ผู้เขียน | อัสวิน ภักฆวรรณ |
---|---|
เผยแพร่ |
ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการปลูกและส่งออกหมากพลู จังหวัดพัทลุง บอกว่า ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกหมากมาเกือบ 2 ปีแล้ว เมื่อมีการส่งเสริมก็จะมีการส่งเสริมต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต นอกจากประเภทส่งออกหมากอ่อนและหมากแห้งแล้ว ก็จะต้องส่งเสริมการส่งออกประเภทผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อให้เกิดหลายช่องทางการตลาดที่จะได้เพิ่มมูลค่า
และเรื่องหมาก ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้รับมอบหมายทำโครงการพืชหมากทำการวิจัยเกี่ยวกับอุปสรรคปัญหา การแก้ไขปัญหา ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งได้ร่วมหารือกับสมาคมส่งเสริมการปลูกและส่งออกหมากพลู จังหวัดพัทลุง
ในขณะเดียวกัน เรื่องหมาก คุณดาเรศร์ กิตติโยภาส นายกสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ก็ได้ร่วมปรึกษาหารือโครงการหมาก เพื่อทำการวิจัย ซึ่งหมากจะเป็น 1 ใน 10 พืช ที่ได้เข้าร่วมทำการวิจัย สมาคมวิศวกรรมเกษตรที่ดำเนินการอยู่จำนวน 9 พืช เช่น ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ส้มโอ ฯลฯ
ดร.สมบัติ ยังบอกอีกว่า ก่อนหน้านั้น สมาคมได้เข้าพบ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อได้หารือถึงแนวทางในการนำนวัตกรรมมาช่วยแปรรูปผลผลิตหมาก เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้ตามที่ตลาดโลกต้องการ
ผลจากการหารือทางผู้ว่าการ วว. ได้แต่งตั้งทีมงานวิจัยขึ้นมี ดร.กฤติยา ทิสยากร นักวิจัยอาวุโสศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งเคยทำวิจัยเกี่ยวกับหมากประสบความสำเร็จมาแล้วมาร่วม เพื่อหาสารสำคัญต่างๆ ในผลผลิตหมากของไทยแต่ละพันธุ์
สำหรับเป้าหมายจะนำสารสำคัญที่พบในหมากมาต่อยอดใน 2 ส่วน 1. แปรรูปเป็นอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์รักษาโรค และเสริมความงาม ฯลฯ และ 2. แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ซึ่งในส่วนนี้มีกลุ่มนักธุรกิจสนใจลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยแล้ว
นอกจากนี้ ยังขอให้งานช่วยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเก็บรักษาคุณภาพหมากแห้งที่เก็บสต๊อกไว้ได้นาน 2-3 ปี ไม่ให้มีตัวมอดไปกัดกินสร้างความเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาต้องมีการรมยาป้องกันไม่ให้ตัวมอดมากิน เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บหมากในช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด ซึ่งขายไม่ได้ราคา
ดร.สมบัติ บอกอีกว่า และขณะเดียวกันสมาคมวิศวกรรมเกษตรให้ความสนใจในหลายประเด็นเรื่องหมาก โดยเฉพาะเรื่องการสร้างรายได้ระหว่างยางพารากับหมาก คือยางพาราที่มีรายได้ประมาณ 12,000 บาทต่อไร่ต่อปี ปาล์มน้ำมันรายได้ 45,000 บาทต่อไร่ต่อปี แต่หมากที่สร้างรายได้ประมาณ 120,000 บาทต่อไร่ต่อปี
สำหรับการวิจัยของสมาคมวิศวกรรมเกษตร 1. การเก็บข้อมูลรวบรวมพืชหมากทั้งหมดของไทย ทั้งเรื่องพันธุ์หมาก การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว จัดจำหน่าย 2. ผลผลิตหมากภาพรวมรับซื้อ และรวบรวมผลผลิตที่พ่อค้าคนกลาง ล้ง จำนวนปริมาณเท่าใด 3. ส่งออกไปยังต่างประเทศมีประเทศใด จำนวนกี่ประเทศ 4. และต่างประเทศเมื่อรับซื้อไปแล้วว่าจะขายผลผลิตหรือนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ และบริโภค 5. ศึกษาข้อกฎหมายการส่งออกต่างประเทศ กฎหมายฉบับใดที่ส่งเสริม และฉบับใดที่เป็นอุปสรรคหรือเป็นการกีดกันต่อการส่งออกหมาก 6. ศึกษาเครื่องจักรในการผลิตแปรรูปหมาก 7. ที่จะส่งออกไปต่างประเทศปลายทางจะเป็นผลิตภัณฑ์ หมากเขียว หมากสุก ตลอดจนความต้องการหมากของตลาดโลก ฯลฯ
และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน ปี 2567 เป็นระยะใกล้เคียงที่ TDRI ดำเนินการวิจัยเรื่องหมากแล้วเสร็จเช่นกัน แล้วจะทำการประมวลรวบรวมจัดเป็นรูปเล่มเดียวกันนำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
