ปลูกกล้วยน้ำว้าเขียว ตัดใบขายได้ตลอดทั้งปี มีกำไร/ไร่ทะลุหลักหมื่น

“ปลูกกล้วยขายใบตอง” เป็นหนึ่งในอาชีพทำเงินของเกษตรกรไทย เนื่องจากปัจจุบันมีการรณรงค์ลดใช้พลาสติก ใบตองซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ จึงถูกนำมาใช้ห่ออาหารในรูปแบบกระทง ถาด พานใบตอง กระเช้าใบตอง ใช้ทำงานประดิษฐ์จากใบตอง เช่น ทำบายศรี ทำกระทงดอกไม้ ฯลฯ

ใบตองที่ซื้อขายในท้องตลาดมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กล้วยน้ำว้า ใบตองมีสีเขียวอ่อน มีความหนาน้อยกว่าใบตองกล้วยตานี มีความเปราะบางเล็กน้อย มักใช้ใบตองกล้วยน้ำว้า มาห่อขนมที่มีขนาดเล็ก

2. กล้วยตานี เป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกตัดใบขายมี 3 ชนิด ได้แก่ กล้วยตานีป่า กล้วยตานีหิน และกล้วยตานีหม้อ สำหรับกล้วยตานีที่นิยมปลูกที่สุดคือ กล้วยตานีหม้อ เพราะมีใบใหญ่ กว้าง และหนา ใบเหนียวไม่แตกง่าย มีกลิ่นหอมถ้าถูกความร้อนไม่ทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยน แถมทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง น้ำท่วมขัง ปัญหาโรคพืช และแมลงศัตรูพืช

แปลงใหญ่กล้วยตัดใบ

หนึ่งเดียวใน “ นครสวรรค์”

Advertisement

ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี เป็นแปลงใหญ่กล้วยตัดใบแห่งเดียวในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านที่ปลูก กล้วยน้ำว้าดง (น้ำว้าเขียว) ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยตัดใบ หมู่ที่ 5 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อจัดหาและขยายตลาดโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยตัดใบในพื้นที่

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยตัดใบเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 374 ไร่ มีสมาชิก 32 ราย โดยมี นางนารี ลอยบัณฑิต เป็นประธานแปลงใหญ่ เกษตรกรนิยมปลูกกล้วยพันธุ์น้ำว้าเขียว เนื่องจากสามารถตัดใบได้ตลอดทั้งปี สีสวยกว่ากล้วยพันธุ์อื่น เมื่อนำไปห่อหุ้มอาหารหรือขนมจะไม่มีรสขมของใบกล้วยปะปนกับอาหาร

Advertisement

การปลูกดูแล

เมื่อเกษตรกรนำหน่อพันธุ์กล้วยมาปลูกจนได้อายุ 7-8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นกล้วยเจริญเติบโตเต็มที่ เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวใบกล้วยโดยจะตัดใบแล้วนำก้านใบมาซอย แยกใบออกจากก้าน พับใบเป็นมัด (ใบกล้วย 1 มัด มี 10 พับ หรือน้ำหนัก 10 กิโลกรัม) โดยจะเก็บเกี่ยวในช่วงที่ไม่มีน้ำค้าง เพราะหากเก็บเกี่ยวช่วงมีความชื้นผลผลิตใบกล้วยจะแตก/ฉีกขาด นิยมเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า 06.00-08.00 น. และช่วงเย็น 17.00-18.00 น.

สำหรับการดูแลรักษา เกษตรกรจะให้น้ำสปริงเกลอร์แบบท่อนในสวนกล้วยหรือสูบแบบเทราดเฉลี่ย 2-4 ครั้ง/เดือน ทั้งนี้ เมื่อกล้วยต้นแม่ออกลูกแล้วจะตัดต้นแม่ทิ้ง เนื่องจากเป็นกล้วยตัดใบเพื่อให้หน่อใหม่เจริญเติบโต สำหรับการดูแลรักษา เกษตรกรให้น้ำสปริงเกลอร์แบบท่อนในสวนกล้วยหรือสูบแบบเทราด เฉลี่ย 2-4 ครั้ง/เดือน

ต้นทุนการผลิต  

เกษตรกรที่ปลูกกล้วยตัดใบลงทุนในปีแรก (ต้นทุนก่อนให้ผล) 9,875 บาท/ไร่ ประกอบด้วย ค่าหน่อพันธุ์กล้วย ค่าเตรียมพื้นที่ ค่าแรงงานปลูก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต (ต้นกล้วยอายุ 6-8 เดือน) จะมีต้นทุนเฉลี่ย 13,933.75 บาท/ไร่/ปี ค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ การเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากเกษตรกรให้ความสำคัญในกระบวนการเก็บเกี่ยวและการรักษาใบกล้วยให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาดซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถัน

ด้านตลาด

เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยว เกษตรกรสามารถตัดใบกล้วยขายได้  10-20 ปี ผลผลิตเฉลี่ย 3,360 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขายได้ ณ เดือนธันวาคม 2566 เฉลี่ย 8-10 บาท/กิโลกรัม แต่หากเป็นช่วงฤดูแล้งที่ใบกล้วยขาดแคลน (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566) ราคาจะสูงถึง 11-14 บาท/กิโลกรัม ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 26,880 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 12,946.25 บาท/ไร่/ปี

ส่วนหน่อกล้วยที่สมบูรณ์ เกษตรกรสามารถตัดขายพันธุ์หน่อกล้วยจำหน่ายได้ราคาเฉลี่ย 10-15 บาท ปริมาณที่จำหน่ายได้ขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง (มีต้นทุนค่าแรงงานขุดหน่อกล้วย 5 บาท/หน่อ) ส่วนปลีกล้วย เกษตรกรจำหน่ายให้แก่ร้านอาหารในพื้นที่เพื่อนำไปประกอบเมนูอาหารปลีกล้วยครั้งละ 10-20 กิโลกรัม (ราคาเฉลี่ยปลีกล้วย 5 บาท/กิโลกรัม) ขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อ โดยเฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้จากการขายหัวปลี 500-2,000 บาท/เดือน

ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 85 พ่อค้าคนกลางในพื้นที่ที่เข้ามารับสินค้าเพื่อนำไปส่งต่อตลาดขายส่ง และผลผลิตร้อยละ 15 จำหน่ายเองโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง โดยส่วนใหญ่ส่งไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าที่จำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางประมาณ 3-4 บาท/กิโลกรัม

กล่าวได้ว่า อาชีพปลูกกล้วยตัดใบสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างมาก หากมีตลาดที่กลุ่มสามารถขายตรงได้ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง กลุ่มสามารถผลิตได้ตามความต้องการเนื่องจากมีพื้นที่ปลูกกล้วยตัดใบในตำบลอย่างเพียงพอ ทั้งกลุ่มมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ใบกล้วยที่มีคุณภาพ สำหรับท่านใดที่สนใจข้อมูลสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นางนารี ลอยบัณฑิต โทร. 085-730-9552 หรือ สศท.12 โทร. 056-803-525 อีเมล [email protected]

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)