แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส ใช้ 3 แนวทาง ลดความเลื่อมล้ำชีวิตเกษตรไทย

จะเห็นได้ว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้คนรุ่นใหม่ สนใจมาทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) กันมากขึ้น ขณะเดียวกันมีหลายองค์กรที่ให้สนับสนุนและส่งเสริมด้านนี้เช่นกัน อย่างเมื่อไม่นาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงาน SET Social Impact Day 2017 : รวมพลังเพื่อความยั่งยืน เปิดเวทีให้บริษัทจดทะเบียนพบผู้ประกอบการ SE กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม ซึ่งได้รับความสนใจจากธุรกิจ กิจการเพื่อสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

ทั้งนี้ แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส จำกัด (HappyFarmers) เป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคมด้านการพัฒนาชุมชนที่ได้รับเลือกเข้าร่วมงานนี้ ซึ่ง “อชิตศักดิ์ พชรวรณวิชญ์” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้บริหาร บอกว่า การมาร่วมงานทำให้ได้เจอและมีโอกาสบอกเล่าให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคมได้รู้ถึงความมุ่งมั่นเพื่อจะได้มาเป็นพันธมิตรกัน

สำหรับที่มาของแฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส มีจุดเริ่มต้นว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วได้ทำงานที่บริษัทเอกชนระยะหนึ่ง ก่อนลาออกมาทำธุรกิจที่บ้าน ก็มองหาธุรกิจที่มีความหมายทั้งกับตัวเองและสังคม จึงพบว่าหลาย ๆ ปัญหาของสังคมเกิดขึ้นเพราะสังคมมีความเหลื่อมล้ำ จึงตั้งเป้าที่อยากจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยใช้กลไกการทำธุรกิจที่มุ่งไปที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ และเลือกที่จะช่วยคนที่อยู่ในภาคการเกษตรของไทย เพราะยังคงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของคนทั้งประเทศ

“คนไทยกว่า 1 ใน 3 หรือราว 20 ล้านคน มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่าภาคการเกษตรของทั้งประเทศสามารถสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจได้เพียงแค่ 10% ซึ่งหมายความว่า คนไทยในภาคการเกษตรกำลังจนลงเมื่อเทียบกับคนไทยทั้งประเทศ และนี่คือที่มาของความเหลื่อมล้ำและแรงผลักดันที่ส่งให้ผมมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรไทย เพื่อเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาจากต้นเหตุในนามแฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส โดยมุ่งเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้นระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรงและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมวางเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนเกษตรกรรมกับชุมชนเมืองผ่านการดำเนินธุรกิจของเรา”

สำหรับแพลตฟอร์มการดำเนินธุรกิจ ของแฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส เน้นใน 3 รูปแบบหลักคือ หนึ่ง Online Farmers Market ที่มุ่งช่วยให้เกษตรกรอินทรีย์ที่กำลังเริ่มตั้งต้นธุรกิจให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางและเข้าถึงตลาดได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยแพลตฟอร์มของ แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์สไม่คิดค่าธรรมเนียมการขายเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงประโยชน์ของแพลตฟอร์มให้ได้มากที่สุด

สอง Social Products โดยหลักการเกิดจากที่แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์สต้องการช่วยแก้ปัญหาสังคมในชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดตาก การลักลอบการปลูกฝิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงชาวนาที่ยังไม่สามารถเริ่มธุรกิจของตนเองได้ในภาคอีสาน ปัญหาและความต้องการเหล่านี้จึงถูกพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อสังคม โดยการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรงในราคาที่เป็นธรรม รายได้เหล่านี้จะส่งไปยังเกษตรกรที่สร้างผลกระทบทางสังคมในพื้นที่ของตน ทำให้การซื้อสินค้าทุกชิ้นมีผลช่วยให้ปัญหาสังคมในแต่ละพื้นที่ที่ แฮปปี้ ฟาร์มเมอร์ส ทำงานอยู่คลี่คลายไปอย่างเห็นได้ชัด

