บพข. โชว์ความสำเร็จ จ.กระบี่ ชูกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ร่วมมือผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากงานวิจัยสู่การขายจริง

ภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การขับเคลื่อน
การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วยกิจกรรมท่องเที่ยว จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมแกร่ง
ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุดเป็นการส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลก เพื่อนำไปสู่การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม บพข. ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการที่ครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมพลังขับเคลื่อน มุ่งเน้นการออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

การท่องเที่ยว สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว จึงได้เริ่มต้นแผนงานการท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral Tourism (CNT) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผ่านการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมขับเคลื่อนงานด้วยกัน ผู้ประกอบการและคณะวิจัยได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรม/กิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถขายได้จริง สร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริง อีกทั้งยังกระจายการนำแนวคิด CNT มาใช้ในการท่องเที่ยวต่างๆ กับฝั่ง Supply อาทิ การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม (ฝั่งอันดามัน/อ่าวไทย/เขตอุทยานเชิงเกษตร วิถีแห่งสายน้ำ เชิงอาสาสมัคร เชิงกีฬา เป็นต้น

ผศ.สุภาวดี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า เป้าหมายความสำเร็จของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่ม CNT ในช่วง 5 ปี (ปี 2566-2570) มุ่งให้ประเทศไทยเป็น Net Zero Tourism ด้วยการสร้างการวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกับผู้ประกอบการ โดยยกระดับจากการท่องเที่ยวแบบปกติให้เป็นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และขยับเป้าหมายสู่การท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

โดยหนึ่งงานวิจัยที่ตอบโจทย์ได้ชัดเจนคือ โครงการวิจัยการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นการพัฒนาและยกระดับอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่และพื้นที่เชื่อมโยง โดยมี ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับ รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ รศ.ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม หัวหน้าโครงการย่อย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติการท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงาน ที่ร่วมดําเนินการและขับเคลื่อนในเชิงนโยบายปักหลักกันมายาวนาน จากจุดเริ่มต้นของการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ที่พุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม การ Zoning และ Green Tourism ซึ่งทางจังหวัดกระบี่ประกาศให้เป็นพื้นที่สําหรับการเที่ยวเชิงสุขภาพ

Advertisement

ดังนั้น การที่นักท่องเที่ยวจะท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยมีสุข และอยู่ภายใต้ Wellness & Spa คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย จนวันนี้ที่พัฒนาต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยว CNT Carbon neutral tourism การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

Advertisement

ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำองค์ความรู้ลงไปสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมปรับวิธีการท่องเที่ยวให้เป็นเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยอาศัยเครื่องมือในงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอาแนวคิดการคํานวณการปล่อยคาร์บอนของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules : PCR) การคํานวณลดชดเชยคาร์บอน ไม่ให้มีอยู่ในส่วนของการทํากิจกรรมต่างๆ จึงเป็นที่มาของการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะลดคาร์บอน หรือเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบของคาร์บอนต่ำ ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในอุตสาหกรรมเที่ยวของไทย เช่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การพายเรือคายัค การล่องเรือ การชมทิวทัศน์ รวมไปถึงกิจกรรมที่เน้นประสบการณ์ต่างๆ เราก็นําสิ่งเหล่านั้นมากลับมาทําในรูปแบบของกิจกรรมที่ลดโลกร้อน เช่น การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ รวมไปถึงกิจกรรมของการทําอาหารท้องถิ่น

การนําเสนอเมนูที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ไม่ต้องนําเข้าหรือขนส่งจากนอกพื้นที่เข้ามา จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การพักในโรงแรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โรงแรมสีเขียว งานวิจัยก็จะเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นจากภาคโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง รวมถึงประมวลว่าตรงไหนที่เป็น Pain Point เราก็จะแก้ปัญหาด้วยงานวิจัยที่มีการนําร่องทํากิจกรรมเพื่อสร้างทางเลือกให้กับการท่องเที่ยวชุมชนให้มากยิ่งขึ้น

