ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
---|---|
เผยแพร่ |
คนรุ่นเก่าหลายคนคงจำกันได้ ครูสอนเรียนตอนชั้นประถมศึกษา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ที่ยังไม่มีเทคโนโลยี หลายอย่างที่ครูสอนได้ทดลองทำให้ดู ชี้ให้เห็นจริง เช่น วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืช สิ่งมีชีวิตรอบตัวเรา ครูสอนว่าตอนกลางวันให้หลบพักใต้ต้นไม้ ไม่ไปนั่งนอนใต้ต้นไม้ตอนกลางคืน เพราะมันเกี่ยวกับการดูดคายก๊าซออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ได้แต่รู้ ยังมองไม่เห็น แต่ในการทดลองเรื่องการดูดน้ำอาหารของพืช ใช้น้ำหมึกสีแดง ใส่แก้วใส และหาต้นพืชชนิดหนึ่ง ต้นกิ่งใบโปร่งใสคล้ายหลอดแก้วใส ล้างรากให้หมดดินที่ติดมาจากการถอนเมื่อกี้ที่หลังห้องเรียน ครูให้จุ่มรากต้นพืชนั้น ลงในน้ำหมึกสีแดง นั่งรอดูความเปลี่ยนแปลง นักเรียนเห็นว่าน้ำสีแดงเคลื่อนที่จากในแก้วเข้าทางราก เคลื่อนไปทั่วกิ่งจนถึงใบรูปหัวใจ หัวใจสีแดง สัญลักษณ์แห่งความรัก ความผูกพัน รักกันนะต้น “กระสัง” ไม้สื่อทดลอง ให้ความรู้ ยังจำได้ถึงวันนี้
“กระสัง” ต้นพืชล้มลุกชนิดนี้ ส่วนใหญ่ชาวไร่ชาวสวนชาวนา พบเจอก็ถอนทิ้ง ใช่..มันเป็นวัชพืช พืชที่เกษตรกรไม่ต้องการให้ขึ้นแย่งน้ำแย่งอาหารพืชปลูกของตนเอง แต่เชื่อเถิดว่า หลังจากได้อ่านเรื่องนี้แล้ว คงเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความรู้สึก ที่มีต่อ “กระสัง” ใหม่กันแล้ว เปลี่ยนจากทำลายทิ้งเป็นขยายแพร่พันธุ์ เปลี่ยนจากเป็นศัตรูพืชเป็นพืชผักอาหาร เปลี่ยนจากน่ารังเกียจเป็นมิตรสนิทสนม เปลี่ยนจากเกลียดเป็นรักจริง “กระสัง” เป็นพืชล้มลุก เป็นวัชพืชที่ขึ้นตามแปลงผัก กระถางต้นไม้ ที่ร่มเย็นความชื้นสูง มักแตกกิ่งแพร่นอนผิวดิน แตกกิ่งมากมายจนบางครั้งคลุมดินเป็นวงกว้างถึงศอกถึงวาเลยทีเดียว ดูท่าแล้วน่าจะดูดแย่งน้ำเยอะอยู่นะ
“กระสัง” หรือชื่อสามัญเรียกว่า Peperomia หรือ Shiny Leave จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย PIPERACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Piperomia pellucida (L.) Humb, Bonpl & Kunth มีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียก “ผักฮากกล้วย” ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียก “ผักราชวงศ์” คนใต้เรียก “ชากรูด” ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียก “ผักสังเบา” ที่จังหวัดเพชรบุรีเรียก “ผักกูด” ชาวกะเหรี่ยงเรียก “ตาฉี่โพ” ส่วนภาคกลางเรียก “กระสัง” มิใช่กระสือนะ
ลักษณะของ “กระสัง” เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ต้นอวบน้ำ เปราะหักง่าย ต้นสูง 10-30 เซนติเมตร ทั้งต้นและใบสีขาวอมเขียวใส เมื่อเติบโตต้นสูงขึ้น จะโน้มลงนอนทอดแนบติดดิน แตกรากตามข้อที่ผิวดิน แตกกิ่งมาก ใบกระสังเป็นประเภทใบเดี่ยว ใบออกตามข้อกิ่ง เวียนสลับ ใบรูปไข่ถึงรูปสามเหลี่ยม คล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ใบหนา ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างผิวขุ่น สีอ่อนจางกว่า มองเห็นเส้นใบชัดเจน ดอกออกเป็นช่อที่ซอกกิ่งและปลายกิ่ง ดอกย่อยขนาดเล็กไม่มีกลีบดอก และไม่มีกลีบเลี้ยง มีสีเขียวอ่อนหรือสีครีม ผสสดกลม เมล็ดกลมสีขาวเหลืองและดำ
ชาวบ้านเราแต่เก่าก่อน รู้จักใช้ประโยชน์จาก “กระสัง” นำมาเป็นยารักษาโรค นำมาเป็นผักประกอบอาหาร เป็นผักสด แต่มาถึงสมัยนี้ยุคเคมียิ่งใหญ่ “กระสัง” ผักที่เป็นอาหารและเป็นยา จึงถูกลืมเลือนหายไปจากความทรงจำ หลงเหลือแต่ซากความเลวร้าย เป็นเศษหญ้าร้ายที่ต้องกำจัดทิ้ง ก็ยังจะคงมีคนเก่าคนแก่ที่รักและฝังใจในค่าความงามของกระสังอยู่ ยังคงจำได้ว่า “กระสัง” นำมากินเป็นผักสดที่อร่อย มีรสชาติที่เผ็ดร้อนนิดๆ หอมกลิ่นเครื่องเทศ รสพร่าๆ กระตุ้นปลายลิ้น ซ่านิดหน่อย กลิ่นฉุนคล้ายมัสตาร์ด คนที่ไม่ชอบกินผักจะบอกว่าเหม็นเขียว บ้างต้องนำไปลวกน้ำร้อน เอามาเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำไปทำอาหารอย่างอื่น ต้มจืด แกงเลียง แกงป่า แกงอ่อม ผัดใส่เต้าเจี้ยว สมัยนี้มีคนนำมาขยายผลเป็นอาหารเมนูแปลกๆ เรียกแขกมาชิมรส เช่น ยำผักกระสัง สลัดผัก และยังพยายามที่จะแปรรูปเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ ฯลฯ
