี้จึงพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาวิจัยข้าวเหนียวให้เกษตรกรได้ปลูก และได้ผลผลิตออกมามีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นมา

“ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็มีพื้นที่ในการอำนวยการปลูกทดลอง และทดสอบในการปลูกข้าวกับเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียง หรือที่เราเรียกว่า โครงการดาวล้อมเดือน ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรหลายรายให้ความสนใจเข้ามาใช้พื้นที่ของทางมหาวิทยาลัยในการทดลองปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งเราเองก็มีเทคโนโลยี ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในเรื่องของการใส่ปุ๋ย การปลูก และการเก็บเกี่ยว หรือแม้กระทั่งคณะศิลปศาสตร์ จะช่วยในเรื่องของการทำแพคเกจจิ้ง ซึ่งทางเรามีบุคคลากร มีคณะอาจารย์ที่เป็นนักวิจัยไปพัฒนาข้าวแล้วก็ได้รับรางวัลระดับโลกมาหลายรางวัลที่ผ่านมา”ผศ.ดร.พัสกร กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร (มก.ฉกส.)

ทางด้าน ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร (มก.ฉกส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะมีโครงการส่งเสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มข้าว เพิ่มผลผลิตข้าวไทย ทางมหาวิทยาลัย ได้ทำงานร่วมกับทางบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี มาก่อนแล้ว ในรูปแบบการทำแปลงนาสาธิตโดยการบูรณาการร่วมกันกับเกษตรกร คือการให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแปลง เก็บข้อมูล และค้นคว้าวิจัยไปพร้อมกับเรา ซึ่งผลดีได้รับเป็นที่น่าพึงพอใจเกษตรกรให้การยอมรับและสามารถนำองค์ความรู้ที่ทางมหาวิทยาลัย และบริษัทฯ เผยแพร่ไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

Advertisement

“เมื่อเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างถูกต้อง และรับทราบถึงประโยชน์และข้อดีของโครงการฯ เขาก็จะสามารถถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ ให้กับเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มของเขาได้ ตรงนี้ถือเป็นการถ่ายทอดโดยที่เราไม่ต้องถ่ายทอดเอง แต่จะให้เกษตรกรที่เป็นผู้นำถ่ายทอดให้กับเกษตรกรกรด้วยกันเอง และในขณะเดียวกันนิสิตของเรา เราก็ให้ลงไปทำงานวิจัยร่วมกับเกษตรเช่นเดียวกัน บนพื้นที่จริงเพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิน ฟ้า อากาศ หรือแม้กระทั่งปริมาณน้ำฝน ก็จะอยู่ในพื้นที่ที่เกษตรกรทำจริงๆ ทำให้เกิดความแม่นยำสูง ซึ่งเกษตรกรก็จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์รวมถึงสภาพพื้นที่ของตนเองได้ดีกว่าเรา ถือเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้อีกหนึ่งรูปที่เราทำและให้เกษตรกรเป็นผู้ถ่ายทอดรวมถึงนิสิตที่จะได้รับประสบการณ์ตรงจากตรงนี้ด้วย” ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ กล่าว

นายกองเอกเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย

นายกองเอกเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวในนามของสมาคมฯ ด้วยสถานการณ์โลกในตอนนี้ทั้งดิน ฟ้า อากาศ ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเรื่องของภัยธรรมชาติ และความร้อนที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาของพืชผลทางการเกษตทั้งหมด รวมถึงข้าว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตของเกษตรกรไทยจะดีกว่าที่เป็นมา จากการได้รับองค์ความรู้อย่างถูกต้อง และลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธี

Advertisement

“ในนามของสมาคมฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการดีๆ แบบนี้ และสิ่งที่น่าประทับใจคือการได้เห็นเกษตรกรกว่า 1,000 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเทคนิคใหม่ๆ ในการที่จะเพิ่มผลผลิต โดยหน้าที่ของสมาคมฯ เราทำหน้าที่ในฐานะผู้ทำความเข้าใจในกลุ่มปุ๋ย รวมทั้งประสานงานให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ และเอกชน เพื่อนำความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับทางเกษตรกร โดยส่วนมากเราจะทำงานประสานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั่วประเทศ และอีกส่วนนึงเราก็มีเวทีร่วมกับทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรม ซึ่งเราเป็นสมาชิกอยู่ทางเราก็ได้ประสานงานทั้งด้านความรู้อุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ” นายกองเอกเปล่งศักดิ์ กล่าว

ผศ.ทศพล สมพงษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัด

ผศ.ทศพล สมพงษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัด มีหน้าที่ในการประสานงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งส่วนราชการ เอกชน รวมถึงภาคีองค์กรอื่นๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกร แต่สิ่งที่เรายังขาดคือองค์ความรู้ที่ถูกต้อง จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เหล่านี้จากสถาบันการศึกษา ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีลงสู่การปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการที่เราได้นำเกษตรกรจำนวน 1,000 คนเข้าร่วมอบรมความรู้ในวันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ของสภาเกษตรกรในการประสานภาคส่วนต่างๆ ในการให้การช่วยเหลือเกษตรกร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองค้นคว้าวิจัย ในการที่จะให้เกษตรกรได้เพิ่มผลผลิต มีการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี และรักษาระบบนิเวศให้มีความสมดุล ซึ่งทางสภาเกษตรกรจังหวัดคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ไม่ใช่การเข้าร่วมเพียงครั้งเดียว แต่ในอนาคตจะเป็นการร่วมมือระหว่างสภาเกษตรกรจังหวัด มหาวิทยาลัย และบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี ในการลงพื้นที่ทดลองการใช้ปลูกและการบำรุงธาตุอารอย่างถูกวิธี ในลักษณะที่ทางสภาเกษตรกรจังหวัด อำนวยความสะดวกในด้านการจัดหาพื้นที่ของเกษตรกรที่มีความพร้อมในการที่จะทดลองค้นคว้าวิจัยเพื่อใหผลผลิตที่ดี และเหมาะสมกับระบบนิเวศของแอ่งสกลนคร

