หนุ่มแม่กลองโชว์เทคนิคเลี้ยงหอยแครง ระบบปิดในบ่อดิน หอยโตไว กำไรสูง

หอยแครงเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีมูลค่าสูงของประเทศไทย โดยแหล่งเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงตำบลบางตะบูน และตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นสภาพดินโคนละเอียดปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์เพราะอยู่ใกล้บริเวณปากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำเพชรบุรี จึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของหอยแครง

เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งประกอบอาชีพหลักด้วยการเก็บหอยแครงจากแหล่งธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงหอยแครงสร้างรายได้ที่มีมูลค่าสูง แต่การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีการปล่อยของเสียสู่อากาศและแหล่งน้ำ ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจำนวนมาก

เนื่องจากหอยแครงเป็นสัตว์น้ำอยู่กับที่ ไม่สามารถหลีกหนีสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ไปได้ ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันของหอยแครง ทำให้อ่อนแอ เกิดการติดเชื้อโรคพยาธิได้ง่าย เกษตรกรได้ปรับมาใช้วิธีการเลี้ยงหอยแครงในบ่อดิน แต่ยังคงต้องใช้เวลาเลี้ยงหอยแครงนาน และการเจริญเติบโตยังไม่เต็มที่

หอยแครง สัตว์น้ำเศรษฐกิจ

“วรเดช ฟาร์ม” จ.สมุทรสงคราม

“วรเดช ฟาร์ม” ของ คุณวรเดช เขียวเจริญ บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม (โทร. 083-879-6351) เดิมเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งตามธรรมชาติด้วยการเปิดน้ำเข้า-ออก ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงหอยแครงแบบธรรมชาติ และพัฒนาเป็นการเลี้ยงหอยแครงด้วยระบบปิด ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจาก ดร.ไพฑูรย์ มกกงไผ่ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

คุณวรเดชได้พัฒนาบ่อดินให้เป็นบ่อเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดโดยการผลิตแพลงก์ตอนพืช (สาหร่ายเซลล์เดียว) นวัตกรรมนี้ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ลดระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง สามารถเลี้ยงหอยแครงรุ่นต่อไปได้เร็วขึ้น นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยแครงได้อย่างยั่งยืน

คุณวรเดช เขียวเจริญ กับกังหันตีน้ำระบบโซลาร์เซลล์

คุณวรเดชได้พัฒนาระบบน้ำให้มีการหมุนเวียนภายในบ่อและมีทางน้ำเชื่อมติดต่อกันระหว่างบ่อ มีบ่อผลิตสาหร่ายเป็นอาหาร (แพลงก์ตอนพืช) ด้วยการเลี้ยงแพลงก์ตอนแล้วขยายลงในบ่อดิน เมื่อมีปริมาณแพลงก์ตอนที่เข้มข้นพอจะปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยงหอยแครงเพื่อป้อนเป็นอาหารเสริมเข้าสู่ระบบการเลี้ยง ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสมด้วยวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกหอยแครงให้เป็นแหล่งธาตุแคลเซียมสู่แหล่งน้ำ เพื่อการสร้างเปลือกของหอยแครง

Advertisement

การเตรียมดินบ่อเลี้ยง

บ่อดินสำหรับใช้เลี้ยงหอยแครง ควรมีระดับความลึกของน้ำไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าน้ำตื้นอุณหภูมิของน้ำในบ่อจะสูง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำการคราดเปลือกหอยแครงและเศษวัสดุต่างๆ ออกจากบ่อให้หมด คราดพื้นดินในบ่อให้เรียบสม่ำเสมอและตากบ่อให้ดินแห้งเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในดิน

Advertisement
บ่ออนุบาลลูกหอยแครงก่อนปล่อยลงบ่อดิน

ก่อนเปิดน้ำเข้าบ่อให้ตรวจเช็กคุณภาพน้ำ เช่น ความเค็ม อยู่ในช่วง 18-20 ส่วนในพัน และแอมโมเนียในน้ำ (น้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร) เปิดน้ำเข้าบ่อในช่วงน้ำเกิด (ระดับน้ำขึ้นสูงสุด) และขังน้ำไว้ในบ่อแล้วปล่อยน้ำออกในช่วงระดับน้ำลง น้ำที่นำเข้าใหม่จะพัดพาสารอาหารเช่นแพลงก์ตอนพืชเข้ามาและตกตะกอนเป็นดินตะกอนใหม่ที่อ่อนนุ่ม (เกิดคะยอ) เพื่อให้หอยแครงฝังตัวได้ง่าย พักน้ำให้เกิดแพลงก์ตอนพืชเพื่อเป็นอาหารของหอยแครง

ก่อนเลี้ยงหอยแครงแต่ละรุ่นต้องคราดดินในบ่อด้วยโพงเพื่อเอาเปลือกหอยและเศษวัสดุอื่นๆ ออกจากแปลงเลี้ยง ทำการปรับสภาพดินในแปลงโดยการคราดพลิกดิน เพื่อให้ตะกอนเลนแตกออกไม่จับตัวกัน ทำให้พื้นดินเลนราบเรียบสม่ำเสมอ ทั้งยังเป็นการเติมออกซิเจนลงในดินเลนและไล่แก๊สพิษในดินเลนออกไปเพื่อให้ตะกอนดินเลนมีสภาพเหมาะสมให้ลูกหอยแครงฝังตัวได้ง่ายและทำการคราดเดือนละ 2 ครั้ง ในขณะที่มีการเลี้ยงหอยแครงด้วย

การเตรียมน้ำสำหรับเพาะแพลงก์ตอนเป็นอาหารเลี้ยงหอยแครงในบ่อดิน

การจัดซื้อลูกพันธุ์หอยแครง

ก่อนซื้อลูกพันธุ์หอยแครง มักตรวจสอบความเค็มของน้ำทะเลของแหล่งซื้อขายลูกพันธุ์หอยแครงให้มีระดับความเค็มใกล้เคียงกัน การขนส่งลูกพันธุ์หอยแครงตั้งแต่การบรรจุหอยแครงในถุงปุ๋ยจนกระทั่งถึงแปลงเลี้ยงหอยแครงไม่ควรเกิน 36 ชั่วโมง กรณีซื้อลูกพันธุ์ขนาด 10,000-30,000 ตัวต่อกิโลกรัม เมื่อลูกพันธุ์หอยแครงมาถึงแปลงเลี้ยง ควรทำการตรวจเช็กความแข็งแรงด้วยการตักหอยแครงจากถุงมาใส่จานให้กระจายตัวบางๆ และเติมน้ำเค็ม เฝ้าสังเกตดูการฟื้นตัวของหอยแครงโดยลูกหอยแครงที่แข็งแรงจะเปิดเปลือก ขยับตัว และเคลื่อนที่ในระยะเวลาอันสั้น ควรตรวจเช็กอัตราการรอดตายของลูกหอยแครงด้วย

หว่านลูกพันธุ์หอยแครง

คุณวรเดชจัดซื้อลูกหอยแครงสายพันธุ์มาเลเซีย ที่มีขนาด 12,500 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 2.5 ลูก ลูกละ 30 กิโลกรัม มาหว่านลงในบ่อดิน จำนวน 5 บ่อ แต่ละบ่อปล่อยเท่าๆ กัน (2.5 ลูก) คิดเป็นอัตราความหนาแน่นเท่ากับ 187,500 ตัวต่อไร่ (บ่อละ 75 กิโลกรัม) เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่ง พบว่ามีหอยที่ปล่อยไว้บางลง มีตายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และซื้อลูกหอยนาง (หอยแครงจากสุราษฎร์ฯ) ขนาด 400 ตัวต่อกิโลกรัม มา 1,000 กิโลกรัม มาลงเพิ่มทั้ง 5 บ่อ (บ่อละ 80,000 ตัว หรือ 200 กิโลกรัม)

ขั้นตอนการเพาะสาหร่าย
เครือข่ายเพาะเลี้ยงชายฝั่งสนใจเลี้ยงแพลงก์ตอนเป็นอาหารเลี้ยงหอยแครง

การจัดการหอยแครงในบ่อดิน

เนื่องจากบ่อดินมีข้อจำกัดเรื่องสารอาหารที่มากับน้ำที่มีอยู่น้อยกว่าในสภาพที่เป็นในทะเลเปิด ทีมวิจัยได้เสนอทางเลือกการสร้างอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ให้ได้ปริมาณที่มากเพื่อเป็นอาหารเสริมจากที่มีอยู่ปริมาณน้อยตามธรรมชาติ

การให้แพลงก์ตอนกับหอยแครงในบ่อดิน จะทำการใช้ปั๊มดูดแพลงก์ตอนที่ขยายไว้ในถังขนาด 1 ตัน จำนวน 3 ถัง ส่งไปตามท่อส่งน้ำที่วางไว้ในแนว 2 ข้างของคันบ่อ โดยจะปล่อยให้ในช่วงเวลาประมาณ 09.30-10.00 น. ของทุกๆ วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแสงแดด กังหันตีน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานแล้ว จะช่วยพัดพาแพลงก์ตอนให้กระจายกับกระแสน้ำในบ่อ

