“กดปุ่ม” อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพบริการรถพยาบาลเชิงกลไก ไม่ง้อแอป

การจะทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินสามารถนำส่งผู้ป่วยหรือผู้ประสบอุบัติเหตุไปถึงสถานพยาบาลได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะกับสถานพยาบาลที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง และมีจุดให้บริการรถพยาบาลกระจายในหลายพื้นที่ จำเป็นต้องมีการนำข้อมูลการปฏิบัติงานของรถพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดพื้นที่ให้บริการของรถพยาบาลแต่ละจุดให้ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ

จึงเป็นที่มาของ “Kod Poum” หรือ “กดปุ่ม” นวัตกรรมส่งสถานะและเก็บข้อมูลของรถพยาบาลฉุกเฉิน ผลงานของทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จำนวน 4 คน คือ ธฤต นามนิราศภัย, พรวลัย เฉลิมวัฒนไตร, อสมา ว่านกระ และ อิทธิกฤต กฤตเจริญนนท์ โดยมี ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ และ ดร.บุญฑริกา เกษมสันติธรรม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ธฤต กล่าวว่า จากการได้ไปพูดคุยเก็บข้อมูล กับบุคลากรของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ในส่วนของการให้บริการรถพยาบาล ที่จะนำผู้ประสบอุบัติเหตุหรือผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลเครือข่ายของศูนย์ทั้ง 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ นั้น พบว่ามีการกำหนดให้มีการส่งข้อมูลต่างๆ ขณะปฏิบัติงานของรถพยาบาล ทั้ง “ตำแหน่ง” “เวลา” “สถานะการทำงาน” ไปยังศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยการรายงานผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้แอปพลิเคชันบนแท็บเล็ตที่อยู่ประจำรถพยาบาลแต่ละคันขณะปฏิบัติหน้าที่

“เนื่องจากพนักงานขับรถแม้จะชำนาญด้านเส้นทาง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชัน ทำให้การกรอกข้อมูลเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยพยาบาลที่ไปพร้อมกับรถ แต่ด้วยหน้าที่หลักที่ต้องดูแลผู้ป่วย ทำให้หลายครั้งไม่สามารถเข้าแอปเพื่อบันทึกข้อมูล ณ เวลานั้นได้ และมักจะมาบันทึกภายหลังส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล ทำให้ข้อมูลหลายอย่าง เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ระยะเวลาการดูแลผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เวลาที่ใช้ในการเตรียมรถหลังออกปฏิบัติการ มีความคลาดเคลื่อนจากข้อมูลจริง เป็นอุปสรรคต่อการวางแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน หรือการกำหนดขอบเขตการทำงานของรถพยาบาลแต่ละจุดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เราจึงมีไอเดียที่จะเปลี่ยนจาก “แอปพลิเคชัน” มาเป็นอุปกรณ์เชิงกลไก (Mechanics) ที่คนขับรถพยาบาลทุกคนสามารถใช้กล่องนี้ได้”

“Kod Poum หรือ กดปุ่ม” คือ กล่องสี่เหลี่ยมขนาด 12x8x6 เซนติเมตร น้ำหนักใกล้เคียงกับมือถือ ภายในประกอบด้วยอุปกรณ์ระบุตำแหน่ง (GPS) กับตัวส่งสัญญาณ ที่เชื่อมต่อกับปุ่มกดด้านบนเครื่อง เพื่อรายงาน “สถานะการปฏิบัติงาน” “พิกัดรถ” และ “เวลาปัจจุบัน” ไปยังศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน ได้ในเสี้ยววินาที ที่คนขับ “กดปุ่ม”

Advertisement

“เริ่มจากปุ่มออกจากฐาน ที่ทำให้ศูนย์รู้ว่ารถคันนี้อยู่ระหว่างการเดินทางไปที่เกิดเหตุ พอไปถึงสถานที่ปฏิบัติงานก็เพียงกดปุ่มถึงที่เกิดเหตุ ต่อด้วย ปุ่มถึงโรงพยาบาล และ ปุ่มกลับถึงฐาน ตามลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง คือเปลี่ยนจากกรอกผ่านแอปพลิเคชันมาเป็นเพียงการ “กดครั้งละปุ่ม” ที่ผู้ขับรถพยาบาลสามารถทำได้ ทำให้ผู้ช่วยพยาบาลที่ไปกับรถสามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยได้เต็มที่ และทางศูนย์ก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน” อิทธิกฤต กล่าวเสริม

Advertisement

ธฤต กล่าวว่า หลังจากนำ “กดปุ่ม” ไปให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ในส่วนของการให้บริการรถพยาบาลได้ทดลองใช้ สิ่งที่คนขับรถพยาบาลสะท้อนมาก็คือ “ออกแบบเรียบง่าย” “ใช้งานง่าย” รวมถึงอยากให้เพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ เข้ามา เช่น การมีปุ่มเคลียร์สถานะ และการมีจอแสดงเวลา ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ก็บอกว่าข้อมูลที่ได้มีความครบถ้วน และสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ต่อได้

“ด้วยตัวกดปุ่ม จะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำไปวิเคราะห์ว่าหากเกิดอุบัติเหตุ จุดจอดรถพยาบาลจุดใดจะใช้เวลาเดินทางเร็วที่สุด มีรถพร้อมปฏิบัติงานหรือไม่ นอกจากนี้ ยังทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานทั้งของคนขับรถและผู้ช่วยพยาบาลประจำรถได้อีกด้วย”

สำหรับต้นทุนของกล่องนี้ อิทธิกฤต กล่าวว่า ตัวต้นแบบที่ขึ้นมาใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ในประเทศ และใช้ร่วมกับโปรแกรมของศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินอยู่แล้ว ทำให้มีต้นทุนไม่ถึง 3,000 บาทต่อเครื่อง

อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ FIBO กล่าวว่า แม้ “กดปุ่ม” เป็นผลงานในระหว่างชั้นปี แต่ก็สะท้อนหลักคิดของ FIBO ที่ต้องการสร้างคนที่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาหรือความต้องการของผู้ใช้งาน

“เราอยากให้เด็กมีการวิจัยและเก็บข้อมูลเชิงลึกให้ครบถ้วนทุกด้าน โดยเฉพาะกับผู้ใช้ เพื่อนำมาคิดงานที่มาตอบโจทย์คนใช้จริงๆ เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น การเรียนการสอนของเราจะเน้นเรื่องของ Design Thinking และใช้ concept นี้ในการฝึกให้นักศึกษาต้องลงไปเข้าใจคนใช้งานจริงๆ เพราะหน้าที่เราคือนำความรู้ไปตอบโจทย์คนที่ใช้งาน (user) ไม่ใช่ใส่หรือยัดเยียดเทคโนโลยีแก่ผู้ใช้อย่างเดียว เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของนวัตกรรมคือ ‘คนต้องใช้’”

กดปุ่ม เป็นหนึ่งในชิ้นงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 FIBO ในวิชา Tech Innovation ช่วงเทอม 1 ที่กำหนดให้นักศึกษาใช้ทักษะด้านการออกแบบมาพัฒนาชิ้นงานขึ้นมา 1 ชิ้น ที่ต้องสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้จริง และผลงานชิ้นนี้ได้นำไปจัดแสดงในกิจกรรม FIBO DEMO DAY ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอีกด้วย