นางสมใจ ครุธตำคำ เกษตรกรร่วมโครงการแปลงนาสาธิต โครงการเพิ่มข้าว

นางสมใจ ครุธตำคำ เกษตรกรร่วมโครงการแปลงนาสาธิต โครงการเพิ่มข้าว กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการเพิ่มข้าว ปัญหาหลักๆ ที่ประสบมาโดยตลอดคือ เรื่องของปริมาณผลผลิตและคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่มีผลมาจากการยึดติดทำนาแบบเดิมๆ สมัยบรรพบุรุษทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่มีการค้นคว้าหาต้นตอของปัญหา และวิธีแก้ไขที่จะทำอย่างไรให้ผลผลิตในนาข้าวเพิ่มขึ้น

จนกระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มข้าว จากการชักชวนของมหาวิทยาลัยฯ จึงไม่รอช้า เพราะคิดว่าโครงการนี้จะเป็นโอกาสทั้งของตนเองและเกษตรกรที่จะได้เข้าถึงข้อมูลและวิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องในการเพิ่มผลผลิตข้าวในแปลงของตนเอง รวมถึงที่ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการดาวล้อมเดือนด้วย จึงถือเป็นโอกาสดีในการที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรด้วยกันได้เข้าใจง่ายขึ้น โดยยึดหลักความถูกต้อง “ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี”

“จากพื้นฐานเดิมเราเป็นเกษตรกรปลูกข้าวอยู่แล้ว แต่เรามีปัญหาของเรื่องของผลผลิต ด้วยเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน และขาดความรู้ที่ถูกต้องเรื่องการบำรุงใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี แต่ตอนนี้เราได้ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ เราก็มาประยุกต์ใช้ในนาข้าวของเรา ผลผลิตและคุณภาพข้าวในแปลงก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยที่แปลงของเราจะเน้นปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จากเดิมที่ได้ผลผลิตเพียง 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อมีองค์ความรู้การปลูก การดูแล บวกกับเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศ ทำให้เราสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ นับได้ว่าเกือบจะเป็นผลผลิตที่สูงที่สุด เนื่องจากข้าวหอมมะลิ 105 จะให้ผลผลิตได้สูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 650 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งตอนนี้เราเดินทางมาได้ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่เหลืออีก 50 กิโลกรัม คาดว่าปีหน้าทำสำเร็จแน่นอน” คุณสมใจ กล่าวทิ้งท้าย

คุณสุภัค เหล่าดี ผู้จัดการทั่วไป สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี

คุณสุภัค เหล่าดี ผู้จัดการทั่วไป สายงานการตลาด วิจัยและพัฒนา บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มข้าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของบริษัทฯ ที่ต้องการพัฒนาผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านการเพิ่มผลผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้พันธุ์ข้าว การจัดการน้ำ การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การเตรียมแปลงก่อนการเพาะปลูก การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีภาคการเกษตร รวมทั้งใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ในการดูแลรักษาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value) และยังสอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทฯ คือการเอาใจใส่ต่อสังคม โดยผลผลิตข้าวบางส่วนที่ได้จากแปลงสาธิตจะถูกนำไปมอบให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการ รวมไปถึงมีการจัดการประชุมกับเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ความรู้และขยายผลของโครงการเพื่อทำให้การเพิ่มผลผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน

คุณบุรินทร์ พิชัยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนา บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี

คุณบุรินทร์ พิชัยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนา บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี กล่าวว่า ในส่วนของการถ่ายทอดองค์ความรู้การเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับเกษตรกร ทางบริษัทฯ อาศัยหลักเทคนิคของทางมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาแนวทางมาก่อน จากนั้นวิเคราะห์และนำแนวทางที่ดีที่สุดมาขยายผล และถ่ายทอด โดยสิ่งที่ยากที่สุดของการจัดโครงการนี้คือ การเปลี่ยนความคิดของเกษตรกร ซึ่งการที่เกษตรกรจะเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเกษตรกรต้องเปลี่ยนทั้งการจัดการ การลงทุน เทคนิควิธีการ การใช้พันธุ์ข้าว การใช้การจัดการธาตุอาหาร การปรับปรุงดิน วิธีคิด และสุดท้ายคือกำไรสุทธิที่เกษตรกรจะได้รับ

ทางบริษัทฯ จึงเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” โดยเริ่มต้นจากการแนะนำเทคนิคที่ทำได้ง่ายๆ แล้วให้เกษตรกรไปทดลองทำกันเอง ซึ่งปัญหาอยู่ที่เกษตรกรไม่เห็นข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจนว่าทำในรูปแบบที่เราแนะนำไปแล้วดียังไง ด้วยเหตุนี้ทางบริษัท จึงได้มีการปรึกษาร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบจากการแนะนำเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนมาปฏิบัติให้เห็นบนพื้นที่ขนาดใหญ่เลยว่า ถ้าเกษตรกรทำนาปลูกข้าวตามเทคนิคที่เราเผยแพร่องค์ความรู้ไปจะมีผลดีเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง จากนั้นเมื่อเราทำจนเห็นผลว่าทำวิธีของเราได้ผลผลิตและคุณภาพข้าวเพิ่มขึ้นจริงๆ ในปีถัดมา ก็เริ่มมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมทำแปลงสาธิตกับเราเป็นจำนวนมาก