ผักกระสัง กินได้ มีประโยชน์ ให้คุณค่าทางอาหาร ในความเป็นผักของคน ผักกระสัง 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 10 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 60 กรัม แป้งคาร์โบไฮเดรต 1.5 กรัม โปรตีน 0.5 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม มีแร่ธาตุอาหารต่างๆ ได้แก่ แคลเซียม 60 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 285 ไมโครกรัม วิตามินบีสอง 0.2 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม หรือไนอะซิน 0.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม และยังมีตัวประกอบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สารหล่อลื่นระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร แม้แต่กลิ่น รส ที่เป็นยา อีกเยอะทีเดียว
“กระสัง” ใช้เป็นยาสมุนไพรมานาน เขาใช้ต้นและใบต้มน้ำ หนุ่มสาวใช้ล้างหน้า รักษาสิว ทำให้ผิวหน้าผ่องใส สวย สดใส ชาวบ้านขยำใบเอาน้ำมาชโลมหัว ป้องกันผมร่วง ทำให้ผมนุ่มน่าสัมผัส ไม่รู้ว่าเราจะเอามาปลูกผมได้เปล่านิ จะลองดูนะ หมอยาทั้งไทยและประเทศต่างๆ หลายประเทศ ใช้ “กระสัง” เป็นสารเริ่มต้นทำยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้ทุเลาบรรเทาเบาบางและหายป่วย ในต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์เขาใช้รักษาโรคเกาต์ และกำลังวิจัยเป็นยาหลักที่สำคัญ และอาจจะจดลิขสิทธิ์เป็นยารักษาเกาต์ หรือไขข้ออักเสบไปแล้ว มาเลเซียใช้มานาน ใช้เป็นยารักษาโรคตา ตาเป็นต้อ (Glaucoma) บราซิลใช้เป็นยาช่วยลดคอเลสเตอรอล ตรินิแดด ใช้เป็นยาแก้ไข้สำหรับเด็ก ของไทยเราก็ไม่น้อยหน้า ใช้เป็นยาแก้ปวดหัว แก้ไข้ แก้อักเสบ กินใบสดรักษาโรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน คั้นน้ำจากใบกระสังกินแก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ ใจสั่น แก้ลมชัก พอกแผลฝีหนอง แก้ผื่นคัน แก้โรคปวดข้อ ชูกำลังได้ดียิ่ง
เนื่องด้วย “กระสัง” มีเบต้าแคโรทีนมาก จึงเป็นผักที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้หลายชนิด ไม่เว้นแม้แต่ “มะเร็ง” ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดตีบตัน หรืออาจเพราะมีเลือดน้อย ไม่พอหล่อเลี้ยง น้ำคั้นจากใบ และต้นกระสัง มีสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลฝีหนอง ทาแก้ผดผื่นคันได้ดี มีกรดอ่อนๆ ช่วยสมานแผล รักษาสิวให้ยุบได้เร็ว บำรุงผิวหน้าให้นวลผ่อง นิ่มนุ่มน่าสัมผัส น่าสนใจอย่างยิ่งนะท่าน
กระสังเป็นพืชอายุสั้น ขยายพันธุ์รวดเร็ว เจริญเติบโตได้ดีทุกฤดูกาล ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และกิ่งที่ทอดโน้มเรี่ยดิน นับได้ว่าเป็นยาประเภทยาร้อน หรือ “หยาง” มีรสเผ็ดหอม คล้ายมัสตาร์ด ญาติเดียวกับพริกไทย ท่านที่มีต้นกระสัง หรือ “ผักกระสัง” ที่กล่าวถึง ลองจับมาส่องกล้องขยายดู จะเห็นความเหมือนกันกับพริกไทย คือลักษณะรูปทรงของใบ ช่อดอก ต้น รากตามข้อ ละม้ายคล้ายเหมือนกับพริกไทยมาก ส่วนรสชาติ เมื่อวันวานได้ชิมดูแล้ว แปร่งๆ ปะแร่มๆ ติดซ่าสะดุดลิ้นนิดๆ เหมือนใบผักจีน พวกผักขึ้นฉ่าย หรือเหมือนผักไทยก็ ผักกาดขิ่ว แต่บางเบากว่ามากนัก ถึงตอนนี้ ท่านคิดที่จะรักจะชอบ “กระสัง” พืชมีมนต์ขลังแห่งรัก ผักดีเป็นยาที่ไม่น่าลืมเลือนกันได้หรือยัง