บิ๊ก กยท. อ้อนจีน ช่วยซื้อยางลอตใหญ่ หวังขาย60บาท/กก.

ตลาดยางไทยยังไม่สิ้นหวัง กยท.อ้อนประธานใหญ่ไชน่า ไห่หนานฯ ช่วยรับซื้อยางหลายแสนตัน ทั้งในสต๊อกเก่าและลอตใหม่ หวังได้ราคา กก.ละ 60-70 บาท อีกครั้ง สร้างเสถียรภาพราคายางไม่ให้ผันผวนเกินไป ด้านเวทีประชุม ITRC และ IRCO ระบุทิศทางตลาดและราคาปรับตัวสูงขึ้น 3 ประเทศสมาชิกผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกเตรียมแผนระยะยาว มุ่งส่งเสริมใช้ยางในประเทศ

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในกลางเดือนสิงหาคมนี้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้ายางรายใหญ่จากจีน จะเดินทางมาเจรจาซื้อยางพาราจาก กยท. หลังจากเมื่อ 2 เดือนก่อนตัวแทนของบริษัท และอีกหลายบริษัทจากจีนมาเจรจาซื้อยางพารากับ กยท.ในปริมาณหลายแสนตัน ซึ่งช่วงนั้น กยท.ได้ให้ไชน่า ไห่หนานฯ ไปทำข้อเสนอด้านราคาและเงื่อนไขการซื้อมาด้วย ทั้งนี้ ราคาที่จะเสนอซื้อยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ขอให้อยู่ในกรอบ 60-70 บาท/กก.

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากวงการยางพารา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเข้ามาเจรจากับ กยท.ของตัวแทนนำเข้ายางรายใหญ่ของจีนเมื่อ 2 เดือนก่อน เกิดขึ้นหลังจากราคายางพาราภายในของไทยตกต่ำลง กก.ละหลายสิบบาท ทางฝ่ายไทยจึงได้เรียกกลุ่มไชน่า ไห่หนานฯ มาเจรจาซื้อขายกันใหม่อีกครั้ง โดยจะไม่มีการขึ้นบัญชีดำหรือแบล็กลิสต์ ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งสองฝ่ายได้เจรจาเรื่องค่าปรับที่ไชน่า ไห่หนานฯ จะจ่ายให้ไทยจากการผิดสัญญาซื้อขายยางจากองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ก่อนจะมาเป็น กยท.ปลายปี 2557 จำนวน 4.08 แสนตันไปเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดไชน่า ไห่หนานฯ ได้เข้ามาประมูลซื้อยางเก่าในสต๊อก กยท. 3.1 แสนตันผ่านทางตัวแทน คือ บริษัท เอ็มทีเซ็นเตอร์เทรด จำกัด ไปหลายหมื่นตัน เท่ากับไทยยังต้องพึ่งออร์เดอร์ขนาดใหญ่จากบริษัทนำเข้ายางรายใหญ่จากจีนพอสมควร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้ผันผวนเหมือนที่ผ่านมามากเกินไป

ส่วนสถานการณ์ยางพาราล่าสุดนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) และคณะกรรมการบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ (IRCo?s BoD) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ณ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มราคายางที่มีความผันผวนและปัจจัยทางการตลาดที่ส่งผลกระทบต่อราคายางธรรมชาติ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังสะท้อนให้เห็นว่าราคายางจะต้องดีกว่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกรชาวสวนยาง และอุตสาหกรรมยางพาราแก่ประเทศผู้ผลิตทั้ง 3 ประเทศ ที่ประชุมจึงได้เสนอแนวทางมาตรการที่เป็นไปได้ในการเพิ่มราคายาง

โดยจากการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคายางในตลาดล่วงหน้าทั้ง 3 แห่ง ซึ่งระบุว่าตลาดล่วงหน้ามีปริมาณการขายที่สูงเกินไป กล่าวได้ว่า ในตลาดล่วงหน้าจะขายมากกว่าซื้อ เมื่อเทียบกับการเติบโตของ GDP ของประเทศผู้ใช้ยางที่เป็นบวกทั้งหมด คาดว่าความต้องการใช้ยางธรรมชาติในปีนี้จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยแวดล้อมที่มีต่อผลผลิตยางในประเทศผู้ผลิต เช่น อินโดนีเซีย คาดว่าในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะถึง จะมีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดช้าลง ส่วนในประเทศมาเลเซียและไทยจะลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยทางสมาคมอุตสาหกรรมยางธรรมชาติแห่งประเทศผู้ผลิต (ANRPC) คาดว่าจะมีการขาดดุลความต้องการซื้อยางธรรมชาติจากทั่วโลก

นายธีธัช ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ITRC และ IRCo จะยังคงติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มตลาดยาง ตลอดจนพิจารณามาตรการอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับราคายาง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศสมาชิก ITRC จะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการอุปสงค์และอุปทานให้สมดุล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งประเด็นนี้ประเทศสมาชิกต่างให้การสนับสนุนแผนงานของรัฐบาลไทยในการลดพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างถาวร ซึ่งจะเป็นการลดอุปทานของยางธรรมชาติประมาณ 360,000 เมตริกตันต่อปีในอนาคตอันใกล้นี้

“ทั้ง 3 ประเทศสมาชิกจะดำเนินการพิจารณามาตรการระยะยาวเป็นหลัก เพื่อเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศของแต่ละประเทศให้มากยิ่งขึ้น ทั้งการก่อสร้างถนน เขื่อนยาง ฯลฯ เป็นต้น

โดยรัฐบาลของทั้งสามประเทศมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดยางและราคาว่าจะมีการปรับตัวตามปัจจัยพื้นฐานที่สะท้อนเหล่านี้ และที่สำคัญ จะให้ความร่วมมือภายใต้กรอบของ ITRC เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์