ลด ละ เลิก “พาราควอต” ผลประโยชน์นี้เพื่อใคร ?

ความพยายามในการเคลื่อนไหวของภาคเอกชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาล “ยกเลิกมติ” ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งมีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้

และระหว่างนี้จะ “ไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน” และต้อง “ยุติการนำเข้า” ภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และ “ยุติการใช้สารเคมี” ทั้ง 2 ตัว ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัว รวมถึงการเตรียมออกหลักเกณฑ์ควบคุมการใช้ “ไกลโฟเสต” โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายถอนพิษได้ ที่ผ่านมา 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว

เริ่มจากผู้บริหารกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ออกมาบอกว่า หากไม่มีสารพาราควอตใช้ จะกระทบโดยตรงแก่เกษตรกรทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะหากต้องใช้แรงงานคนในการถอนหญ้าจะเสียค่าใช้จ่ายต่อไร่สูง ทั้งยังมีปัญหาแรงงานขาดแคลน ทั้งนี้ หากหันไปหาสารทดแทนตัวอื่นก็ไม่คุ้ม เพราะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าและต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าสารพาราควอต อย่างไรก็ตาม ปี 2559

ซินเจนทามียอดขายรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ปี 2560 คาดว่าจะมียอดขายรวมเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน แบ่งเป็นยอดขายสารอารักขาพืช 70% ของยอดขายรวม และเป็นยอดขายสารพาราควอต 20% ของยอดขายรวม

ตามมาด้วยกลุ่ม “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกฯประยุทธ์ ระบุว่า เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก กรณีที่รัฐจะยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต โดยบอกว่า เกษตรกรไทยล้วนต้องพึ่งสารเคมีในการทำการเกษตร เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีความหลากหลายของศัตรูพืช พืชที่ปลูกต้องเผชิญปัญหาศัตรูทั้งโรค แมลง และวัชพืชมากกว่าในเขตอื่น

ขณะที่ด้านกลุ่ม NGO นำโดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ออกมาสนับสนุนมติดังกล่าว และขอให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯให้คำตอบภายใน 1 เดือน โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรควรมีหน้าที่ยุติการขึ้นทะเบียนและเพิกถอนสารพิษดังกล่าวและหาทางเลือกอื่นในการกำจัดวัชพืชแนะนำต่อเกษตรกร

ขณะที่ “กรมวิชาการเกษตร” ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง ล่าสุดได้ออกหนังสือเวียนโดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเปิดรับฟังความคิดเห็น ในการพิจารณา ลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตราย พาราควอตไดคอลไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต-ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม 4 ครั้ง ที่จ.เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และกทม. พร้อมให้ดาวน์โหลดแบบสอบถามแสดงความคิดเห็นในการกำหนดมาตรการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โดย นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำถามบางข้อ เช่น ข้อ 11ถามว่า ท่านมีความคิดเห็นในการควบคุมการใช้สารเคมีศัตรูพืชเหล่านี้อย่างไรบ้าง โดยระบุชื่อสาร 3 ตัว คือ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไดริฟอส พร้อมมีคำตอบให้เลือก 5 ช่อง คือ 1)ห้ามใช้ 2)จำกัดการใช้ 3)เฝ้าระวังการใช้ 4)ยังคงให้ใช้ตามเดิม และ 5)กรณีห้ามใช้ควรนำสาร/วิธีการใดทดแทน พร้อมให้ผู้ตอบเขียนระบุนั้น การถามทางเลือกจากเกษตรกรนั้นขึ้นกับว่าเกษตรกรเองเคยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสารทางเลือกหรือวิธีการจัดการวัชพืชแบบอื่น ๆ หรือไม่ ถ้าไม่เคย คำตอบของเกษตรกรคง “ไม่เลือกการห้ามใช้” ทั้งที่ไทยแพนเองเห็นงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในเรื่องนี้ไม่น้อยเลย

โดยหลักการไทยแพนเห็นว่าคณะกรรมการชี้ปัญหาต่อสุขภาพที่เกิดจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและหลายประเทศยกเลิกการใช้ด้วยเหตุผลเดียวกัน “บทบาทของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ต้องหาทางเลือกให้กับเกษตรกร” ซึ่งกว่าจะปี 2562 ยังมีเวลาในการพัฒนาทางเลือก รวมถึงการสนับสนุนเกษตรกรในรูปแบบที่เหมาะสม

ซึ่งเท่าที่สังเคราะห์งานวิจัยและราคาในท้องตลาด ต้นทุนไม่ได้สูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันต้นทุนผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้สารที่มีอันตรายร้ายแรงกลับไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา

ประเด็นร้อนดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่ากะพริบตาว่า ท้ายที่สุดแล้วกรมวิชาการเกษตรจะชี้ชะตาผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับใคร !

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์