ที่มา | กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การเลี้ยงปลากระชังในบ่อดิน เป็นวิธีการเลี้ยงปลาอีกวิธีหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจเลี้ยง เพราะเป็นวิธีที่ใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ค่าใช้จ่ายในการการเลี้ยงก็ไม่มาก สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าได้เป็นอย่างดี
คุณรำพึง เถือนถ้ำแก้ว อยู่บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 5 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่มีความสนใจในอาชีพประมง และหันมายึดเป็นอาชีพตั้งแต่อายุ 20 ปี
คุณรำพึง เริ่มทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งในบ่อดินก่อน เลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งก็ต้องพบกับปัญหาของตลาดและราคาที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องลดปริมาณการผลิตลงในบางส่วน ทำให้บ่อกุ้งที่เคยใช้เลี้ยงว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ คุณรำพึงจึงใช้ประโยชน์จากบ่อกุ้ง โดยการปรับปรุงใช้ทำเป็นบ่อเลี้ยงปลานิลไปพร้อมกับเพาะเลี้ยงกุ้ง
“เราเลี้ยงแบบกึ่งอาศัยธรรมชาติ ปล่อยในบ่อดิน ให้อาหารเม็ด เช้า – เย็น ให้ปลาได้กินพืช กินแร่ธาตุในดินไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ผลตอบแทนในช่วงแรกๆ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับกุ้งและการทำนา แต่พอช่วงหลังเริ่มสังเกตุได้ว่าปลาที่เลี้ยงนั้นเริ่มโตช้าและใช้เวลาเลี้ยงในแต่ละรอบนาน มากขึ้น ทำให้ต้องปรับวิธีการเลี้ยงใหม่ จากเดิมที่เลี้ยงในบ่อดิน เราก็พัฒนามาเป็นการเลี้ยงในกระชังแทน ซึ่งวิธีการนี้เราสามารถควบคุ้มอาหารและควบคุ้มการเจริญเติบโตของปลาได้ ดีกว่าการเลี้ยงในบ่อดินปกติ”
พัฒนา ปรับวิธีการเลี้ยง
คุณรำพึง พัฒนารูปแบบการเลี้ยงจากบ่อดินมาเป็นการเลี้ยงในกระชังที่มีลักษณะเป็นอ้วน ใช้ตาข่ายตาเล็ก (สีฟ้า) และตาข่ายที่มีความกว้างของรูที่เหมาะสมกับขนาดของตัวปลาเย็บติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมพืนผ้า ขนาดความกว้าง ประมาณ 7 เมตร ยาว 5 เมตร และนำไปยึดกับหลักไม้ทั้งสี่มุมภายในบ่อ โดยให้ปากกระชังอยู่เหนือระดับน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร
“ก่อนนำไปเลี้ยงในกระชัง จะอนุบาลลูกปลาในบ่อดินก่อน 6 เดือน ในช่วง 2 เดือนแรก จะให้อาหารกบผสมกับรำ พอเดือนที่ 3 ก็จะเปลี่ยนมาให้อาหารปลากินพืชทั่วไปจนถึงเดือนที่ 6 หลังจากปลาได้ขนาดประมาณ 4-5 ตัวต่อโล เราก็จะจับมาเลี้ยงต่อในกระชังที่เตรียมไว้อีกประมาณ 3 เดือน ในช่วงนี้เราจะให้อาหารโปรตีนสูง โดยทุกระยะการเลี้ยงจะให้อาหาร เช้า – เย็น
ในบ่อเพาะเลี้ยงนอกจากจะมีกระชังปลานิลแล้ว เรายังปล่อยปลานิลภายในบ่อเพื่อใช้เป็นตัวเก็บอาหารที่หลุดออกมาจากกระชัง หรืออาหารที่เหลือจากการให้อีกด้วย
หนึ่งกระชัง ปล่อยปลาลงไปประมาณ 1200 ตัว ภายในบ่อก็แล้วแต่ความเหมาะสม ดูว่าสามารถเก็บอาหารที่หลุดออกไปหมดหรือเปล่า แต่ถ้าเทียบแล้วในกระชังจะโตกว่านอกกระชัง
หลังจากที่จับปลาจำหน่ายไปแล้ว เราจะทำความสะอาดบ่อเลี้ยง โดยสูบน้ำออก เอาดินโคลนออก และโรยด้วยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ตากไว้จนว่าดินแห้งพอประมาณ จากนั้นเราก็จะสูบน้ำเข้ามาใหม่ ทำให้ไม่ค่อยพบโรคอะไรที่ร้ายแรงถึงกับขาดทุน
วิธีการเลี้ยงแบบนี้ สามารถควบคุมอาหาร ระยะเวลาและการเจริญเติบโตของปลาได้เป็นอย่างดี ทำให้ในแต่ละปี พี่รำพึง สามารถจับปลาขายได้ถึง 2 รอบด้วยกัน
ปัจจุบัน คุณรำพึงมีบ่อเพราะเลี้ยง 4-5 บ่อ แต่ละบ่อมีกระชังประมาณ 4-5 กระชัง ครอบคุมพื้นที่กว่า 10 ไร่ สามารถจับปลาขายได้ถึง 4-5 กระชังต่อรอบการเลี้ยง
“อาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง ถือว่าเป็นอาชีพที่สามารถอยู่ได้ ตอนนี้มีความพอใจกับอาชีพนี้ในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตต้นทุนการผลิตเริ่มสูงขึ้น เราก็อยากให้ราคาปลาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน” คุณรำพึง กล่าวทิ้งท้าย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560