คุณจีระวัฒน์ ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกณรงค์ หมากไทย จำกัด ได้กล่าวถึงหมากปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ ได้มีบริษัทต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทยที่ปลูกยางพาราร่วมกับพืชอื่น ตามนโยบายโค่นยางพาราปลูกทดแทน ได้เข้ามาส่งเสริมปลูกแล้วประมาณ 1 ล้านต้น ตั้งแต่ปี 2564-2565 โดยปลูกยางพาราร่วมกับปลูกหมาก แบ่งเป็นของบริษัทเอกณรงค์ ส่งเสริมไปแล้วประมาณ 500,000 ต้น ที่มีตั้งแต่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ยังไม่นับรวมถึงหมากเก่า ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้านี้จะมีผลผลิตหมาก จะออกสู่ตลาดประมาณ 30 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 3 ล้านตันต่อเดือน ก็จะต้องวางแผนรองรับทางด้านการตลาด โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศด้วย จะสามารถป้อนวัตถุดิบได้ตามความต้องการของตลาดโลก
ปัจจุบัน “หมาก” ราคาร่วง ตลาดไม่ตอบรับไม่มีช่องทางทำกำไร
ปัจจุบันนี้ ตลาดรับซื้อหมากไม่ดี แล้วต้องได้ปิดตลาดมาระยะหนึ่งแล้วจากพ่อค้าท้องถิ่นที่ไม่ได้รับซื้อขาย ด้วยเหตุผลว่าไม่มีช่องทางทำกำไรและไม่ค่อยจะคุ้มทุนเท่าใด เพราะเหตุว่าราคาหมากแห้งประมาณ 35 บาทต่อกิโลกรัม จากก่อนนั้นที่ซื้อหมากมาราคาประมาณ 5-6 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว พอนำไปทำเป็นหมากแห้งก็จะต้องใช้หมากประมาณ 5 กิโลกรัม ถึงได้หมากแห้ง 1 กิโลกรัม เท่ากับจะได้ราคา 30-35 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
“ยกเว้นว่าจะได้ซื้อขายกันตามออร์เดอร์ ซึ่งก็พอจะทำราคาได้ และตอนนี้ทั้งจังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ต่างมีหมากแห้งสต๊อกอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงบางรายมีเป็นหลักร้อยตัน”
คุณจีระวัฒน์ยังเสนอว่า หมากจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารจัดการด้วยรัฐบาล ที่จะอาศัยกับพ่อค้า กับเกษตรกร ก็จะทำไม่ได้ไม่ศักยภาพ ซึ่งเรื่องนี้จะเข้าพบกับคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือดำเนินการ
คุณดาเรศร์ บอกด้วยว่า ทางสมาคมได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ทำวิจัยพืชหมาก ซึ่งจะมีขั้นตอนในการทำการวิจัย เพื่อให้หมากการขับเคลื่อนให้มีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น ช่องทางการส่งออกไปต่างตลาดประเทศ ตลอดจนเรื่องซัพพลายเชน เพื่อสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรปลูกหมาก และธุรกิจการค้าขายหมาก และทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการผลิตหมาก
คุณดาเรศร์ กล่าวว่า ตลาดส่งออกหมากต่างประเทศคือตลาดประเทศจีน ตลาดไต้หวัน และตลาดประเทศอินเดีย และสำหรับประเทศอินเดียนั้นจะต้องส่งผ่านประเทศเมียนมา และที่สำคัญประเทศอินเดียได้ปรับภาษีหมาก เมื่อปรับภาษีขึ้นก็ส่งผลให้โอกาสหมากไทยไปแข่งขันกับหมากท้องถิ่นของประเทศอินเดียเป็นไปได้ยากมาก
“ประเทศอินเดีย เกษตรกรปลูกพืชหมากได้ออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลอินเดีย เกี่ยวเรื่องอิมพอร์ตหมากจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อหมากภายในประเทศที่ตลาดการค้าขายไม่ได้ รัฐบาลจึงได้ทำการปรับขึ้นภาษีหมากในที่สุด”
คุณดาเรศร์ กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ส่งผลต่อหมากราคาภาษีสูง ผู้ส่งออกต้องปรับขายราคาขายสินค้าที่สูงขึ้น เมื่อราคาสูงขึ้นก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ แล้วในที่สุดก็ต้องหันมาซื้อหมากในประเทศในราคาที่ต่ำลง ซึ่งจะสามารถส่งออกเข้าตลาดที่จะแข่งขันได้ ผู้ส่งออกจึงซื้อหมากที่ราคาถูกลง ดังนั้น ก็จะต้องมองดูตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดประเทศจีน ตลาดประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะประเทศเวียดนามนั้นก็ซื้อหมากไทย ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วออกขายตลาดอื่นๆ ต้องดูว่ามีคุณภาพ รูปแบบลักษณะ เพื่อที่จะได้ส่งออกตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภค
“เช่น แปรรูปที่ประเทศไทยได้ไหม หรือส่งวัตถุดิบไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศเหล่านั้น จะต้องศึกษาหาข้อมูล ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้องศึกษารายละเอียดแปรรูปว่าผลิตภัณฑ์อะไร ตั้งโรงงานแล้วไม่มีตลาด จะเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกอีกทางหนึ่ง ทั้งหมดแล้วเสร็จจะนำมาประมวลเพื่อนำเสนอต่อไป”