สาม คือแนวทางการทำ Crowd Funding Platform for Thai Farmers เพราะปัญหาเงินทุนของเกษตรกรไทยยังเป็นปัญหาสำคัญในการเริ่มต้นฤดูกาลทำเกษตรของทุกปี และส่วนใหญ่ยังพึ่งพาหนี้นอกระบบเป็นสำคัญ ทำให้เกษตรกรไทยยากที่จะลืมตาอ้าปากและหลุดพ้นจากวงจรหนี้สิน ในขณะที่ชาวเมืองต้องดิ้นรนหาวิธีการออมเงินเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าการออมทรัพย์ และฝากประจำที่ให้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิด Platform นี้จึงต้องการเชื่อมโยงความต้องการของทั้งสองฝั่งให้เข้ากันเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเงินและสังคมสูงสุด โดยขณะนี้โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรอื่น ๆ

“อชิตศักดิ์” กล่าวด้วยว่า ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ช่วยให้พื้นที่นากว่า 27 ไร่ หรือกว่า 20 ครัวเรือนในบุรีรัมย์ เปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ได้สำเร็จ โดยสามารถให้ราคาข้าวเปลือกได้สูงถึง 25,000 บาทต่อตัน กับทั้ง 12 สายพันธุ์ที่ชาวนานำมาเข้าโครงการในด้านผลิตภัณฑ์ เกิดของขวัญเพื่อสังคม 3 โครงการ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์เปลี่ยนชีวิต (Organic Rice for the Better Lives) สนับสนุนให้ชาวนาภาคอีสานเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ได้สำเร็จตั้งแต่การปลูกจนถึงการทำตลาดและการขาย ประกอบด้วยชุดของขวัญข้าวอินทรีย์ 4 เซ็ท กาแฟปลุกป่า (Coffee Grows a Forest) ส่งเสริมการรักษาและขยายพื้นที่ป่าดิบชื้นด้วยวิธีการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ ประกอบด้วยชุดของของขวัญกาแฟอินทรีย์ 3 เซ็ท และจากฝิ่นสูฝ้าย (From Fhin to Fhai) แก้ปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างผิดกฎหมายด้วยการส่งเสริมอาชีพทอผ้าฝ้ายแทนการปลูกฝิ่น

“Social Products นั้นได้รับการตอบรับอย่างดีจากบริษัทต่าง ๆ มาร่วมซื้อเป็นของขวัญ ซึ่งที่โดนใจและได้รับการอุดหนุนมาก คือ ข้าวอินทรีย์เปลี่ยนชีวิต – ชุดของขวัญข้าวอินทรีย์ 12 สายพันธุ์ จากบุรีรัมย์ สุรินทร์ และเชียงราย ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชาวนาไทยเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ได้สำเร็จ โดยการสนับสนุนปัจจัยตั้งแต่ต้นฤดูกาลและรับซื้อผลิตผลในราคาสูงถึง 25,000 บาทต่อตัน เพื่อให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขั้นทั้งรายได้ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ขณะที่ชุดของขวัญสำหรับผู้บริหารจากงานผ้าฝ้าย ฝีมือของชาวปกากะญอ บ้านทุ่งต้นงิ้ว ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเคยมีรายได้จากการปลูกฝิ่นเป็นหลัก ก็มีออเดอร์สูงเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม สองปีกว่าของการทำธุรกิจเพื่อสังคมแฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส บว่า Online Farmers Market ต้องใช้เงินทุนสูงในการทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขนาดตลาดและความต้องการของสินค้าอินทรีย์ยังจำกัดจึงทำให้ยอดขายไม่สูงนัก อีกทั้งผลตอบแทนที่บริษัทได้รับโดยตรงไม่มี ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายตลาด ขณะที่ของขวัญเพื่อสังคม ยังมีความท้าทายในการเปลี่ยนทัศนคติการให้ของขวัญกับลูกค้าและบุคคลทั่วไป รวมถึงการบริหารต้นทุนของสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต “อชิตศักดิ์” เล่าว่า ได้วางกลยุทธ์ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์ทางสังคมเป็น Premium Mass ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสตาร์บัคส์หรืออีเกีย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และตอบสนองความช่วยเหลือได้ในวงกว้างมากขึ้น สำหรับ Crowd Funding Platform ในอนาคตจะเป็นอีกช่องทางที่บุคคลทั่วไปและองค์กรสามารถลงทุนและหวังผลตอบแทนได้จริง ในขณะที่เกษตรกรจะเลือกใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางแรกในการหาแหล่งเงินทุนในอนาคต

แม้จะเพิ่งก่อตั้ง แต่กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและความตั้งใจจริงก็ทำให้กิจการเพื่อสังคม แฮปปี้ฟาร์มเมอร์สเริ่มได้ชิมความสำเร็จที่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม