กกร.จี้แก้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปมต่างชาติบี้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว

“กกร.” ทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เร่งแก้ปมกฎหมายตั้ง “สหภาพแรงงานต่างด้าว” ใหม่ ยันปัญหาหนักอก

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหนังสือแสดงความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน เรื่องการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเฉพาะมาตรา 45 ที่กำหนดไว้ว่า ในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป ลูกจ้างอาจจัดตั้ง คณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการนั้น หรือสหภาพแรงงานต่างด้าวได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามกฎหมายดังกล่าว ทำให้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ ได้ โดยต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงถึงรายละเอียดต่อไป

ตอนนี้ทางสภาหอการค้าฯได้มีการประสานงานและให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลอย่างเต็มที่ในการขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อให้ถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการยังมายื่นความจำนงในการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่มากเมื่่อเปรียบเทียบ กับสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่สภาหอการค้าฯเป็นห่วงมาก คือ แรงงานในกลุ่มเกษตรกรรม ก่อสร้าง และพวกแม่บ้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ยอมรับว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ดังนั้นจึงต้องการเร่งนำไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะหากตรวจพบอาจจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวกับ“ประชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้การยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หลังจากที่ กกร. และภาคเอกชนได้ยื่นคำร้องไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในการปฏิบัติของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วปัจจุบันประเทศไทยให้สิทธิ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากกว่า

แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การที่ต่างประเทศโดยเฉพาะพวกหน่วยงานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จะบังคับให้ไทยต้องดำเนินการตาม แต่ขณะที่หลายประเทศไม่ได้ให้สิทธิแรงงานไทยที่เข้าไปทำงาน เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยต้องต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่ไทยจะต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง หากมีสหภาพแรงงานต่างด้าวขึ้นมาเป็นเรื่องที่หลายบริษัทที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกว่าแรงงานคนไทยค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ในหลายมาตรา ยกตัวอย่างมาตรา 101 ให้สิทธิลูกจ้างต่างด้าวเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของกรรมการทั้งหมด ถือเป็นเสียงข้างน้อย แต่คงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในโรงงานเป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้การควบคุมบริหารจัดการภายในโรงงานอาจเกิดปัญหาได้

สมมุติโรงงานมีพนักงาน 100 คน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 70 คน แรงงานคนไทย 30 คน หากให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานได้ โดยสหภาพจะมีคณะกรรมการจำนวน 10 คน สมมุติมีกรรมการคนไทย 7 คน ต่างด้าว 2 คน หากมีการลงคะแนนเสียง กรรมการคนไทยถือเป็นเสียงข้างมาก แต่ในทางปฏิบัติแรงงานต่างด้าว 2 เสียงนี้ถือเป็นตัวแทนของแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในโรงงาน เพราะฉะนั้น เสียงจากการลงมติในคณะกรรมการสหภาพ อาจจะไม่สามารถแก้ไขหรือยุติข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้

“ในอดีตการมีสหภาพแรงงาน เพราะนายจ้างเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง แต่ปัจจุบันความจำเป็นต้องมีสหภาพอาจลดลงไปแล้ว เพราะมีช่องทางอื่น ๆ ในการช่วยเหลือลูกจ้างมากมาย โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐมีการออกกฎหมายหลายฉบับมาคุ้มครองลูกจ้าง มีหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเข้ามาช่วยเหลือมากมาย หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดตั้งสหภาพในปัจจุบันน่าจะลดบทบาทความสำคัญลงไป ทางกระทรวงแรงงานจึงไม่ควรหยิบประเด็นเรื่องนี้มาทำให้เป็นปัญหา”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