เมี่ยงพล่าปลาโคก เมนูอาหารเป็นยา บ้านน้ำเชี่ยว ตราด

เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ของไทยมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทย ต้องการที่จะรับบริการทางด้านสุขภาพ บริการการแพทย์นวด สปา และที่ได้รับความนิยมมากคืออาหารไทยเมนูสุขภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนายกระดับมาตรฐานอาหารพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ รสชาติอร่อย เครื่องปรุงเต็มไปด้วยสมุนไพรบำรุง ดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เป้าหมายลดอัตราการเจ็บป่วยทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ปรับเปลี่ยนมาดูแลรักษาสุขภาพ

คุณทองศรี นรินทร
คุณซาเราะห์ ภูมิมาโนช

จังหวัดตราด เป็นจังหวัดหนึ่งที่ต้องการพัฒนาสู่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราดเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงแรม ร้านอาหาร ขับเคลื่อนเมนูอาหารเป็นยาที่เป็นวิถีชีวิต เป็นภูมิปัญญาไทยสร้างเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น และพัฒนามาตรฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

คุณนฤมล ภูมิมาโนช
คุณวันเพ็ญ นิโรภาส 

หนุน Wellness Tourism Trat อาหารเป็นยา

คุณวันเพ็ญ นิโรภาส หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดตราด กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการปรับกลยุทธ์การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นการป้องกันดูรักษาให้สุขภาพดี ส่งเสริมโครงการอาหารเป็นยา ซึ่งอาหารเป็นต้นเหตุของเป็นโรคต่างๆ ถ้ากินอาหารดี จะสุขภาพดี โดยโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 และขับเคลื่อนต่อเนื่องให้ได้เห็นภาพชัดเจนปี 2566 โดย น.พ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ชมรมร้านอาหาร โดยที่จังหวัดตราดมีเป้าหมายพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่สอดคล้องกัน อาหารและยาเหมือนตัวซับเซต ซึ่งจังหวัดตราดมีศักยภาพด้านอาหารเมนูพื้นบ้านที่มีส่วนผสมของพืชผักสมุนไพรธรรมชาติ มีผู้สืบทอดภูมิปัญญา ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทะเล รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดตราดหลายแห่งมีความพร้อม เมนูอาหารเป็นยา รองรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว

น.พ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน (ขวา)

“กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด จะรับสมัครสถานผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงแรม ร้านอาหาร และจัดอบรมให้ความรู้ ใน 4 องค์ประกอบ คือ การบริหารจัดการ การอำนวยความสะดวก ด้านสถานที่ และอัตลักษณ์ความโดดเด่นของสมุนไพร มีหลักสูตรการอบรมตามหลักสุขาภิบาล ถูกต้องตามหลักโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย การอบรม วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Cardiopulmonary Resuscitation : CPR) ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ถูกพิษแมงกะพรุน”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รับฟังเกณฑ์การประเมินแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

“จากนั้นจะมีการชี้แจงเกณฑ์การประเมินแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร เพื่อเตรียมพร้อมในการขับเคลื่อน Wellness&Safety Toursism Trat ตามมาตรฐานการพัฒนาให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วมีความสุข สุขภาพดี ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กับอาหารเมนูสุขภาพ แนวทางคือให้วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน โรงแรม ร้านอาหาร คิดเมนูอาหาร ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน น้ำสมุนไพร เช่น ร้านอาหารที่เข้าร่วมต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) กลุ่มเป้าหมายจะให้กระจายครบทุกอำเภอ 7 อำเภอ ตอนนี้มีผู้ประกอบการอบรมไปแล้ว 100 กว่าคน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว 17-18 แห่ง ร้านอาหาร 40-50 แห่ง เดือนพฤศจิกายนมีการประเมินผลและผู้เข้าอบรมจะได้รับใบรับรอง คาดว่าต้นปี 2567 จังหวัดตราด ทุกอำเภอจะมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” คุณวันเพ็ญ กล่าว

อาหารเป็นยา 

เมี่ยงพล่าปลาโคก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว ตราด

Advertisement

คุณทองศรี นรินทร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด เล่าว่า ปลาพล่าเป็นอาหารท้องถิ่นของจังหวัดตราด เนื่องจากมีปลาทะเลหลากหลายที่นำมาทำได้อร่อย แต่ที่ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เรือประมงพื้นบ้านจับปลาโคกได้จำนวนมาก จึงคิดนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำพริกคลุกข้าว และล่าสุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ให้คิดเมนู “เมี่ยงพล่าปลาโคก” โดยใช้ใบชะพลู ตามแนวคิดกินอาหารเป็นยา กินยาเป็นอาหาร เพราะเห็นว่าใบชะพลู มีคุณค่าทางอาหารเยอะมาก และพบว่าปลูกกันได้ทั่วไปแทบทุกบ้าน เมื่อบวกกับคุณค่าของปลาโคกที่เป็นปลาทะเลที่มีก้างละเอียดสามารถกินรวมกับเนื้อไปด้วยกัน ทำให้มีคุณค่าอาหารเพิ่มขึ้น