ด้าน รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า
เรื่อง Carbon Neutrality การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เกิดจากการที่เราเริ่มเห็นวิถีชีวิตดั้งเดิม
แต่ถูกแปรเปลี่ยนทำให้เกิดรายได้ โดยใช้สิ่งที่อยู่รอบตัว อย่างผ้าปูเตียง ผ้าปูโต๊ะในโรงแรม เมื่อเป็นรอย ต้องทิ้งให้หมด การทิ้งไม่ใช่แค่ทิ้งแล้วจบ แต่โยงไปถึงการกำจัดซึ่งผ้ามันย่อยสลายยากอยู่แล้ว เราจึงนำมาผลิตเป็น Upcycling คือทำอย่างไรที่จะสร้างอย่างอื่นต่อได้ ผ้าที่เป็นรอยหรือขาดเล็กน้อย เอามาทำเป็นกางเกงโดยใช้ลวดลายช้างซึ่งเป็นภาพเขียนสีโบราณที่อยู่ในถ้ำของจังหวัดกระบี่ และกระบี่มีช้างเผือก นามว่าพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ซึ่งเป็นช้างเผือกคู่พระบารมีเชือกแรกในสมัยรัชกาลที่ 9 เกิดในป่า อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

นอกจากนี้ ยังมีลูกปัดสุริยเทพซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคลองท่อม กางเกงช้างเป็นกางเกงที่โด่งดัง แต่กางเกงช้างของเราเป็นกางเกงช้างโบราณที่มีอัตลักษณ์ของกระบี่ ทั้งนี้ รายได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปมอบเป็นค่ารักษาพยาบาลช้างให้กับโรงพยาบาลช้างในจังหวัดกระบี่ภายใต้โครงการ CSR ร่วมกับโรงแรมอ่าวนางปริ๊นซ์วิลล์ รีสอร์ทแอนด์สปา ขณะเดียวกัน มีการนำงานวิจัยมาขับเคลื่อนในการทำเส้นทางท่องเที่ยว และดึงกิจกรรมหลายๆ อย่างมารวมกันโดยเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอน เช่น การนวดที่ใช้น้ำมันปาล์มแดง ซึ่งเป็นผลิตผลในพื้นที่ เหมาะกับคนที่มีเวลา เพราะต้องนวดแล้วแช่น้ำร้อน เพื่อล้างคราบสีแดงออก

การทำกิจกรรมท้องถิ่นย้อมผ้าสีธรรมชาติซึ่งเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยคาร์บอน มีการคำนวณ ลด ชดเชย ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่น Zero Carbon ซึ่งทำให้สามารถคำนวณ และชดเชยคาร์บอนได้ง่ายขึ้น กิจกรรมที่ทำหลักๆ คือ การสื่อสารที่ไม่ใช่เพียงให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วกลับ แต่เราจะได้ทูตทางด้านท่องเที่ยวแบบ Low Carbon เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ คนที่มากระบี่ก็จะได้เรียนรู้กับชุมชน ในเรื่องการทำ Low Carbon หรือการทำ Carbon Neutrality ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนต่อยอด กิจกรรมที่ทดลองทำและลดคาร์บอน คือ การย้อมผ้า เมื่อก่อนใช้สีเคมี สีสดๆ ส่งผลคือเวลาทิ้งลงดิน ส่งผลกระทบต่อดิน และต้องใช้ไขเทียนเป็นตัวเขียน และต้องต้ม ปัจจุบัน เราใช้ไขปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสีขาว เขียนลื่นกว่า ไม่ต้องต้ม ลดพลังงาน ใช้เพียงแค่ล้างน้ำขยี้ ก็สามารถใช้ได้ และทำให้สีติดโดยใช้น้ำทะเล หรือเทคนิคต่างๆ ตามสูตรของแต่ละพื้นที่ สุดท้ายลดคาร์บอนได้ 9 เท่า โดยวิธีการแบบเดิม ปล่อยคาร์บอน 9 kgCO2eq แบบใหม่ปล่อยคาร์บอน 1 kgCO2eq

“การทำการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน และกิจกรรมท่องเที่ยว
โดยชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพราะชุมชนอยู่กับแหล่งท่องเที่ยว เมื่อชุมชนอยู่ได้ กิจกรรมที่เขาทำ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการปล่อยคาร์บอนที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารท้องถิ่น กิจกรรมต่างๆ งานนี้จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขับเคลื่อนร่วมกับ บพข. ซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนในการทำงานที่มุ่งตอบโจทย์ปัญหาวิจัยจากสังคม ธุรกิจ และชุมชนที่นำไปใช้งานได้จริง จึงอยากฝากให้ทุกคนสนับสนุน เพื่อให้ชุมชนเติบโตและสิ่งแวดล้อมเรายั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย