ตามหา “ข้าวหอมดง” ที่หมู่บ้านญัฮกุร

ผมเคยได้ยินมาว่า นอกจากข้าวเหนียวพันธุ์ “พญาลืมแกง” อันลือชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ปัจจุบัน พื้นที่แถบนั้นมีข้าวสายพันธุ์อื่นๆ ที่นิยมปลูก นิยมกินกันมาก่อน อย่างเช่น “ข้าวหอมดง” ซึ่งเพียงลองไถ่ถามคนรุ่นอายุ 60 ปี แถบอำเภอศรีเทพ วิเชียรบุรี ก็ยังเล่าได้ว่า เคยเห็นคนรุ่นตนเองยังปลูกกันอยู่เมื่อไม่นานมานี้

จากคำบอกเล่า ข้าวเจ้าหอมดงเมล็ดค่อนข้างป้อม หุงสุกแล้วมีกลิ่นหอม ทั้งยังขึ้นหม้อมาก ทั้งเมื่อผมลองเสิร์ชหาในอินเตอร์เน็ต ก็พบคำอธิบายคล้ายคลึงกันนี้ ไม่ว่าเรื่องลักษณะเมล็ด และพื้นที่ปลูก ทั้งยังสามารถสั่งซื้อด่วนทางออนไลน์จากบางแหล่งขายในจังหวัดทางภาคอีสานได้อีกด้วย แถมข้อมูลบางชุดกล่าวกันไปถึงขนาดว่า หอมดงเป็นข้าวพันธุ์ดั้งเดิมของชาวบน หรือ “ญัฮกุร” กลุ่มชุมชนที่นักมานุษยวิทยาและนักภาษาศาสตร์เชื่อว่า สืบเชื้อสาย และยังคงรักษาวัฒนธรรมแบบ “ทวารวดี” ที่มีภาษาพูดตระกูลมอญเขมรเฉพาะกลุ่มของตนเองมาจนถึงทุกวันนี้

กลุ่มคนญัฮกุรตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่สูงของอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะที่บ้านไร่พัฒนา ตำบลบ้านไร่นั้น ยังมีคนรุ่นเก่าที่เก็บรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านภาษา การแต่งตัว วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนอาหารการกินแบบเดิมๆ ไว้อยู่ อีกทั้งมีการส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง จึงพอจะรองรับผู้สนใจเยี่ยมชมเพื่อศึกษาหาความรู้ได้ในระดับหนึ่ง

ผมเองสนใจเรื่องข้าวปลาอาหาร เลยตั้งใจจะไปตามหาข้าวหอมดง ตามเบาะแสที่บางแหล่งข้อมูลได้ชี้ช่องทางไว้ โชคดีที่ อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุณาแนะนำให้ผมไปคุยกับ พี่พนม จิตร์จำนงค์ ชาวบ้านไร่พัฒนา ผู้สนใจเก็บรวบรวมความรู้ของชุมชนไว้เป็นอย่างดีผู้หนึ่ง

“พวกผมก็กำลังหาอยู่นะครับ ข้าวพันธุ์หอมดงเนี่ย” พี่พนมตอบผมทางโทรศัพท์ ตอนที่ผมติดต่อนัดหมายจะเข้าไปดูทุ่งข้าวหอมดงที่บ้านไร่พัฒนา “เมื่อก่อนมันมีแหละ เดี๋ยวนี้แทบหาไม่ได้แล้ว แต่เข้ามาก่อนเถอะครับ จะได้มาคุยกัน” ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเอง ว่าภาพทุ่งข้าวหอมดงที่ผมวาดหวังไว้สวยหรูจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจะหายวับไปง่ายๆ อย่างนี้เลยเชียวหรือ

Advertisement

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ที่บ้านไร่พัฒนา พี่พนมพาไปคุยกับ “ลุงเปลี่ยน” วัย 76 ปี ผู้ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพหูสูตรคนหนึ่งของหมู่บ้านญัฮกุร ประโยคแรกก็คือ

“เขาไม่ทำกันแล้ว ไอ้ข้าวหอมดง นกมันลงเยอะน่ะ” ลุงเปลี่ยนบอกว่า เดี๋ยวนี้ถ้าจะมีข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองปลูกกันบ้าง ก็คือข้าวดอกมะขาม ข้าวเหลือง ข้าวบึ้ง ซึ่งเป็นข้าวเหนียว แถมลุงเปลี่ยนยังบอกว่าลุงปลูกข้าวฟ่างหางกระรอกด้วย

Advertisement

เป็นอันว่า ภารกิจที่ตั้งไว้ว่าจะมาหาซื้อข้าวหอมดงถึงถิ่นชุมชนญัฮกุรสักถังครึ่งถัง เป็นอันล้มเหลวตั้งแต่แรก แต่ทว่า เรื่องราวที่พี่พนมและลุงเปลี่ยนเล่าให้ฟังหลังจากนั้น มันน่าสนใจจนผมต้องขอเก็บความมาเล่าสู่กันฟังต่อเลยล่ะครับ