คุณวรเดชตรวจสอบความหนาแน่นและการเจริญเติบโตของหอยแครงเป็นประจำทุกเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้หอยแครงที่เลี้ยงมีความหนาแน่นเกินไปและมีการทับถมกันซึ่งอาจทำให้หอยแครงตายหรือเจริญเติบโตช้า วิธีตรวจสอบโดยใช้โพงหรือชะเนาะ ตักขึ้นมาดูว่ามีตัวตายมากน้อยเพียงใด ตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นประจำ เปลี่ยนถ่ายน้ำ 1-2 ครั้งต่อเดือน

เปรียบเทียบข้อดีของการเลี้ยงหอยแครงในระบบเปิดกับระบบปิด

และมีการตรวจดูศัตรูหอยแครงที่มีในบ่อ เช่น ปลาดาว หอยหมู หอยตะกาย ที่เป็นศัตรูทางตรงเจาะกินหอยแครงเป็นอาหาร หรือหอยกะพง หอยกะพังที่เป็นศัตรูทางอ้อมที่คอยแย่งอาหารหอยแครง การเลี้ยงหอยแครงจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี 2 เดือนให้ได้ขนาดตามความต้องการของตลาด ประมาณ 80-120 ตัวต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ระยะเวลาที่เลี้ยงสั้นหรือยาวขึ้นกับขนาดที่นำมาหว่านเลี้ยงและขนาดที่ขายตามความต้องการท้องตลาด

เนื่องจากในบ่อดินมีข้อจำกัดกระแสลมและกระแสน้ำในการหมุนเวียน จึงติดตั้งกังหันตีน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ช่วยในการหมุนเวียนของน้ำในบ่อและเพื่อกระจายสารอาหารให้ทั่วบ่อ นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำเข้าออกบ่อเลี้ยงได้ ปริมาณสารอาหารในบ่อที่ไม่เพียงพอจึงเป็นข้อจำกัดอีกด้วย จึงควรเพาะขยายแพลงก์ตอนพืชลงในบ่อเพื่อเป็นแหล่งอาหารหอยแครงหรือการใส่ปุ๋ยในบ่อเพื่อให้แพลงก์ตอนใช้เป็นอาหารเพื่อการสังเคราะห์แสงในการเจริญเติบโต สำหรับบ่อดินของคุณวรเดชได้ติดตั้งกังหันตีน้ำชนิดใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell system) ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด ไม่เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม

หอยแครงที่ให้แพลงก์ตอนเป็นอาหารในระบบปิด เติบโตดี ขนาดตัวใหญ่

ระหว่างการเลี้ยงมีการเปิดน้ำเข้าในช่วงน้ำขึ้นสูงสุด (ขึ้น 15 ค่ำ) ในช่วงเวลา 1-4 เดือน ทำการตรวจเช็กขนาดของลูกหอยแครงที่ปล่อยเป็นระยะๆ (เดือนละครั้ง) ทำการชั่งน้ำหนักและวัดขนาดของลูกหอยแครง หลังจากเดือนที่ 4-6 ต้องขยายพื้นที่เลี้ยงด้วยการคราดหอยออกบางส่วนไปปล่อยแปลงอื่นเพื่อให้หอยโตเร็วขึ้น เป็นการลดความหนาแน่นของหอยแครงในบ่อ จะช่วยให้หอยเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยแครงมี 2 วิธี คือ การเก็บเกี่ยวด้วยมือ และการใช้เรือที่มีเครื่องมือคล้ายคราด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “โพง หรือชะเนาะ” สำหรับคราดหอยแครงโดยใช้เรือช่วยลาก สามารถเก็บหอยแครงได้เร็วขึ้น ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวนำมาทำความสะอาดและนำไปส่งขายตลาดทั่วไป คุณวรเดชได้นำผลผลิตส่งขายแพรับซื้อหอยแครงภายในตำบลคลองโคนและบางส่วนส่งขายร้านอาหารเจ้าประจำ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบข้อดีของการเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดและใช้แพลงก์ตอนเป็นแหล่งอาหาร พบว่าช่วยประหยัดต้นทุน ดูแลจัดการง่าย มีภาวะเสี่ยงน้อยกว่าการเลี้ยงหอยแครงในระบบเปิด แต่ผลผลิตต่อพื้นที่ไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด