จีดีพีเกษตร Q2 โตแรง 11% ทุกสาขาพาเหรดขยายตัว คาดทั้งปีโตตามเป้าหมาย 2.5-3.5%

สศก. แถลง GDP เกษตร ไตรมาส 2 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 11.5 หลังภัยแล้งคลี่คลาย เผย ทุกสาขาการผลิตขยายตัวหมด โดยเฉพาะสาขาพืช โตถึงร้อยละ 15.5 ทั้งปีส่งสัญญาณดี คาดขยายตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 ย้ำในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเกาะติดสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2560 (เมษายน มิถุนายน 2560) ขยายตัวร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยหนุนที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ขยายตัวได้ในระดับสูง คือ ปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญมีเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิด สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยกว่าปีที่ผ่านมา ตลอดจนการดำเนินนโยบายและมาตรการทางด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.8 ถึงแม้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้แผ่วลง ติดลบร้อยละ 1.9 แต่ดัชนีรายได้เกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 เนื่องจากมูลค่าการผลิตข้าวนาปรัง ยางพารา ทุเรียน มังคุด และเงาะ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักในไตรมาส 2 เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดี ในส่วนของภาพรวมทั้งปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวดีร้อยละ 2.5 – 3.5 ทั้งนี้ ยังต้องเกาะติดสถานการณ์ทั้งภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของลมมรสุมและพายุ ความแปรปรวนของอากาศ และโรคระบาด ที่อาจกระทบต่อภาคเกษตรครึ่งปีหลัง หากวิเคราะห์ในแต่ละสาขา พบว่า

สาขาพืช ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งกลุ่มไม้ผล ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ สำหรับ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญมีมากกว่าปีที่ผ่านมา เพียงพอต่อการปลูกข้าว ทำให้เกษตรกรสามารถกลับมาปลูกข้าวนาปรังได้ ถึง 10.89 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 112.0 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกเพียง 5.14 ล้านไร่ (เนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังก่อนประสบปัญหาภัยแล้ง อยู่ที่ประมาณ 12 – 16 ล้านไร่) ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากยางพาราที่ปลูกในปี 2554 แทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และพื้นที่ตัดโค่นต้นยางเก่า เริ่มให้ผลผลิต ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นปาล์มที่ปลูกใหม่ในปี 2557 แทนพื้นที่นาข้าว สวนเงาะ สวนลองกอง และพื้นที่ว่างเปล่า เริ่มให้ผลได้ในปีนี้ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนในปี 2560 มีเพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์ม

กลุ่มไม้ผล ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2557 เริ่มให้ผลผลิต ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2555 เริ่มให้ผลผลิต ประกอบกับสภาพอากาศเย็นส่งผลดีต่อการออกดอกของทุเรียน และราคาทุเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษาเพิ่มขึ้น มังคุด มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้นมังคุดติดผลน้อย จึงมีระยะพักต้นเพื่อสะสมอาหารมากขึ้น ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนที่สม่ำเสมอและสภาพอากาศเย็น ทำให้มังคุดติดดอกออกผลเพิ่มมากขึ้น และ เงาะ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้ออกดอกและติดผลดี

ด้านราคา พืชที่สำคัญในไตรมาส 2 เช่น ยางพารา ทุเรียน และมังคุด ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง การส่งออกในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2560 สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวรวม ลำไยและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ เงาะและผลิตภัณฑ์ และมังคุด สินค้าพืชที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม ส่วนสินค้าพืชที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์

สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ผลผลิตหลัก ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการดูแลเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดได้ดี  ด้านราคา ในช่วงไตรมาส 2 สินค้าปศุสัตว์ที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ ไก่เนื้อ และน้ำนมดิบ ในขณะที่สุกรและไข่ไก่มีราคาเฉลี่ยลดลง

การส่งออก สินค้าปศุสัตว์โดยรวมในช่วงไตรมาส 2 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงแต่ง โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักมีการขยายตัวได้ดี ส่วนการส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้นในตลาดสิงคโปร์ และการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ที่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งรวมเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็งมีการขยายตัวทั้งในตลาดอาเซียนและฮ่องกง ส่วนการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกัมพูชาเป็นประเทศคู่ค้าหลัก

สาขาประมง ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เป็นผลมาจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดมากขึ้น เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานต่อโรค สำหรับปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มีทิศทางลดลง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อ  การเลี้ยง ด้านราคา ในช่วงไตรมาส 2  ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม) ปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลง ซึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ ในช่วงไตรมาส 2 ปลาและผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์มีปริมาณส่งออกลดลง แต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนกุ้งและผลิตภัณฑ์มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น   ตามความต้องการซื้อจากตลาดต่างประเทศ

สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากการจ้างบริการ เตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้บริการรถเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงานมีการขยายตัว จากพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาอ้อยอยู่ในเกณฑ์ดี จึงส่งผลให้เกษตรกรเร่งเตรียมพื้นที่ปลูกและลงตออ้อยใหม่ทดแทน

