ชี้เทรนด์นวัตกรรมปี 67 “เกษตรอัจฉริยะ” มาแรง กู้วิกฤตเกษตรวัยเกษียณ

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าทีมวิจัยจาก คณะเกษตรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นนักวิจัยมือทองด้านการเกษตรและผลไม้ไทย เปิดเผยกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่า เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) หรือ นวัตกรรมเกษตรแม่นยำ เป็นเทรนด์นวัตกรรมที่มาแรงในปี 2567 การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูก สามารถเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ควบคู่กับลดต้นทุนการผลิต แก้วิกฤตขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ช่วยให้การทำเกษตรเป็นเรื่องง่ายสำหรับเกษตรกรที่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย

โดยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ถูกนำมาใช้ยกระดับการผลิตในภาคการเกษตรไทยในขณะนี้ ได้แก่ ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน สามารถควบคุมการให้ปุ๋ยและน้ำอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ประกอบด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน รวมทั้ง “โดรน” ใช้บินสำรวจพื้นที่การเกษตร ฉีดพ่นสารเคมีและปุ๋ย ฯลฯ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดี ติดดอกออกผลสมบูรณ์กว่าการเพาะปลูกแบบปกติ ช่วยลดการใช้น้ำ ปุ๋ย และลดต้นทุนค่าแรงงาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดียิ่งขึ้น

CBAM ภาษีนำเข้าของยุโรป

จุดเปลี่ยนสินค้าส่งออกของไทย

สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) โดยบังคับให้ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าต่างๆ ไปยังประเทศในกลุ่ม EU ต้องควบคุมปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ในสินค้าของตนเองให้ได้ตามมาตรฐาน มิฉะนั้นเสี่ยงที่จะโดนกำแพงภาษี หรือต้องจ่ายค่าปรับที่มีราคาสูงมาก มาตรการนี้ส่งผลให้ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีความจำเป็นและกำลังเติบโตมากขึ้นทุกวัน ภาคธุรกิจของไทยต้องซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขยายขอบเขต หรือชดเชยการสร้างก๊าซเรือนกระจกของตนเองแล้ว ภาคการผลิตสินค้าเกษตรของไทยก็ต้องนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาปรับปรุงระบบเกษตรกรรม เพื่อลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่มีคาร์บอนเครดิตส่วนเกินด้วยเช่นกัน

Advertisement

การเตรียมพันธุ์ดีมาปลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน

Advertisement

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ นิยมปลูกสตรอเบอร์รีพันธุ์ 80 จำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากเขาค้อมีสภาพอากาศร้อนกว่าดอยอ่างขาง ทำให้ต้นสตรอเบอร์รีพันธุ์ 80 ไม่ค่อยติดดอก ออกผลเท่าที่ควร ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงศึกษาความเป็นไปได้ที่นำต้นสตรอเบอร์รีพันธุ์ 89 เข้ามาทดลองปลูกในพื้นที่แห่งนี้ จุดเด่นสำคัญของต้นสตรอเบอร์รีพันธุ์ 89 คือ ผลมีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอเบอร์รีเกาหลี มีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า เป็นผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ และสามารถเติบโตดีในสภาพภูมิอากาศของเขาค้อ

สตรอเบอรีพันธุ์ 89