ผมเองสนใจข้าวฟ่างหางกระรอก เคยเห็นคนกะเหรี่ยงบ้านไร่ที่อุทัยธานียังปลูกไว้กินกันอยู่ ข้าวชนิดนี้ นักโบราณคดีพบหลักฐานจากการขุดค้นชั้นดินวัฒนธรรม จนพอสรุปได้ว่า พื้นที่เขตลอนลูกคลื่น-เขาลูกโดดแถบเมืองลพบุรีสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีการปลูกกันมาก่อนที่จะมี “ข้าว” ทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียวให้กินอย่างทุกวันนี้ เรียกว่าเป็นของที่คนก่อนประวัติศาสตร์กินร่วมกับเผือก มัน กลอย พูดง่ายๆ คือเป็นของที่ “มาก่อนข้าว” ในดินแดนแถบนี้นั่นเอง

“ข้าวฟ่างนี่ เราใช้วิธีตำ ฝัด แล้วจะนึ่งแบบนึ่งข้าวเหนียวก็ได้ ทำขนม ข้าวต้มห่อ จะหุงก็ขึ้นหม้อดี หรือใส่น้ำกะทิเป็นของหวาน ได้หมด” ลุงเปลี่ยนเล่าพลางลุกไปตักเมล็ดข้าวเปลือกข้าวเหนียวตัวอย่างมาให้ดู “ตอนนี้ที่ลุงปลูกไว้อีกบ้าง ก็มีข้าวเหนียวพันธุ์ดอกมะขาม ข้าวเหลือง แล้วก็ข้าวบึ้ง ที่เปลือกมันดำๆ พวกนี้เป็นข้าวไร่นะ พอ 90 วันก็เกี่ยวได้แล้ว แต่ก่อนเราจะปลูกรวมๆ กันทุกอย่าง แล้วที่ลุงรู้สึกเลยนะ ก็คือว่า สมัยโน้น เราไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรอก แต่ข้าวที่เราปลูก มันก็งามดี แถมอ่อนนุ่มมาก พอมาเดี๋ยวนี้เราต้องใส่ปุ๋ยบำรุงดิน กลายเป็นว่าข้าวมันแข็งขึ้น กินไม่อร่อยไปเสียอย่างนั้นแหละ”

ลุงเปลี่ยนชี้ให้ดูเปลือกข้าวพันธุ์ตำแย ว่ามันมีขุยละเอียดๆ ทำให้คันได้ ถ้าไปจับมากๆ แล้วบอกว่า ข้าวฟ่างหางกระรอกเองก็มีสองสายพันธุ์ คือแบบที่รวงมีขนฟูๆ แทรกเมล็ดข้าวขึ้นมา กับแบบไม่มีขน ซึ่งขนนี้จะแหย่ตาแหย่จมูกพวกนก ทำให้พวกมันไม่ค่อยลงกินสายพันธุ์แบบมีขน

“นอกจากนก บางปีช้างก็ขึ้นมากวนนะ มากินของในไร่ในนา บางทีพลอยทำให้เราทำข้าวไม่ได้ผล ก็ต้องอาศัยกินกลอย กินมันป่า บ้านเรามีมันหลายพันธุ์ อย่างมันเลือด มันอ้อน มันเหน็บ มันตีนหมี มันเล็บมือนาง มันตะขาบ โดยเฉพาะมันพร้าวของญัฮกุรจะหวานมาก” ลุงเปลี่ยนว่า ถึงตอนนี้ พี่พนมดูเหมือนนึกถึงเรื่องวิธีไล่นกขึ้นมาได้ เลยเล่าเสริมขึ้นมา

“เรื่องนกนี่ปัญหาใหญ่มาก ผมเคยเห็นมีคนทำแบบนี้ครับ คือเขาก็ไปนาตามปกติ แต่จะไปนั่งอยู่ตรงจุดหนึ่งซ้ำทุกวัน สัก 7-8 วัน อาจจะใส่เสื้อตัวเดิม หรือสวมหมวก ให้เหมือนๆ กันทุกวัน แล้วจากนั้นก็ทำหุ่นฟางไว้นั่งไว้ตรงจุดนั้น ใส่เสื้อใส่หมวกให้หุ่น เหมือนกับชุดที่เราเคยไปนั่งซุ่มนั่นแหละครับ นกมันก็จะนึกว่า ไอ้คนนี้มันมาเฝ้าอีกแล้ว เลยไม่ค่อยกล้าลงกินข้าว แบบนี้ก็พอแก้ไขไปได้ครับ” ฟังแล้วก็นับถือคนต้นคิดจริงๆ เลย