สาขาป่าไม้ ไตรมาส 2 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.3 ผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส   และครั่ง โดยการเพิ่มขึ้นของไม้ยางพารามีปัจจัยหลักมาจากการตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ส่วนไม้ยูคาลิปตัสยังคงเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมแปรรูป และผลผลิตครั่งเพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้ครั่งมีการเจริญเติบโตและฟื้นตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยทุกสาขา การผลิต ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้อต่อการผลิตทางการเกษตรมากขึ้น ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น ข้าวนาปรัง ผลไม้ต่างๆ และอ้อยโรงงาน เป็นต้น ประกอบกับมีแรงหนุนที่สำคัญจากการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

 

อัตราการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตรไตรมาส 2 ปี 2560

ไตรมาส 2  (เม.ย. มิ.ย)
สาขา ปี 2558 ปี 2559 ปี 2560
ภาคเกษตร -5.5 -0.4 11.5
พืช -6.8 -2.5 15.5
ปศุสัตว์ 2.1 3.1 2.0
ประมง -5.8 5.9 5.2
บริการทางการเกษตร -4.4 -1.4 6.5
ป่าไม้ 2.2 2.1 2.3

ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ มิถุนายน 2560

 

ตารางที่ 2 ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในไตรมาส 2 ปี 2559 – 2560
สินค้า ไตรมาส 2 อัตราการขยายตัว
(
ร้อยละ)
2559* 2560*
พืช
ข้าวนาปรัง (ล้านตัน) 1.48 3.53 137.49
ยางพารา (ล้านตัน) 0.71 0.75 6.07
ปาล์มน้ำมัน (ล้านตัน) 3.20 3.83 19.78
ทุเรียน (พันตัน) 259.41 386.20 48.88
มังคุด (พันตัน) 91.61 106.13 15.85
เงาะ (พันตัน) 97.40 152.01 56.07
ปศุสัตว์
ไก่เนื้อ (ล้านตัว) 351.37 366.68 4.36
สุกรมีชีวิต (ล้านตัว) 3.47 3.64 4.74
ไข่ไก่ (ล้านฟอง) 3,308.12 3,481.23 5.23
น้ำนมดิบ 0.27 0.28 3.58
ประมง
กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง** (ตัน) 64,834 70,160 8.21
ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
       ** ข้อมูลกุ้ง MD กรมประมง
หมายเหตุ : * ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนมิถุนายน 2560

 

ตารางที่ 3 ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญในไตรมาส 2 ปี 2559 – 2560
หน่วย  :  บาท / กก.
สินค้า ไตรมาส 2 อัตราการขยายตัว
(
ร้อยละ)
2559* 2560*
พืช
ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% (บาท/ตัน) 8,034 7,754 -3.49
ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 50.84 59.40 16.84
ผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายมีน้ำหนัก >15 กก. 5.27 4.08 -22.58
ทุเรียน 71.87 75.41 4.93
มังคุด 38.23 58.42 52.81
เงาะ 31.17 26.55 -14.82
ปศุสัตว์
ไก่เนื้อ 38.38 38.67 0.76
สุกรมีชีวิต 69.53 62.40 -10.25
ไข่ไก่ (บาท/ร้อยฟอง) 293 263 -10.24
น้ำนมดิบ 17.93 18.00 0.39
ประมง
กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. 178 177 -0.56
ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

 

 

 

ตารางที่ 4 มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในไตรมาส 2 ปี 2559 – 2560
หน่วย: ล้านบาท
สินค้า ไตรมาส 2 อัตราการขยายตัว
(
ร้อยละ)
2559* 2560*
พืช
ข้าวนาปรัง 11,928 27,340 129.21
ยางพารา 35,925 44,522 23.93
ปาล์มน้ำมัน 16,859 15,633 -7.27
ทุเรียน 18,644 29,123 56.21
มังคุด 3,502 6,200 77.04
เงาะ 3,036 4,036 32.94
ปศุสัตว์
ไก่เนื้อ 27,780 29,210 5.15
สุกรมีชีวิต 24,150 22,701 -6.00
ไข่ไก่ 9,693 9,156 -5.54
น้ำนมดิบ 4,919 5,116 3.99
ประมง
กุ้งขาวแวนนาไม 11,540 12,418 7.61
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2/2560 (เม.ย. – มิ.ย. 2560) ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะมีความเห็นในบางมุมมองว่าการเติบโตดังกล่าวไม่อาจสะท้อนสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เนื่องจากปัจจัยคุกคามปัจจุบันในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น (1) ราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าหลักบางชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มลดลง (2) ปัญหาภัยธรรมชาติที่กำลังเผชิญในขณะนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ (3) สภาพการใช้จ่ายในครัวเรือนมีภาระหนี้สินสะสมอยู่ (4) ภาวะเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน มีอุปสงค์ชะลอตัว และปรับยุทธศาสตร์การผลิตการเกษตรในประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ในภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครี่งหลังของปี นโยบายขับเคลื่อนการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นความเป็นอยู่ของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก จะเพิ่มการบูรณาการและระดมสรรพกำลังแบบประชารัฐ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรในไตรมาสที่ 4 (ก.ค. – ก.ย.) ของปีงบประมาณ 2560 และ
ไตรมาสที่ 1 (ต.ค. – ธ.ค.) ของปีงบประมาณ 2561 และเร่งกระจายการผลิตไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งระบายผลผลิตสินค้าเกษตรส่วนเกินในช่วงที่ผลผลิตออกมามากที่สุด ไปยังแหล่งบริโภคภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ รวมทั้งพื้นที่การค้าชายแดนด้วย