10 ปี รักน้ำ “โคคา-โคลา” แก้ปัญหาน้ำตามภูมิสังคม

เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คน อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีผ่านมา “กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย” ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนเกี่ยวกับน้ำ โดยมีกรอบการทำงาน 3 ด้าน คือ

“Reduce” ลดการใช้น้ำในโรงงานการผลิต ทั้ง 7 แห่ง
“Recycle” นำน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่ม มาบำบัดจนได้น้ำสะอาด และนำกลับมาใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ในโรงงาน เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำภายนอกของชุมชน
และ “Replenish” คืนน้ำกลับสู่ชุมชน และธรรมชาติ ในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม
ตรงนี้จึงกลายเป็นที่มาของโครงการ “รักน้ำ”
โครงการรักน้ำ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่ที่ โคคา-โคลา ใช้น้ำในการผลิตเครื่องดื่ม โดยน้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำชุมชนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาประยุกต์ใช้ ซึ่งอาศัยความชำนาญ และองค์ความรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ ด้วยการเริ่มจากรับฟังปัญหาของชุมชน หาแนวทางแก้ไขร่วมกันและส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง
ปัจจุบัน โครงการรักน้ำ ดำเนินงานในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง, ขอนแก่น, บุรีรัมย์, นครสวรรค์, สุราษฎร์ธานี และปทุมธานี โดยร่วมมือกับพันธมิตร มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน), สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน, มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต และเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มผู้บริหาร พนักงาน กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย

“วันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ” ผู้จัดการองค์กรสัมพันธ์ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Water Stewardship) ถือเป็นพันธกิจสำคัญของโคคา-โคลาทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทย

“การดำเนินงานของโคคา-โคลา ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมผ่านการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้รูปแบบสามเหลี่ยมความร่วมมือสู่ความยั่งยืน (Golden Triangle) โดยร่วมกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ เช่น มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สานต่อการบริหารจัดการ ก็ไม่สามารถจะประสบความสำเร็จได้”
ส่วนกรอบการทำงานในเรื่องน้ำจะมีทั้งหมด 3 ด้าน คือ Reduce ลดปริมาณการใช้น้ำในโรงงานผลิต Recycle บำบัดน้ำจากกระบวนการผลิต และสามารถนำกลับไปใช้ได้ สุดท้าย Replenish คือ คืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชน
“จากรายงาน Quantifying Replenish Benefits in Community Water Partnership Projects โดย Limno Tech ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังให้การรับรองว่า โครงการรักน้ำ สามารถคืนน้ำกลับสู่ชุมชนและธรรมชาติได้ร้อยละ 360 ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม และเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วในปี 2558 และที่สำคัญ ยังทำให้คนไทยกว่า 1 ล้านคน ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมผ่านโครงการนี้”
“วันเพ็ญ”
กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำงานของโครงการรักน้ำในแต่ละพื้นที่ มีการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยหลักการทางวิชาการ ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนหลักภูมิสังคมของพื้นที่ และความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีองค์ความรู้ เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ชุมชนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ

“ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการทำงานที่ผ่านมา เราตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีการแก้ปัญหาใดสามารถแก้ปัญหาน้ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ได้ เราจึงเข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบปัญหาใน 6 พื้นที่ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม อย่างปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลากที่บ้านลิ่มทอง จังหวัดบุรีรัมย์, ชุมชนบึงชำอ้อ จังหวัดปทุมธานี และชุมชนบางเคียน จังหวัดนครสวรรค์ จะแก้ปัญหาด้วยการทำแก้มลิง ทำคลองส่งน้ำ ถนนน้ำเดิน ซ่อมแซมบ่อน้ำ และประตูระบายน้ำ ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า และลดการใช้น้ำ”

ส่วนปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมเช่นที่ พื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบ้านแม่ตาลน้อย จังหวัดลำปาง แก้ปัญหาด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วย ลำธาร ที่บริเวณที่เป็นต้นน้ำ และกักเก็บตะกอนดิน ทรายไว้ ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไป ป่าต้นน้ำมีความอุดมสมบูรณ์
ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคเช่นที่ ชุมชนบ้านท่าสวรรค์ และบ้านโนนข่า จังหวัดขอนแก่น จะแก้ปัญหาด้วยการทำระบบประปาแสงอาทิตย์เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร
“วันเพ็ญไ บอกว่า ปัจจุบันแม้กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย จะสามารถคืนน้ำกลับสู่ชุมชน และธรรมชาติได้เกินกว่าเป้าหมายแล้ว เรายังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้า โครงการรักน้ำ ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน และพันธมิตรในโครงการต่อไป เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนา จัดการ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
“เราจะกระตุ้นและส่งเสริมให้ชุมชนอื่นๆ นำองค์ความรู้ และตัวอย่างของชุมชนภายใต้โครงการรักน้ำ มาเป็นตัวอย่างในการทำงาน ด้วยการลงมือทำจริง ซึ่งหากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันบริหารจัดการน้ำในท้องถิ่นของตนเอง ปัญหาเหล่านี้ย่อมจะบรรเทา”
อีกทั้งการขยายช่องทางผ่าน Youtube, Facebook และเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค โดยเน้นการให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ จนทำให้ผู้บริโภคและคนทั่วไปเห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำในอีกทางหนึ่งด้วย

นับเป็นการสร้างคุณค่าร่วมผ่านการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