ลุงเปลี่ยนยังบอกวิธีเก็บเกี่ยวข้าวเหนียวในนาแบบที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน คือลงนาโดยเอา “คราย” (กระบุงสาน) คาดเอว แล้วเอามือรวบรวงข้าวเหนียวมารูดเมล็ดข้าวใส่ในคายเลยทีเดียว

“ข้าวเหนียวทำได้ คือไม่ต้องเกี่ยว รูดเอาเลย แต่ข้าวเจ้าเราทำแบบนี้ไม่ได้นะ เมล็ดมันติดรวงแน่นกว่า”

พี่พนม บอกว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีคนสนใจแวะเวียนเข้ามาในหมู่บ้าน มาดูวัฒนธรรมประเพณีของ “ชาวบน” ญัฮกุร ตามที่มีแหล่งข้อมูลเผยแพร่เบาะแสในสื่อโซเชียลมีเดียอยู่ในปัจจุบัน มาเป็นรายบุคคลบ้าง ที่ติดต่อเป็นหมู่คณะก็มี

“ส่วนใหญ่ถ้าติดต่อขอว่าจะมาวันเสาร์อาทิตย์ เราก็สามารถจัดกิจกรรมให้ดูได้ อย่างพวกเด็กๆ เขาจะมีโชว์เล่นขาโถกเถก ยิงบั้งโบ๊ะ มีผู้ใหญ่สอนเป่าใบลำดวนเป็นทำนองเพลง แสดงการเป่าผวด เป็นเครื่องดนตรีไม้ไผ่ มีรำโทน หรือจะชวนกันเดินเท้าลัดเลาะไปเที่ยวน้ำตกเทพประทานได้ในระยะไม่ไกลด้วยครับ”

เรียกว่าก็มีกิจกรรมให้ร่วมเรียนรู้หลายอย่างทีเดียว อย่างไรก็ดี ผมซึ่งมักนึกถึงแต่เรื่องกิน จึงลองถามว่า มีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์คนญัฮกุรบ้างไหม พี่พนมเลยเล่าถึง “เมี่ยงคำ” แบบชาวบน ซึ่งมีเครื่องประกอบคำเมี่ยงเป็นชิ้นกล้วยน้ำว้าดิบ มะอึก ก้านทูน ใบกุยช่าย ตะไคร้ พริก และเกลือ

มี “ขนมลิ้นหมา” ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมกล้วยน้ำว้า มะพร้าวขูดหรือคั้น ปั้นยาวๆ เหมือนชื่อเรียก ทอดน้ำมันจนสุก

ที่สำคัญคือมี “ตำสับปะรดใส่เปลือกต้นนนทรี” อันนี้น่าสนใจมาก แต่ทั้งพี่พนมและลุงเปลี่ยนยืนยันว่า ต้องใช้สับปะรดรสเปรี้ยวอมหวานที่ปลูกที่หมู่บ้านนี้ จึงจะอร่อย โดยตำสับปะรดกับพริก เกลือ และเปลือกต้นนนทรีหั่นซอย มันฟังดูน่ากินมาก จนผมต้องถามถึงช่วงที่สับปะรดญัฮกุรแก่ได้ที่ จะได้กลับมากินให้ได้สักครั้งหนึ่ง

พี่พนมยังเล่าเรื่องการหีบน้ำอ้อยสมัยก่อนว่า เคยมีพันธุ์อ้อยดำ อ้อยขาว อ้อยแขม มีเครื่องหีบอ้อยที่ใช้แรงคนกดทิ้งน้ำหนักให้ได้น้ำอ้อยไปเคี่ยวน้ำตาล แถมยังพยายามพูดคุยสอบถามความเป็นไปได้กับลุงเปลี่ยน ถึงเรื่องความยาว ความแข็งของเนื้อไม้ที่จะหาโค่นมาทำเครื่องหีบ ถ้าจะทำขึ้นใหม่ใครยังพอทำได้บ้าง อยากให้คนรุ่นหลังได้เห็น ฯลฯ

ผมเห็นความรักความใส่ใจรายละเอียด และความตั้งใจจะเก็บข้อมูล บอกเล่าเรื่องราวอัตประวัติหมู่บ้านแล้วก็คิดว่า จิตวิญญาณ (spirit) ของชาวญัฮกุรในโลกสมัยใหม่นี้รวมกันอยู่ในตัวของพี่พนมและลุงเปลี่ยนอย่างเต็มที่จริงๆ

บางที เรื่องราวดีๆ ก็เริ่มจากจุดเล็กๆ คนเล็กๆ เพียงไม่กี่คนนี่แหละครับ แล้วมันก็จะสานไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ต่อได้เอง

ที่บ้านไร่พัฒนา หมู่บ้านญัฮกุรอันเก่าแก่นี้ ก็คงเป็นเช่นนั้นครับ