ส่อง “สุไหงโก-ลก” เมืองต้นแบบ ก้าวสู่ “ค้าชายแดนระหว่างประเทศ” 4,500 ล้าน

กว่า 13 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ปะทุหนักขึ้น และต่อเนื่องยังไม่รู้จุดสิ้นสุด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

แต่ด้วยศักยภาพในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่ 3 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และทำเลที่ตั้ง ที่ถือเป็นประตูด่านสำคัญของชายแดนไทย-มาเลเซีย ทำให้รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เห็นชอบหลักการ คัดเลือก 3 อำเภอ 3 จังหวัดเป็นเมืองต้นแบบ มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่ โดยใช้แนวคิด ให้เอกชนนำ แล้วภาครัฐสนับสนุน กรอบระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2560-2563

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมืองต้นแบบ “การค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ” เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ

สุไหงโก-ลกฉลุย 2 โครงการ 50 ล้าน

ข้อมูลจากอำเภอสุไหงโก-ลก ระบุว่า จังหวัดนราธิวาสมีประชากร 7.8 แสนคน อาศัยอยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก ประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมด โดย 68% มีอาชีพค้าขาย พึ่งพากำลังซื้อหลักจากเพื่อนบ้านมาเลเซีย ขณะที่การค้าชายแดน ปี 2559 อยู่ที่ 3,133 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.39 ของมูลค่าการค้ารวม เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 5.99 และตั้งเป้าปี 2560 จะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 4,500 ล้านบาท

“ปรีชา นวลน้อย” นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า อำเภอสุไหงโก-ลก ได้เสนอโครงการเมืองต้นแบบทั้งหมด 3 โครงการ 8 แผนงาน งบประมาณรวม 532 ล้านบาท แต่ขณะนี้มี 2 โครงการเท่านั้นที่คืบหน้า ได้แก่ 1.แผนการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก งบประมาณ 31.20 ล้านบาท ขณะนี้ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 แล้ว คาดว่า

วาระที่ 2 จะอนุมัติในเดือนตุลาคมนี้ และ 2.การศึกษาความเหมาะสมสถานีขนส่งสินค้า ผ่าน (สนช.) วาระที่ 1 เช่นกัน ด้วยงบประมาณ 18.6 ล้านบาท เป็นค่าสำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และจ้างที่ปรึกษา 2 พื้นที่ คือ จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดสงขลา ขณะที่โครงการอื่น ๆ ที่พื้นที่นำเสนอไปยังไม่ผ่านการพิจารณา

Advertisement

ส่วนความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการตรวจคนเข้าเมือง เอื้อต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองชายแดน ขณะนี้ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก ได้รับงบประมาณ 10.7 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องตรวจหนังสือเดินทางระบบ PIBICS จำนวน 13 ชุด จัดหาระบบฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ หรือ e-Finger Print จำนวน 5 ชุด และเพิ่มกล้องวงจรปิด หรือ CCTV อีก 30 ตัวแล้ว เพิ่มความสะดวกในการเข้าออกมากขึ้น

“โครงการที่ผ่านวาระที่ 1 สนช.นั้นถือว่าโอเค แต่สิ่งที่ท้องถิ่นต้องการมาก คือ การพัฒนาด้านการค้า เนื่องจากโก-ลกเป็นเมืองการค้าชายแดน และต้องการพัฒนาให้เป็นการค้าข้ามแดนไปยังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอนาคตถึงบรูไนและยุโรป ดังนั้นสิ่งที่ต้องการขณะนี้ คือ ต้องพัฒนาสะพานเชื่อมไทย-มาเลเซียแห่งที่ 2 เพราะปัจจุบันการคมนาคมแออัด แต่ยังติดปัญหาคือฝ่ายมาเลเซียไม่ต้องการมากนัก เนื่องจากจะกระทบต่อการเวนคืนที่ดินของประชาชนบริเวณรันเตาปังยัง

Advertisement

อีกทั้งมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการร่วม ทำให้ไม่สามารถประสานติดต่อเจ้าหน้าที่มาเลเซียได้ อย่างไรก็ตาม หากจะพัฒนาให้เป็นการค้าชายแดนในอนาคตต้องเจรจาปรับปรุงสะพานเชื่อมไทย-มาเลเซียแห่งที่ 2 นี้”

โก-ลกขอศูนย์กลางตลาด

ผู้ที่เคยมาเยือนสุไหงโก-ลก ต่างทราบดีว่าโดยสภาพการค้าขายปัจจุบันยังมีลักษณะวางขายกันแบบสะเปะสะปะ คือ ขายบนถนน หน้าบ้านและหลังบ้าน จึงมีโครงการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม คือ ก่อสร้างศูนย์กลางตลาดสินค้าทางการเกษตร บนเนื้อที่ 8 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังผล

และหากจะให้ตรงใจที่สุด คือ ขอให้รัฐบาลซื้อที่ดิน และรื้อถอนบ้านเอื้ออาทรของการเคหะฯ บนเนื้อที่ 25 ไร่ เนื่องจากปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีความจำเป็นต่อชาวบ้าน แล้วลงทุนพัฒนาโครงการพื้นฐาน เพื่อให้เอกชนเข้ามาพัฒนา โดยการสร้างคอมเพล็กซ์ หรืออาคารอเนกประสงค์ เพื่อใช้จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ

“วันนี้ผมมองว่าต้องมีห้างในโก-ลก เพราะในพื้นที่ 3 จังหวัด มีบิ๊กซี ปัตตานีที่เดียว ขณะที่มาเลเซีย รัฐกลันตัน ซึ่งเป็นรัฐยากจน แต่กลับมีห้างหลายห้าง มีศูนย์ฮาลาล มีครบทุกอย่าง แต่เราไม่มีอะไรเลย นี่จึงเป็นความคิดความฝันของคนพื้นที่ที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน”

ชูโปรเจ็กต์ปลอดภาษีทั้งเมือง

นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า หากจะพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ มองว่าโครงการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษีตอบโจทย์ที่สุด และต้องมีรูปแบบแตกต่างจากที่อื่น คือ ไม่ได้หมายถึงร้านค้า

ที่ให้เฉพาะนักท่องเที่ยวซื้อได้เท่านั้น แต่ให้รวมทั้งเมือง เป็นเขตปลอดภาษี ให้ประชาชนคนไทย ปัตตานี ยะลา และพี่น้องมาเลเซียเข้ามาจับจ่าย จะทำให้เศรษฐกิจเมืองชายแดนคึกคักขึ้นทันที รัฐบาลต้องใช้ ม.44 แก้กฎหมายที่ติดขัด หากไม่ทำยุคนี้ เมื่อการเมืองกลับมาจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของใครของมันเหมือนเดิม

รัฐต้องช่วยเมืองคนป่วยเรื้อรัง

ด้าน “สุชาดา พันธุ์นรา” นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสได้สิทธิพิเศษมาก เนื่องจากเป็นทั้งเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยเฉพาะเรื่องซอฟต์โลน ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ถือว่าดึงดูดนักลงทุนมาก แต่การอนุมัติวงเงินขณะนี้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากสภาพัฒน์มองเรื่องความคุ้มค่า แต่ตนมองว่าสภาพัฒน์คิดผิด เพราะหากมองจุดคุ้มค่าเราก็เดินหน้าไม่ได้ เราต้องมองว่าพื้นที่เราผิดปกติ เป็นคนป่วยเรื้อรังมาเป็น 10 ปี

หดหู่มาก ต้องรับยาพิเศษ

สุชาดาบอกว่า โครงการที่รัฐอนุมัติส่วนมากยังไม่ได้ตอบโจทย์ชาวบ้านที่ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมาก คือ รัฐต้องหาสถานที่ให้เขาทำธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่าง เพราะสุไหงโก-ลก เป็นศูนย์กลางการค้า คือ ซื้อมาขายไป มองว่าจุดที่เหมาะสม คือ บ้านเอื้ออาทรของการเคหะฯตอนนี้ปล่อยทิ้งไว้ เป็นแหล่งเสื่อมโทรม หากรัฐซื้อจากรัฐแล้ว เอกชนมาปรับปรุงพื้นที่สร้างอาคารอเนกประสงค์ จะสามารถพัฒนาเป็นแลนด์มาร์ก ร้านค้าได้

“สุไหงโก-ลก ได้เปรียบเรื่องอาหาร และการเที่ยวบันเทิง ดิสโก้ คาราโอเกะ ที่มาเลเซียไม่มี ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจคึกคัก แต่รัฐจะต้องยกเว้นระเบียบบางตัว หรือการเปิดจุดผ่อนปรน เพราะอย่างที่ทราบกันว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามากินมาเที่ยวบ้านเราส่วนมากเป็นข้าราชการมาเลเซียที่มักจะเข้ามาจุดผ่อนปรน หากเราตึงมากไป การท่องเที่ยวก็ดาวน์ลงมาก หรือหากรัฐจะเยียวยา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทุ่มงบประมาณเกี่ยวกับสัมมนาแล้วพามาโก-ลก ไม่ต้องประชุมหาดใหญ่ แล้วเงินจะสะพัด โรงแรม ร้านอาหาร ตลาดมีรายได้ ท่องเที่ยวก็ได้”

เป็นเสียงสะท้อนจากพื้นที่ถึงส่วนกลาง จะถึงฝั่งฝันเป็นเมืองการค้าชายแดนระหว่างประเทศหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงใจและนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