Advertisement
ปลาโคกสด

“เมี่ยงพล่าปลาโคกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวเคยทำรับรองแขกและผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ของจังหวัดตราด เมื่อปี 2565 ใบชะพลูหรือใบช้าพลูที่ใช้เป็นผักตัวหลัก เป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ชอบขึ้นในที่ลุ่มชุ่มชื้น ขยายพันธุ์ได้ง่าย นิยมนำใบมาประกอบอาหาร ทั้งคาว หวาน ประเภทแกงคั่ว ปลาพล่า จิ้มน้ำพริก ข้าวยำ เมี่ยงคำ เป็นอาหารเลิศรส มีสรรพคุณมากมาย ทั้งเบต้าแคโรทีน บำรุงรักษาสายตา บำรุงธาตุ ขับเสมหะ เจริญอาหาร บำรุงกระดูกและฟัน ใบมีเส้นใยมากช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ย่อยอาหาร เรียกว่าปรุงอาหารอร่อย คุณค่าสมุนไพรสุดยอด” คุณทองศรี กล่าว

ใบชะพลู 

“เมี่ยงพล่าปลาโคก” เมนูอาหารเป็นยา

คุณทองศรี-คุณซาเราะห์ ภูมิมาโนช และ คุณนฤมล ภูมิมาโนช เปิดเผยว่า เมี่ยงพล่าปลาโคกทำง่ายๆ เป็นเมนูกินอาหารเป็นยา วิธีการทำง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ใช้วัตถุดิบสดๆ ปลาที่จับมาจากทะเล พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ไม่มีการใส่สี ผงชูรสในการประกอบอาหาร ทุกวันนี้หากมีนักท่องเที่ยวมาเป็นหมู่คณะจะอยู่ใน 1 เมนูอาหารพื้นบ้าน

เมี่ยงพล่าปลาโคก พร้อมกิน

วิธีทำเครื่อง “เมี่ยงพล่าปลาโคก” 

1. เตรียมเนื้อปลาพล่า ใช้เนื้อปลาโคก เนื้อจะมัน รสชาติอร่อย นำปลาโคกสดๆ มาขอดเกล็ด แล่เฉพาะเนื้อ เอาก้างออก ล้างทำความสะอาด หั่นเนื้อเป็นชิ้นๆ นำไปทอด เนื้อปลาจะมีก้างปลาอ่อนๆ ติดอยู่จะกรอบกินได้ การทอดจะทำให้ปลาไม่มีกลิ่นคาวปลา (ถ้าต้ม ย่าง ลวกจะมีกลิ่นคาว)

2. เครื่องปรุงน้ำพริก หรือ น้ำจิ้ม (เมี่ยง) ส่วนผสม ถั่วลิสงปั่น หรือถั่วตัด พริกขี้หนู น้ำตาลปี๊บ หอม กระเทียม น้ำมะนาว เกลือป่น น้ำเปล่าเล็กน้อย ตำผสมให้เข้ากัน และปรุงรส 3 รส ให้รสเปรี้ยว หวาน เค็มนิดๆ ระวังอย่าให้รสเผ็ดนำ

3. เตรียมผักเครื่องเมี่ยงพล่า เครื่องปรุง หอมแดงซอย ตะไคร้ กะหล่ำปลี แคร์รอตซอยบางๆ นำมาเคล้าเบาๆ คลุกเคล้ารวมกัน และโรยด้วยดอกอัญชัญ ใบสะระแหน่

4. การกิน เลือกใบชะพลูที่มีความแก่ปานกลาง สังเกตใบสีเขียวไม่เข้ม มีรสชาติเฝื่อนๆ นิดๆ ถ้าใบอ่อนเกินไปสีเขียวอ่อนๆ จะไม่มีรสชาติ ใช้ใบชะพลูรอง ใส่ผักเครื่องเมี่ยง เนื้อปลาโคกทอด ตามด้วยน้ำจิ้ม (เมี่ยง)

เมี่ยงพล่าปลาโคก

“กินเป็นอาหารคาว หรืออาหารว่าง น้ำจิ้มเมี่ยงจะเป็นไฮไลต์ การปรุงรสให้ลงตัว 3 รส เปรี้ยว หวานเค็มเล็กๆ ระวังไม่ให้เผ็ดนำ กินกับผักสมุนไพรเครื่องเมี่ยง ใบชะพลูรสชาติเข้ากันพอดี ส่วนปลาโคกที่ทอดจะมีความหอมและเนื้อจะมันรสชาติอร่อย” คุณทองศรี เผยเคล็ดลับ

ปลาโคกทอด
น้ำจิ้ม (เมี่ยง)

สนใจสอบถามได้ที่ คุณทองศรี นรินทร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว โทร. 061-660-0955